ข่าวการเงิน

ลงทุนเพื่อการเกษียณ เริ่มได้ ไม่รอ ไม่ง้อตัวช่วย


โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth 24Hrs

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการลงทุนในปีนี้แล้วนะครับ ใครที่ยังจัดพอร์ตไม่ลงตัว ละล้าละลัง เพราะตัดสินใจไม่ถูกหรือรอหาจังหวะลงทุน จนเสียเวลาไปโดยใช่เหตุครับ บางคนขอรอดูฤกษ์ดีค่อยเข้าลงทุน เพื่อหวังให้พอร์ตเฮงๆ รวยๆ รองรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างชิลๆ

เริ่มต้นวางแผนการเงิน ‘ฤกษ์ดี คือ เลิกรอ’ ยิ่งลงทุนช้า เสียโอกาสได้กำไร

เพราะ ‘การวางแผนการเงิน’ เป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าอยากมีชีวิตที่มั่นคงในอนาคต ทุกวันนี้ มีเครื่องมือรองรับการวางแผนทางการเงินมากมายไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือกองทุนรวม ในแต่ละทางเลือกล้วนเป็นสิ่งที่คุณควรทำความเข้าใจ เพราะนอกจากจะทำให้ชีวิตคุณมีหลักประกันด้านการเงินที่มั่นคงแล้ว ยังช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะมีเงินพอใช้ในยามเกษียณอายุด้วย


นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะหมดปีเก่า 2565 แล้วนะครับ หากใครที่มัวแต่หาจังหวะลงทุน ลังเล และไม่ตัดสินใจซักที นั่นแปลว่าคุณกำลังปล่อยเวลาทิ้งไปอย่างน่าเสียดายครับ สำหรับผมแล้ว ‘ฤกษ์ดี คือ เลิกรอ’ ครับ

เพราะทุกนาทีที่คุณยังลังเลล้วนมีต้นทุนค่าเสียโอกาส หากคุณอยากรู้ว่า คุณเสียโอกาส จริงหรือไม่?

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ จากตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ดัชนี SET 50 ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2565 ปรับตัวขึ้นมา +0.31% สวนตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกที่ดัชนีไหลลง โดยดัชนี MSCI World ลดลง -15.81% ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามลงหนักสุด ดัชนี VNI -30.03% ตามด้วยดัชนี NASDAQ ติดลบ 26.7% และตลาดหุ้นจีน ดัชนี CSI300 -22.01%

ใครที่มาลงทุนตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปี คุณจะต้องซื้อในราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว เพราะคุณไม่ได้ทยอยลงทุนตั้งแต่ต้นปี ก็ถือว่า ได้เสียโอกาสทำกำไรจากตลาดหุ้นไทยไปแล้วครับ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเริ่มลงทุนในวันนี้ก็ยังไม่สายครับ เพราะวันข้างหน้าไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือตลาดหุ้นจะไปแรงหรือลงแรง แต่การจัดพอร์ตให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญกว่า

เพราะฉะนั้น การวางแผนลงทุนจัดพอร์ตของคุณแบบ ‘ฉลาดเลือก’ จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายสร้างพอร์ตเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ครับ

เงินต่อเงิน ค้นหาทางเลือก ‘จัดพอร์ต’ ที่ใช่สำหรับคุณ

และหนึ่งในการวางแผนลงทุนที่คุณต้องใส่ใจ คือ เมื่อกองทุน LTF ที่ถืออยู่และครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว เงินก้อนนี้ ควรทำอย่างไรต่อดี ผมมีคำตอบให้ครับ

ที่ผ่านมาคุณลงทุนกองทุน LTF นอกจากหวังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ก็ยังทำให้คุณมีเงินเก็บเป็นก้อนสะสม และเพื่อสร้างความมั่งคั่งต่อไปในระยะยาว ผมแนะนำให้เดินหน้า ‘เงินต่อเงิน’ ครับ

ช่องทางทำเงินลงทุนก้อนนี้ให้งอกเงยต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไปได้ ซึ่งมี 2 แนวทางหลัก คือ

แนวทางแรก หากคุณยังมั่นใจในสินทรัพย์เดิมที่ลงทุน ก็สามารถลงทุนต่อไปได้ครับ

แนวทางที่สอง ถ้าต้องการหาสินทรัพย์ใหม่ๆ หวังเพิ่มโอกาสบริหารความมั่งคั่งได้ดีขึ้น คุณก็ขาย LTF ที่ครบกำหนด และหาสินทรัพย์อื่นๆ ลงทุนต่อ หรือ Reinvestment ซึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็มีทางเลือกลงทุนรูปแบบต่างๆ ให้ลูกค้า ได้แก่

รูปแบบกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งมีให้เลือกลงทุนที่หลากหลายและเป็นการลงทุนระยะยาวขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ. จะให้บริการ อย่างผมมีจัดทางเลือกให้ลูกค้าที่หลากหลาย มีทั้งกองทุน ETF ที่ให้เลือกลงทุนได้ทั้งลงทุนตราสารหนี้ Thematic จะลงทุนตัวหุ้นก็ มี Jitta Ranking ให้เข้ามาเลือกช้อปกันครับ

หรือจะเป็นรูปแบบกองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนให้เลือกมากมายหลากหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ก็มีกองทุน SSF กองทุน RMF หรือจะลงทุนตรงในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือบางคนอยากเอามาโปะหนี้ก้อนโต ก็สามารถทำได้ เมื่อชีวิตปลดหนี้แล้วก็อย่าลืมกลับมาเริ่มสะสมอีกครั้ง

ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการวางแผนชีวิตของตัวคุณเอง

มีอีกคำถามที่น่าสนใจมากๆ คือ ระหว่างลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีและกองทุนส่วนบุคคล การลงทุนไหนมีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน?

ผมเลยหาคำตอบมาให้ครับ ทีมงาน Jitta Wealth ได้เปรียบเทียบกับการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนอิงดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่าง SET Total Return Index (SET TRI) กับแผนลงทุน Jitta Ranking หุ้นไทยว่า มีรายละเอียดการลงทุนที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุน SSF และนโยบาย Jitta Ranking มีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขและคุณสมบัติพิเศษที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

กองทุน SSF จะมีสิทธิพิเศษมากกว่ากองทุนรวมทั่วไป เพราะกรมสรรพากรให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF ในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ และค่าลดหย่อนภาษีส่วนการลงทุนแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุน SSF มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย มีสินทรัพย์เกือบทุกประเภทให้เลือกลงทุน ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีเต็ม (นับแบบวันชนวัน) หากไถ่ถอนก่อนครบกำหนด คุณจะต้องจ่ายภาษีที่ได้ลดหย่อนไปคืนให้กับรัฐ แต่คุณไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีต่อเนื่องทุกปีก็ได้

ส่วนนโยบาย Jitta Ranking ของ Jitta Wealth เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่ใช้ AI คัดสรรหุ้นรายตัว เน้นเฟ้นหา ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม มีโอกาสการเติบโต’ ตามหลักการของนักลงทุนในตำนานโลก ‘Warren Buffett’ มาจัดพอร์ต พร้อมปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติทุก 3 เดือน หากพอร์ตได้รับเงินปันผล ระบบอัลกอริทึมก็จะนำเงินปันผลกลับไปลงทุนในหุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สูงๆ ทั้งหุ้นในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไป โดยลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไปเพื่อสร้างโอกาสทำผลตอบแทนให้ดีที่สุด

ผมขอย้ำว่า ทั้ง 2 กองทุนเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนระยะยาว สำหรับกองทุน SSF คุณต้องมีเป้าหมายการลงทุนอย่างน้อย 10 ปีและต้องการลดหย่อนภาษี แต่สำหรับ Jitta Ranking จะเป็นการลงทุนที่ยืดหยุ่นกว่า เพราะคุณสามารถเพิ่มหรือถอนทุนได้ตามต้องการ แม้จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีก็ตาม คุณน่าจะพอเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างของการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบแล้ว

มาดูประเด็นไฮไลท์ว่า ระหว่าง 2 กองทุนนี้ ‘แบบไหนที่จะสร้างผลตอบแทนมากที่สุด?’ โดยทีมงานผมได้ทำแบบจำลองการลงทุนย้อนหลัง 10 ปีขึ้นมา 3 กรณี ถ้าลงทุนแบบเดียวกันเป๊ะในทั้ง 2 กองทุน ทางเลือกไหนจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากันเมื่อผ่านไป 10 ปี

กรณีที่ 1

สมมติให้นาย A และนาย B มีสถานะโสด มีเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท และสมมติให้ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามปกติและไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ส่วนนาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกันและมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน

สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี คือ SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET Total Return Index (SET TRI) เพื่อลดหย่อนภาษีด้วยเงิน 180,000 บาท (คำนวณตามสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งปี) และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 320,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 15,550 บาทมาลงทุนในกองทุน SSF กองเดิมในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนอีกเลยใน 10 ปี ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 515,550 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท

เวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,133,553.93 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต Jitta Ranking หุ้นไทยอยู่ที่ 2,508,634.93 บาท คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,375,081 บาท

กรณีที่ 2

สมมติให้นาย A และนาย B สถานะโสด มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 100,000 บาทและไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามอัตราปกติ และไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ขณะที่นาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกัน และมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน

สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเงิน 200,000 บาท (เม็ดเงินลงทุนได้ไม่เกิน 200,000 บาท) และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 300,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 41,550 บาทมาลงทุนในกองทุน SSF กองเดิมต่อในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนเลย ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 541,550 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,174,619 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต 2,508,634.93 บาท จากการลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,334,015.93 บาท

กรณีที่ 3

สมมติให้นาย A และนาย B สถานะโสด มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 150,000 บาทและไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามอัตราปกติ และไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ขณะที่นาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกัน และมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน

สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเงิน 200,000 บาท และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 300,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 50,000 บาทมาลงทุนซ้ำในกองทุน SSF กองเดิมต่อในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนเลย ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 550,000 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,187,965.15 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต 2,508,634.93 บาท จากการลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,320,669.78 บาท

จากทั้ง 3 ตัวอย่าง ไม่ว่าระดับเงินเดือนของคุณจะเป็น 50,000 บาท 100,000 บาท 150,000 บาท การลงทุนในแผน Jitta Ranking ล้วนทำผลตอบแทนชนะกองทุน SSF ได้ประมาณ 1 เท่าตัวทั้งนั้น

แน่นอนว่า การลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี ข้อดี คือ ช่วยลดหย่อนภาษีที่คุณต้องจ่ายในแต่ละปี แต่ถ้าคุณต้องลดหย่อนภาษีทุกปี คุณก็ต้องลงทุน SSF ทุกปีด้วยเช่นกัน และห้ามถอนเงินลงทุนแต่ละก้อนอย่างน้อย 10 ปีด้วย ซึ่งถ้าคุณอยากมีวินัยในการออม กองทุน SSF ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีครับ

ส่วนนโยบายแผน Jitta Ranking ก็มีหลากหลายแผนให้คุณเลือกทั้งประเทศ อุตสาหกรรมที่สนใจ โดยมีกระบวนการ AI ดำเนินการให้ตามที่กล่าวข้างต้น แม้ผมจะบอกว่า Jitta Ranking เหมาะสำหรับลงทุนระยะยาว 3-5 ปี แต่ว่าไม่มีการผูกมัดว่าต้องถืออย่างต่ำ 10 ปีเหมือนกองทุน SSF เพราะฉะนั้น คุณจะได้อิสระเพิ่มทุนหรือถอนทุนได้ตลอดเวลา พร้อมกับพิสูจน์ผลตอบแทนย้อนหลังแล้วว่า สามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า ดัชนี SET TRI ที่มีกรอบเวลาลงทุน 10 ปีด้วย

ตัวอย่างที่ยกมานี้

น่าจะพอทำให้คุณเข้าใจและตอบคำถามตัวเองได้ว่าการลงทุนแบบไหนจะตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของคุณมากกว่ากัน หรือหากคุณมีเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถวางแผนการเงินแบบจัดพอร์ตกระจายลงทุนให้บาลานซ์ ขอเพียง ‘ฉลาดเลือก’ ก็จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้คุณมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นได้ครับ  แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางลงทุนแบบไหน ผมขอให้คุณทำความเข้าใจให้มากๆ ก่อนเริ่มลงทุนนะครับ

เพราะยาที่ดีคือยาที่ตรงกับโรค แต่ถ้าคุณเลือกยาผิด ยาที่ดีก็กลายเป็นยาพิษได้ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เพราะการลงทุนที่ดีไม่ใช่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และเป้าหมายในชีวิตคุณด้วย

อย่าลืมนะครับ ลงทุนเร็ว ยิ่งมีอิสระทางการเงินที่เร็ว คุณก็จะมีโอกาสเกษียณได้เร็วครับ

ผมขอถือโอกาสนี้กล่าวอำลาปีเก่าปีเสือเผ่นที่กำลังผ่านไป และสวัสดีต้อนรับปีใหม่ที่ปีกระต่ายที่กำลังเข้ามา พร้อมกับความหวังอันเรืองรองที่รออยู่ในข้างหน้านะครับ

“ขอให้โชคดีมีความสุขกับการลงทุนในแบบฉบับที่ทำให้คุณนอนหลับอย่างสบายใจครับ”


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1157321
X