ข่าวการเงิน

“งบการเงินที่ดี”...จึงจะเป็นประโยชน์กับ “ผู้ใช้” !!!


Where2put Ur Money: เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในแนวทางการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณซึ่งเป็นตัวเลขจากงบการเงินเพื่อนำมาช่วยในการตัดสินใจลงทุนค้นหาหุ้นที่ดีในราคาที่เหมาะสม (Good Stock at Good Price) ก็คือ “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)” แต่ก่อนที่จะลงมือวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากงบการเงิน พอจะทราบกันไหมครับว่า ลักษณะของ “งบการเงินที่ดี” ตามแม่บทบัญชีเป็นอย่างไรบ้าง เชื่อว่า หลายๆ คนคงยังไม่ทราบกัน โดยลักษณะของงบการเงินที่ดีควรเป็นดังนี้ครับ 

    •  ความเข้าใจได้ (Understandability) โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ผู้ใช้งบการเงินมีความรู้ตามสมควรในเรื่องบัญชี และกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อมีการใช้ข้อมูลในงบการเงินดังกล่าว จึงสามารถทำความเข้าใจในข้อมูลได้ในทันที

    •  ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevance) ข้อมูลในงบการเงินต้องมีประโยชน์ สามารถช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินประเมินสถานการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งช่วยยืนยัน หรือชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของผลการประเมินที่ผ่านมาของผู้ใช้งบการเงิน เพื่อที่จะได้นำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดให้ดีขึ้น

    •  ความมีนัยสำคัญ (Materiality) ข้อมูลในงบการเงินต้องมีความเกี่ยวข้อง และมีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน

    •  ความเชื่อถือได้ (Reliability) ข้อมูลในงบการเงินต้องเป็นข้อเท็จจริง มีแหล่งที่มาชัดเจน มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในสาระสำคัญอันจะไม่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิดได้ และถ้าเป็นการคาดการณ์ก็ต้องสมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

    •  การเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม (Faithful Presentation) ข้อมูลในงบการเงินต้องทำให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถเชื่อได้ว่า ข้อมูลนั้นเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรมของรายการที่ต้องการให้แสดง และปราศจากความผิดพลาดที่มีนัยสำคัญ




    •  ความเป็นกลาง (Neutrality) เนื่องจากงบการเงินถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับกลุ่มคนหลายฝ่าย ดังนั้นข้อมูลในงบการเงินต้องถูกนำเสนอด้วยความเป็นกลาง และปราศจากซึ่งความลำเอียง

    •  เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ (Substance Over Form) ข้อมูลในงบการเงินต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหา และความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแค่จัดทำตามรูปแบบทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

    •  ความระมัดระวัง (Prudence) เนื่องจากการจัดทำงบการเงินดำเนินการภายใต้ความไม่แน่นอน จึงต้องมีการใช้ดุลพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบในการประมาณการเพื่อไม่ให้รายการบางรายการสูง หรือต่ำเกินไป จนทำให้ขาดความเป็นกลาง และไม่น่าเชื่อถือ

    •  ความครบถ้วน (Completeness) หากข้อมูลในงบการเงินไม่ครบถ้วน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน และนำไปสู่ความผิดพลาดได้

    •  การเปรียบเทียบกันได้ (Comparability) ผู้ใช้งบการเงินไม่เพียงแต่ต้องสามารถเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงินระหว่างกิจการได้ หากยังต้องสามารถเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงินของกิจการในรอบระยะเวลาที่ต่างกันได้ด้วย เพื่อที่จะประเมินการเปลี่ยนแปลงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการที่เกิดขึ้น

    •  ทันต่อเวลา (Timelines) ต้องมีการปิดงบการเงินให้ทันเวลาก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆ เนื่องจากการรายงานข้อมูลที่ล่าช้าอาจส่งผลให้การตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงินผิดพลาดได้

    •  ความสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับต้นทุนที่เสียไป (Balance Between Benefit and Cost) โดยทั่วไป ประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลในงบการเงินควรมากกว่าต้นทุนในการจัดหาข้อมูลนั้นๆ

    •  การแสดงข้อมูลที่ถูกต้องตามควร (Appropriate Display of Information) เพียงพอ และมีสาระสำคัญทั้งในด้านฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน

แน่นอนว่า “งบการเงิน” จะให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งบการเงิน ก็ต่อเมื่องบการเงินนั้นมี “ลักษณะที่ดี” ตามแม่บทบัญชีที่ได้กำหนดไว้ข้างต้นนั่นเองครับ


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับwealthythai

https://www.wealthythai.com/en/updates/wealth-management/where-to-put-your-money/18247
X