ข่าวการเงิน

อยาก “รวย” อย่า “เล่นหวย” เคล็ด(ไม่)ลับ "ซีอีโอ" ระดับโลก



เปิดแนวคิดการลงทุนของเหล่าซีอีโอและนักลงทุนดังระดับโลก เช่น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่เผยว่าถ้าอยากรวยต้องลงทุนไม่ใช่ “เล่นหวย” จากปากคำของ เทรย์ ล็อกเกอร์บี พิธีกรพอดแคสต์ชื่อดัง พร้อมเผยแนวคิดที่มหาเศรษฐีทั่วโลกใช้ในการดำเนินชีวิต

เทรย์ ล็อกเกอร์บี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Better Booch เครื่องดื่มคอมบูชา กล่าวถึงประสบการณ์และแนวคิดที่เขาได้เรียนรู้จากการเป็นพิธีกรพอดแคสต์ “We Study Billionaires” รายการสัมภาษณ์นักลงทุนและซีอีโอชื่อดังหลายคน ซึ่งทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า เหล่ามหาเศรษฐีไม่ได้หวังที่จะรวยจากการเล่นหวย หรือ ลอตเตอรี่ รวมถึงไม่ได้หวังรวยทางลัดการจากเสี่ยงโชค โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากนำเอาเงินที่ใช้ในการซื้อลอตเตอรี่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แล้วไปลงทุนในบัญชีเงินเกษียณส่วนบุคคล หรือ IRA (Individual Retirement Account) กองทุน ตลาดหุ้น และตราสารหนี้ จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีโอกาสที่ทำให้คุณกลายเป็นมหาเศรษฐีได้มากกว่า

ยิ่งคุณเสียเงินไปกับลอตเตอรี่มากเท่าไร โอกาสที่คุณจะเป็นเศรษฐีก็น้อยลงเท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีเหล่ามหาเศรษฐี ซีอีโอ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารระดับสูงเคยถูกรางวัลลอตเตอรี่เลย

ตามรายงานเมื่อปี 2559 จากสำนักข่าว Vox ระบุว่า กลุ่มผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่มักจะเป็นคนที่มีรายได้รายปีระหว่าง 25,00-80,000 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้ที่มีรายได้รายปีมากกว่า 200,000 ดอลลาร์ขึ้นไปแทบจะไม่เล่นหวยเลย อีกทั้งยังระบุว่า ในแถวชานเมืองของรัฐคอนเนตทิคัตที่เป็นพื้นที่ยากจน มักจะมีอัตราการถูกรางวัลบ่อยที่สุด ซึ่งสะท้อนได้ว่าคนเหล่านี้นิยมเล่นหวย

ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจาก The Insured Retirement Institute ร่วมกับ Center for Generational Kinetics พบว่า 15% ของชาวมิลเลนเนียลยอมรับว่า พวกเขาลอตเตอรี่เป็นวิธีหนึ่งในการหาเงินไว้ใช้หลังเกษียณของพวกเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลมีความกังวลกับการวางแผนออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยมองว่าลอตเตอรีเป็นอีกความหวังหนึ่ง ทั้งที่อาจจะเป็นการลงทุนที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนเลยก็ตาม

นอกจากนี้ ล็อกเกอร์บีได้สรุปแนวคิด 3 ข้อ ที่เหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลกใช้ในการดำเนินสู่เส้นทางแห่งความมั่งคั่งไว้ดังนี้

  •  ไม่ทำตามความกลัวหรือแรงกระตุ้นจากภายนอก

ล็อกเกอร์บีได้สัมภาษณ์ โฮเวิร์ด มาร์กส มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลก เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2550 - 2552 ตลอดจนช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 

มาร์กส ระบุว่า แทนที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยความกลัว แต่เขาเลือกที่จะมุ่งเน้นที่การค้นหาข้อมูลและมองหาโอกาสที่เป็นไปได้ มากกว่าที่จะพิจารณาถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น วิธีการนี้ทำให้สามารถล้างหนี้สินช่วงวิกฤติทางการเงินปี 2551 และยังทำให้เหล่านักลงทุนของ Oaktree ได้รับผลกำไรประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น เมื่อคุณกำลังพบว่าตนเองประสบปัญหาหรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ มหาเศรษฐีคนนี้แนะนำให้ “ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ตั้งสติและค่อย ๆ มองหาหาวิธีที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”

  •  อดทนและมองการณ์ไกล

หนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานและซีอีโอของ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติ กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การลงทุนของเขาประสบความสำเร็จ คือ เลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ในอนาคตอีกหลายทศวรรษ ไม่ว่าราคาหุ้นในตอนนั้นจะสูงขนาดใดก็ตาม

มหาเศรษฐีหลายคนชื่นชมทั้งแนวทางของบัฟเฟตต์และระยะเวลาที่สื่อถึงความอดทนเป็นอย่างมาก ในการพบกันของ ไบรอัน เชสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb กับ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Amazon และมหาเศรษฐีนักลงทุนอย่าง บัฟเฟตต์ 

ในครั้งนั้น เบซอสถามบัฟเฟตต์ว่าทำไมถึงไม่มีใครสนใจลงทุนแบบวิธีของเขาทั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า บัฟเฟตต์ตอบว่า “เพราะไม่มีใครอยากรวยช้าไงละ”

  •  ปฏิเสธมากกว่าที่จะตอบตกลง

ส่วนแนวคิดของ เดวิด รูเบนสไตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Carlyle Group บริษัทหุ้นนอกตลาด อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการในอีกหลายบริษัท พร้อมทั้งเป็นนักเขียนและพิธีกรในรายการโทรทัศน์อีกด้วย ล็อกเกอร์บีถามว่า รูเบนสไตน์มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้มีเวลาในการทำงานได้มากขนาดนี้ เขายอมรับว่าเขาหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลา ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกอล์ฟ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การดูเน็ตฟลิกซ์

ขณะที่ เจซซี อิตซ์เลอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Marquis Jet บริษัทเช่าเครื่องบินเจ็ทที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งเป็นหุ้นส่วนของ Zico ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำมันมะพร้าว เขาเห็นด้วยรูเบนสไตน์ว่าต้องปฏิเสธให้เป็น

“ช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นช่วงที่ดีในการตอบตกลงทุกอย่าง เพื่อสร้างเครือข่าย เปิดรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะเข้ามา แต่เมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปีขึ้นไป คุณต้องรู้จักการปฏิเสธและจัดการกับเวลาของคุณได้อย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ อิตซ์เลอร์ยังเผยเคล็ดลับในการปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า “เพื่อให้เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป คุณควรจะเลี้ยงอาหารเขาสักมื้อ หรือมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ถึงแม้จะปฏิเสธข้อเสนอของเขาแต่ก็ยังต้องเก็บคอนเน็คชันเอาไว้”

ที่มา: CNBC,
New York Times

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1037812
X