ประกันภัย

นายกสมาคมประกันภัย ดันเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น


นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยคนใหม่ กางแผนทำงานช่วงวาระ 2 ปี ตั้งเป้าผลักดัน “ธุรกิจกำกับดูแลตัวเอง” ชง “เปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น” แก้ปมบริษัทหัวหมอแอบซ่อนค่าใช้จ่าย รวมถึงเสนอให้สมาคมกำกับการออก “กรมธรรม์ file & use” เอง พร้อมอาสาสร้างระบบ IBS เป็นฐานข้อมูลภาคธุรกิจประกัน


นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะที่ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมคนใหม่ มีวาระ 2 ปี (2566-2568)


ขณะนี้กำลังให้ทีมจัดทำแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยแนวทางเบื้องต้นต้องการผลักดันให้ธุรกิจประกันสามารถกำกับดูแลกันเองได้ (self-regulation)


ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ 1. เปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคม ส่วนสำนักงาน คปภ.ก็จะกำกับดูแลอีกที อย่างไรก็ดี แต่ละบริษัทประกันวินาศภัยจะต้องเปิดเผยรายละเอียดค่าคอมมิชชั่นออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน


ยกตัวอย่างเช่น ค่าคอมมิชชั่นประกันรถยนต์ที่ คปภ.กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 18% แต่หากบริษัทประกันรายใดอยากจ่ายค่าคอมมิชชั่นสูง ๆ เช่น 25% ก็จ่ายได้ แต่ต้องอธิบายได้ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างไร ไม่ใช่หลับหูหลับตาจ่ายค่าคอมมิชชั่น แล้วบริษัทเจ๊ง ทำให้ประชาชนผู้เอาประกันเดือดร้อน


“นี่คือตัวอย่างของ self-regulation ซึ่งสมาคมสามารถเข้าไปมอนิเตอร์บริษัทสมาชิกได้ ว่าใครทำอะไรที่ผิดหูผิดตามากเกินไป หรือเป็นการทำลายกันเองภายในธุรกิจ โดยแนวทางนี้จะทำให้ไม่ต้องแอบซ่อนค่าใช้จ่าย เพราะตอนนี้ คปภ.กำหนดให้จ่ายค่าคอมมิชชั่น 18% แต่บางบริษัทแอบจ่ายกัน 22-25%”


2. สมาคมสามารถกำกับดูแลการออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบอัตโนมัติ (file & use) ได้เอง เพื่อทำให้เป็น file & use อย่างแท้จริง หมายความว่า เมื่อมีโอกาสหรือเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น บริษัทประกันสามารถจะออกกรมธรรม์มาดูแลในเรื่องนั้นได้โดยเร็ว


แต่ทั้งนี้ ทุกบริษัทประกันจะต้องคำนวณอัตราเบี้ยประกัน ความเสี่ยง ค่าใช้จ่าย และผลกำไรขาดทุน ออกมาให้เห็นชัดเจน หลังจากนั้นจัดส่งข้อมูลให้ คปภ.พิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้เลย แต่หาก คปภ.พบว่าไม่เป็นธรรมก็บังคับให้ย้อนกลับมาใช้รูปแบบที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะลิมิตทำได้เฉพาะบางกลุ่มประเภทการประกันภัยเท่านั้น





สมพร สืบถวิลกุล


“คาดว่าเรื่องการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นและการดูแลการออกกรมธรรม์แบบ file & use น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการภายในปี 2566 เพราะยุคปัจจุบันต้องปล่อยให้สมาคม หรือภาคธุรกิจดูแลกันเองได้ระดับหนึ่งแล้ว”

นายสมพรกล่าวอีกว่า สมาคมและธุรกิจประกันภัย ยังต้องการผลักดันโครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System) เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง โดยสมาคมอาสาช่วยสร้างระบบ IBS แม้ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็ยินดี เพื่อพัฒนฐานข้อมูลให้เอามาใช้ประโยชน์ได้จริง

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า เกณฑ์การจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือการออกกรมธรรม์แบบ file & use ตามหลักการสามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นประกาศ คปภ. ไม่ใช่พระราชบัญญัติ

แต่หากจะเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นโดยไม่ควบคุม คงจะต้องสร้างกลไกป้องกันไม่ให้มีการจ่ายค่าใช้จ่ายโอเวอร์เกินไป เพราะจะกระทบต่อธุรกิจ ความคุ้มครอง หรือความมั่นคงของบริษัทได้

“คปภ.ไม่ได้ติดขัดจะผ่อนปรนเรื่องพวกนี้ แต่ต้องคุยเรื่องกลไกก่อน และต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตบางอย่าง ส่วนเรื่อง file & use ถ้ากำกับเองได้ก็ดีต่อภาคธุรกิจอยู่แล้ว เพราะบริษัทประกันสร้างแบบกรมธรรม์ใหม่ออกมา ก็ขายได้เลย

แต่ปัญหา คือตอนนี้กรมธรรม์ที่ออกไปแล้ว บางเรื่องยังต้องตีความ เกิดการฟ้องร้อง ว่าสัญญาไม่เป็นธรรม ดังนั้น ดีกับธุรกิจแต่จะดีกับประชาชนหรือไม่ ยังตอบยาก คือปกติเราพยายามทำอยู่แล้ว ลักษณะที่เป็นเงื่อนไขมาตรฐาน เช่น ยื่นขอออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ถ้าอยู่ในกรอบมาตรฐานนี้ออกขายได้เลย

แต่ถ้าเป็นโปรดักต์ใหม่ ๆ เลย จะบอกว่าเป็นกรมธรรม์แบบ file & use ทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องลองจินตนาการว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น อาจจะเสียหายกว่ากรมธรรม์ประกันโควิดก็ได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง IBS ในเบื้องต้นหากภาคธุรกิจเห็นด้วยทั้งหมด คปภ.คงไม่ขัดข้อง ทำได้เลย แต่ถ้าสั่งให้ คปภ.ส่งข้อมูลให้สมาคมคงทำไม่ได้ ตอนนี้ต้องหารือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ก่อน เพื่อคงต้องเลือกว่าจะส่งคืนข้อมูลอะไรให้ได้บ้างด้วย

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
X