ประกันภัย

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ประกันวินาศภัยปี’66 เบี้ยฟื้นแตะ 2.8 แสนล้าน โต 4-5%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 เบี้ยรับฟื้นตัวแตะ 2.85-2.88 แสนล้านบาท เติบโต 4-5% แต่ยังมีแรงสะเทือนจากการรับประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ


วันที่ 4 เมษายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี2566 เบี้ยประกันภัยรับตรงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาลดลง ทั้งจากจำนวนบริษัทประกันลดลงและต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการเอาประกันภัยต่อที่สูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 จะอยู่ที่ 285,000-288,000 ล้านบาท จะเติบโตได้ต่อเนื่องที่ระดับ 4-5% จากปีก่อน โดยคาดการณ์เบี้ยประกันภัยแต่ละประเภท และอัตราการเติบโตเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนี้


●  เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 165,500-166,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8-7.5%

●  เบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 103,000-104,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5-2%

●  เบี้ยประกันอัคคีภัย 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1-1.5%

●  เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 6,500-6,800 ล้านบาท ลดลง 3-7%


ทั้งนี้เบี้ยรับที่เป็นตัวนำในการสนับสนุนการเติบโตของภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้มาจากการรับประกันภัยรถยนต์เป็นหลัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเบี้ยรับตรงจากการรับประกันภัยรถในปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อนที่ 6.8-7.5% ตามผลบวกด้านยอดขายรถใหม่ การท่องเที่ยวและการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีผลของอัตราเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่ลดลง


ต้นทุนการรับประกันที่สูงขึ้นตามอัตราการทำประกันภัยต่อ รวมถึงประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตราเบี้ยประกันเฉลี่ยสูงกว่ารถทั่วไปในประเภทเดียวกันประมาณ 20% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนจากตลาดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งในมุมปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในหลัก 10,000 คัน (เทียบกับจำนวนการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจที่มีกว่า 11 ล้านคันต่อปี)


และข้อมูลสถิติการเคลมสินไหมยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความเสียหายของแบตเตอรี่จากอุบัติเหตุทั่วไปที่อาจถึงขั้นคืนทุน ประกอบกับจำนวนผู้ให้บริการที่ยีงมีน้อย อย่างไรก็ดีในช่วงปลายปีนี้คงมีความชัดเจนในเรื่องอัตราเบี้ยประกันและเงื่อนไขเฉพาะของการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่ออกสู่ตลาดและผู้ให้บริการประกันที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีความเหมาะสมและสามารถสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ดีขึ้น


สำหรับแรงดึงรั้งภาพรวมธุรกิจในปีนี้มาจากการรับประกันภัยทางทะเลและขนส่งที่รับผลกระทบจากทิศทางการส่งออกที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยด้านฐานที่สูง รวมถึงการประกันภัยสุขภาพที่บริษัทประกันต้องใช้ความรอบคอบในการรับประกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัญญาสุขภาพมาตรฐานใหม่มีเงื่อนไขไม่ให้ยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์ของลูกค้า ท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั้งจากวัย โรคภัย และค่าบริการทางสาธารณสุข


ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดจากการรับประกันภัยโควิดในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งมีค่าสินใหม่ทดแทนสูงเป็นอันดับสองที่ประมาณ 150,000 ล้านบาทรองจากเหตุมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่มีค่าสินใหม่กว่า400,000 ล้านบาท เป็นอีกบทเรียนสำคัญที่กระตุ้นเตือนภาคธุรกิจประกันภัยและหน่วยงานผู้กำกับดูแลให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงช่องว่างทางการตลาดในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ไม่มีฐานข้อมูลสถิติรองรับเพียงพอ


โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีขนาดทุนและสินทรัพย์ต่ำซึ่งแบบประกันโควิดประเภทเจอจ่ายจบเป็นภาพสะท้อนการดำเนินงานที่ก่อความเสี่ยงเชิงระบบ รวมทั้งบ่งชี้ให้เห็นจุดเปราะบางของการรับประกันภัยและการกำกับดูแล


ด้านอัตราการเคลมสินไหมจากการรับประกันภัยโควิดที่สูงกว่าเบี้ยประกันภัยรับไม่น้อยกว่า 5 เท่าตัวทำให้บริษัทประกันภัยปิดตัวลง 4 แห่ง และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 1 แห่ง ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัย มีเงินกองทุนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 6,178 ล้านบาท ต้องตกอยู่ในสถานะหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ เนื่องจากยังติดค้างการชำระบัญชีแก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ณ สิ้นปี 2565 อีกกว่า 6.7 แสนคำขอ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 54,500 ล้านบาท


โดยรายรับหลักของกองทุนที่มาจากเงินนำส่งของบริษัทประกันภัยต่อปีมีจำนวนเพียงหลักพันล้านบาท(อัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัยตามกฏหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 0.5% ของเบี้ยประกันภัยรับ) ดังนั้นกองทุนประกันวินาศภัยคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการฟื้นตัวผู้รักษาความสามารถเสมือนเป็นหลักประกันหรือกันชนให้เก็บผักประกันวินาศภัยและผู้เอาประกันภัย


ทั้งนี้ในปี 2565 อัตราความเสียหาย (Loss Ratio) รวมทุกประเภทการรับประกันภัยอยู่ที่ 88.51% จากเบี้ยรับรวม 274,216 ล้านบาท


สำหรับอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบในช่วงปี2563-2565 จากฐานข้อมูลสมาคมประกันวินาศภัยไทย ณ 26 ธ.ค.2565 พบว่ายังคงรักษาระดับค่าเฉลี่ยไว้ได้ที่ระดับประมาณ 440% อย่างไรก็ดีจากบทเรียนของการรับประกันภัยโควิดสะท้อนว่าไม่อาจพึ่งพิงระดับเงินกองทุนที่สูงได้โดยลำพัง แต่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการเปิดรับความเสี่ยงอย่างรัดกุมโดยสถานะเงินกองทุนของบริษัทสามารถพลิกกลับจากระดับเงินกองทุนสูงกว่า 400% เป็นติดลบ 400% ได้ภายในปีเดียว


“ ดังนั้นแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในมิติด้านเบี้ยประกันภัยโดยปัจจัยสนับสนุนจากความเข้าใจและความตื่นตัวระดับปัจเจกบุคคลที่เห็นความสำคัญของการทำประกันภัยเพื่อบรรเทาความเสี่ยง ขณะที่ความสามารถในการเป็นหลักประกันที่ดีที่เชื่อถือได้ของบริษัทประกันภัยควรเป็นประเด็นที่นำเสนอเพื่อสร้างการตระหนักรู้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาลงซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กับความมั่นคงของบริษัท


ขณะเดียวกันยังต้องติดตามบทบาทของผู้กำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ให้แก่กองทุนประกันวินาศภัย เพื่อให้สามารถจ่ายเงินสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัยโควิดแทนบริษัทประกันภัยที่ล้มละลายและปิดกิจการไป


นอกจากนี้ยังต้องติดตามกรอบมาตรการที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นชอบแบบประกันใหม่ ๆ ให้อยู่ภายใต้การประเมินความเสี่ยงที่รอบคอบและคำนึงถึงความสามารถในการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท


ทั้งนี้เพื่อเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในระยะยาวและร่วมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการรับประกันภัยอันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งต่อผู้เอาประกันและความยั่งยืนของบริษัทประกันภัย”


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-1254025

X