ข่าวการเงิน

หุ้นกู้ VS พันธบัตร คืออะไร ต่างกันอย่างไร ?


ทำความเข้าใจ หุ้นกู้ VS พันธบัตร คืออะไร ต่างกันอย่างไร ?


วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นอย่างที่ทราบกันดีในยุคที่ดอกเป็นขาขึ้นการฝากเงินไว้กับธนาคารหรือการถือเงินสดไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์อีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่ตอบโจทย์มากขึ้นในปัจจุบันคือลงทุนใน “หุ้นกู้” และ “พันธบัตร” ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

แต่คำถามที่ตามมาก็คือแล้ว “หุ้นกู้” และ “พันธบัตร” คืออะไร ลักษณะของผลตอบแทนเป็นอย่างไรและมีความแตกต่างกันอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลมาให้วันนี้

หุ้นกู้ คืออะไร ?

หุ้นกู้ คือ “ตราสารหนี้” ที่ออกโดยบริษัทภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น เพื่อลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น

หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วย ๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท

เมื่อซื้อหุ้นกู้ ก็หมายความว่าเราให้เงินกู้กับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ หรืออาจจะแปลได้ในอีกความหมายก็คือ เราจะอยู่ในสถานะของ “เจ้าหนี้” และบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้” ของเรา โดยที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นให้คำสัญญาว่า จะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุ

ความนิยมของหุ้นกู้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ รายมีการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้อย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแต่ละบริษัทสามารถออกหุ้นกู้ได้หลาย ๆ รุ่น และต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งมือสมัครเล่นและนักลงทุนมืออาชีพมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากหุ้นกู้ของบางบริษัทมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงและน่าสนใจ

ประเภทของหุ้นกู้

หุ้นกู้ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่หากผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น
  • หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่หากผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
  • หุ้นกู้แปลงสภาพ  คือ หุ้นกู้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ที่ถืออยู่ สถานะของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ
  • หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้ นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิในสินทรัพย์ที่วางค้ำประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ
  • หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้ ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วนที่ถือ

ลักษณะผลตอบแทน

โดยทั่วไปแล้วหุ้นกู้จะจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลตอบแทนปีละ 2 ครั้งหรือทุก ๆ 6 เดือน แต่สำหรับหุ้นกู้บางรุ่น อาจจ่ายปีละ 4 ครั้งหรือทุก ๆ 3 เดือนก็ได้ และดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ

พันธบัตร คืออะไร ?

“พันธบัตร” หรือ “ตราสารหนี้รัฐบาล” เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ซื้อหรือนักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ที่จะได้รับการชำระหนี้ และผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย จากลูกหนี้ คือ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่ออกพันธบัตรนั้น ๆ

ความนิยมของพันธบัตร

พันธบัตรรัฐบาล เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หรือการลงทุนในตลาดหุ้น ที่มีความผันผวนสูงกว่า ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้มีการเสนอขายพันธบัตรให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในพันธบัตรจะน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคง รับความเสี่ยงได้น้อย การลงทุนในพันธบัตรถือว่าตอบโจทย์ ทำให้นักลงทุนต่างก็ให้ความสนใจอย่างมากเช่นกัน

ประเภทของพันธบัตร

  • พันธบัตรตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เป็นพันธบัตรที่มีความมั่นคงสูงสุด เพราะออกโดยกระทรวงการคลัง จึงมีความเสี่ยงน้อย แต่ผลตอบแทนต่ำ ตั๋วเงินคลังไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ใช้วิธีขายต่ำกว่าเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน โดยระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี
  • พันธบัตรตั๋วสัญญาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructure Bill) เป็นพันธบัตรที่ออกโดยสถาบันการเงิน เพื่อระดมทุนช่วยเหลือฟื้นฟูกองทุน และพัฒนาสถาบันการเงิน มีความเสี่ยงมากกว่าตั๋วเงินคลัง ให้ผลตอบแทนด้วยวิธีขายต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว แต่ไถ่ถอนคืนเต็มราคา และไม่ได้รับดอกเบี้ย ไถ่ถอนได้ภายใน 6 เดือน
  • พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับพันธบัตรประเภทนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลเพื่อระดมทุนไปใช้ในการบริหารประเทศ ลดการขาดดุลทางการเงิน ถือเป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุมากกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่อยู่ที่ 3-7 ปี มีการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
  • พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Saving Bond) เป็นการซื้อพันธบัตรเพื่อออมทรัพย์ โดยจะขายให้กับบุคคลทั่วไปและองค์กรไม่แสวงหากำไรในสังกัดของรัฐบาล มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง

ลักษณะผลตอบแทน

ผู้ที่ลงทุนในพันธบัตร จะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากำหนด ระยะเวลาลงทุนไม่นานมาก เช่น 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี และ 7 ปี โดยในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีการกำหนดว่า ในการลงทุนในพันธบัตรนั้น ๆ จะได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ต่อปี เช่น 2% ต่อปี และมีระยะเวลาลงทุนเท่าไหร่ เช่น 1 ปี 5 ปี และ 10 ปี โดยที่ถ้าเป็นพันธบัตรระยะสั้นจะได้ผลตอบแทนต่ำ และหากเป็นพันธบัตรระยะยาว ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

หุ้นกู้ VS พันธบัตร ต่างกันอย่างไร

สิ่งที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างหุ้นกู้ และพันธบัตร ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ หุ้นกู้ จะออกโดยบริษัทเอกชน ส่วนพันธบัตร จะออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้หุ้นกู้มักจะมีความเสี่ยงที่สูงมากกว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรนั้น แสดงว่าหุ้นกู้ก็จะให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยที่มากกว่า ส่วนพันธบัตรจะให้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า

แต่ทั้งสองแบบจะจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยคืนแก่ผู้ลงทุนตามกำหนดที่แน่นอน เมื่อครบอายุตามหน้าสัญญาเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังสำหรับการลงทุนทั้งในหุ้นกู้ และพันธบัตร คือเงินที่นำมาลงทุนควรเป็นเงินเย็น และแน่ใจว่าจะไม่ถอนเงินหรือใช้เงินก้อนนี้ตลอดอายุสัญญา เพราะหากต้องการขายออกก่อนกำหนด นักลงทุนจะต้องขายผ่านตลาดรอง ซึ่งจะถูกกดราคา ทำให้ขายได้เงินน้อยกว่าเงินที่ลงทุนไป

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
X