ประกันสังคม
ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท
ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีค่าจ้าง
15,000 บาทขึ้นไป ประมาณ 37%
วันที่ 25 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า
จากที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
ได้นำร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่
ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 1
ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย (LAW.co.th)
ช่วงวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2566 สรุปมีผู้ร่วมเสนอความเห็นทั้งนายจ้าง
และลูกจ้างรวม 55,584 คน โดยมีผู้เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 27
และไม่เห็นด้วยคิดเป็น 73
ทั้งนี้ การเปิดความคิดเห็นดังกล่าว
เป็นขั้นตอนหลังจากแนวทางการปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตรา
33 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อกลางปี 2565
คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาการกำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ แบบค่อยเป็นค่อยไป
หลังจากประเทศไทยไม่ได้ปรับมานานเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2538
ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นของการปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูง คือ
เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในการรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ปรับเท่าไหร่-เมื่อไหร่ ?
เงินสมทบมาตรา 33
คือที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในอัตราร้อยละ
5 โดยผู้ที่มีค่าจ้างเดือนละ 1,650 บาทขึ้นไปต้องจ่ายในอัตรา 5%
ของค่าจ้าง แต่มีเพดานคำนวนที่ค่าจ้าง 15,000 บาท ทั้งนี้
เพดานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณจะถูกปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3 ระยะ ดังนี้
● ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567-31 ธ.ค. 2569 ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 17,500 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 875 บาท
● ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2570-31 ธ.ค. 2572 ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 1,000 บาท
● ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 23,000 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 1,150 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท
จะไม่ได้รับผลกระทบจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เพราะจะได้จ่ายเงินสมทบ 5%
ของค่าจ้างตามจริง โดยระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีค่าจ้าง
15,000 บาทขึ้นไป ประมาณ 37%
ผู้ประกันตนรับประโยชน์เพิ่ม 6 กรณี
นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน
และโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
ถึงความคืบหน้าว่า
ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้รายงานผลความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ สปส.
เพื่อรับทราบแล้ว
“แต่มีข้อสังเกตว่าการที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
เพราะยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับเพิ่มขึ้นหลังจากการปรับเพดานค่าจ้าง”
ซึ่งการปรับเพดานเงินสมทบอัตราใหม่จะทำให้เกิดประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน ดังนี้
หนึ่ง เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน
ได้รับในอัตรา 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
ปัจจุบันได้รับที่ 7,500 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น
8,750 บาทต่อเดือน ช่วงปี 2570-2572 เป็น 10,000 บาทต่อเดือน และปี 2573
เป็น 11,500 บาทต่อเดือน
สอง เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 30,000 บาท
อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น 35,000 บาท ช่วงปี 2570-2572 เป็น
40,000 บาท และปี 2573 เป็น 46,000 บาท
สาม เงินบำนาญชราภาพ
ได้รับในอัตราไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยมี 2 อัตรา คือ
1. ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี (ครบ 180 เดือน) จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
2. ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบเกิน 15 ปี (เกิน 180 เดือน) จะได้รับบำนาญ
20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่จ่ายประกันสังคม +
อัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก 1.5% ต่อปีของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ
ตัวอย่าง หากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี เงินบำนาญชราภาพอัตราเดิมได้รับ 3,000
บาทต่อเดือน และหากส่งเงินสมทบครบ 25 ปี อัตราเดิมได้รับ 5,250 บาทต่อเดือน
อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 3,500 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 6,125 บาทต่อเดือน
ช่วงปี 2570-2572 ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 4,000 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 7,000 บาทต่อเดือน
ช่วงปี 2573 ทำงาน ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 4,600 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 8,050 บาทต่อเดือน
สี่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร
ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 22,500
บาทต่อครั้ง อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น 26,250 บาทต่อครั้ง, ช่วงปี
2570-2572 เป็น 30,000 บาทต่อครั้ง และปี 2573 เป็น 34,500 บาทต่อครั้ง
ห้า เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ
ได้รับในอัตรา 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่
7,500 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น 8,750 บาทต่อเดือน
ช่วงปี 2570-2572 เป็น 10,000 บาทต่อเดือน และปี 2573 เป็น 11,500
บาทต่อเดือน
หก เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย
ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 250
บาทต่อวัน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น 292 บาทต่อวัน, ช่วงปี
2570-2572 จะเป็น 333 บาทต่อวัน และปี 2573 เป็น 383 บาทต่อวัน
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/csr-hr/news-1272888
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024