ประกันภัย

เงินค้างท่อรอจ่ายเจ้าหนี้โควิด 1,800 ล้าน กองทุนประกันฯ วอนรีบมารับคืน


เงินค้างท่อรอจ่ายเจ้าหนี้โควิด 1,800 ล้านบาท จาก 4 บริษัท ปิดตัวเจ๊งเคลมโควิด “กองทุนประกันวินาศภัย” วอนรีบมารับคืน เปิดแผน 3 ปี เดินหน้าหาเงินจ่ายเจ้าหนี้ “กู้เงินหมื่นล้าน-ระดมทุนออกบอนด์ 3 หมื่นล้าน-ประสานรัฐสนับสนุนเงิน-เสนอบอร์ด คปภ.ปรับโครงสร้างหนี้-แก้กฎหมายเพิ่มเงินสมทบรองรับวิกฤต” เปิดตัวไลน์ @GIFSMART เพิ่มความสะดวก ยืนยันสิทธิรับเงิน จ่ายภายใน 60 วัน

วันที่ 9 สิงหาคม 2566 นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิกถอนใบอนุญาต 4 บริษัทประกันวินาศภัย จากปัญหาขาดทุนจากการจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด ประกอบด้วย 1. เอเชียประกันภัย 1950 2. เดอะวันประกันภัย 3. อาคเนย์ประกันภัย และ 4. ไทยประกันภัย

กองทุนในฐานะผู้ชำระบัญชี พิจารณาคำทวงหนี้ และต้องจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้น จากมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยของ 4 บริษัท ที่ปิดตัวไป มีอยู่ทั้งหมด 54,000 ล้านบาท จำนวน 690,000 ราย


ชนะพล มหาวงษ์

ขณะนี้กองทุนได้ทยอยจ่ายหนี้ไปได้ราว 6,000 รายต่อเดือน คิดเป็นวงเงินประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยบริษัทเอเชียประกันภัย 1950 และบริษัทเดอะวันประกันภัย ได้เริ่มดำเนินการพิจารณาคำทวงหนี้และอนุมัติจ่ายเงินมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่วนบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565

เงินค้างท่อ 1,800 ล้าน

กองทุนได้พิจารณาคำทวงหนี้ของบริษัทเอเชียประกันภัย 1950 ไปแล้วกว่า 16,000 ราย บริษัทเดอะวันประกันภัย จำนวน 15,000 ราย บริษัทไทยประกันภัย จำนวน 12,000 ราย ส่วนบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 18,000-20,000 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนคำทวงหนี้ที่ยื่นเข้ามาค่อนข้างมากในแต่ละเดือน จึงมีการอนุมัติสูงกว่าบริษัทอื่น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบว่ามีเงินค้างท่อรอการจ่ายคืนเจ้าหนี้อยู่กว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุจากการไม่ได้รับจดหมาย หรือยังไม่ได้เข้ามายืนยันสิทธิ

เปิดแผน 3 ปี กองทุนประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ สำหรับแผนงานของกองทุนในปี 2566 คาดว่าจะใช้เงินจ่ายหนี้เป็นไปตามแผน หรือประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายเงินออกไปหมดหน้าตักของกองทุนที่มีอยู่

จึงได้มีการวางแผนงานสำหรับปี 2567-2569 คือ 

1.ได้ปรับเงินสมทบเข้ากองทุน จากเดิม 0.25% เป็น 0.5% ของเบี้ยรับในแต่ละไตรมาสจากบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งบอร์ด คปภ.ได้อนุมัติให้เรียบร้อยแล้ว ทำให้รายได้กองทุนจะขยับจาก 600 ล้านบาทต่อปี เป็น 1,300 ล้านบาทต่อปี

2. กองทุนกำลังจะประสานส่งแผนกู้เงินกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อนำมาจ่ายหนี้ คาดว่าปี 2567 ตามฐานรายได้ของกองทุน น่าจะกู้เงินได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้เจรจาดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ธนาคาร เหลืออีก 1 ธนาคาร โดยมีหลักประกันคือ 1.ความเป็นหน่วยงานของรัฐ 2.มีกฎหมายกำหนดเรื่องรายได้ชัดเจน 3.มีระเบียบวินัยการเงินการคลังที่ชัดเจนมาก

3. กำลังประสานงานขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินตามเงื่อนไขกฎหมาย ซึ่งต้องรอว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นใคร 

4. กองทุนจะออกตราสารทางการเงิน วงเงิน 2-3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้าช่วยซื้อ และสามารถนำไปดำรงเป็นเงินกองทุนได้ โดยจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขรองรับตรงนี้

5. เสนอบอร์ด คปภ.ขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่หลักเกณฑ์/วิธีการรองรับ แต่คงจะต้องไปหารือกันต่อไป เนื่องจากมีการพูดคุยกับเจ้าหนี้บางรายที่มาขอรับชำระหนี้ มี 4 กรมธรรม์ กรมธรรม์ละ 100,000 บาท เขาก็ได้มีการเสนอว่าจะขอคืนแค่ครึ่งเดียวมีความเป็นไปได้ไหม ขอให้รัฐจ่ายคืนแค่ 2 แสนบาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องจ่ายภายใน 1 เดือน เป็นต้น

“แนวทางนี้ถ้าทำได้จริง กองทุนต้องเตรียมการสภาพคล่องให้เพียงพอในการจ่ายหนี้คืน เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

6. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพิ่มอัตราเงินสมทบ จากระดับ 0.5% ขยับเป็น 2% เพื่อเพิ่มรายได้ให้กองทุน ขยับเป็น 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยเป็นฐานรายได้ของกองทุนสูงขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการกู้เงินกับธนาคาร แต่ทั้งนี้เป็นเงื่อนไขบังคับชั่วคราว เพื่อรองรับสำหรับยามวิกฤต

เปิดตัวไลน์ @GIFSMART

ล่าสุดกองทุนได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น LINE Official Account “@GIFSMART” เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและสามารถติดตามสถานะการยื่นขอคำร้องขอรับชำระหนี้ สามารถยืนยันตัวตนตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลทะเบียนราษฎร มีแจ้งเตือนสถานะของคำทวงหนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานะคำขอ

และเจ้าหนี้สามารถยืนยันสิทธิรับเงินผ่านไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นเอกสารด้วยตนเอง เมื่อทำการเพิ่มเพื่อนเข้ามาในไลน์ @GIFSMART แล้วจะเป็นการเริ่มทำการลงทะเบียน ระบบจะขอให้ถ่ายรูปหน้า-หลังบัตรประชาชน และถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชน เพื่อนำส่งข้อมูลไปตรวจสอบความถูกต้องกับกรมการปกครองต่อไป

แต่เมื่อข้อมูลถูกพิสูจน์แล้วว่าผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของบัตรประชาชนจริง จึงจะอนุญาตให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิรับเงินได้ ในกรณีที่คำขอของบุคคลนั้นได้รับการอนุมัติจ่ายเงินแล้ว

กองทุนจะให้เลือกรับเงินผ่านพร้อมเพย์ตามหมายเลขบัตรประชาชน และผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งต้องแนบหน้าสมุดบัญชีมาให้กองทุน โดยกองทุนจะโอนเงินให้เจ้าหนี้ภายใน 60 วันทำการ

“เราได้พัฒนาช่องทางแอปพลิเคชั่นไลน์เสร็จเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับประชาชนรับทราบถึงสิทธิและขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมกับเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัย หลังจากบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว”

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1366686
X