ข่าวการเงิน
สำนักงาน ก.ล.ต.เผย จะทำอย่างไรถ้า “หุ้นกู้” ซื้อไว้ ผิดนัดชำระหนี้
วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า
หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญของการลงทุนหุ้นกู้ คือ
ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้
ที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตามกำหนด
รวมทั้งกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้จากการถูกเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน
(call default) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้
เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้”
เป็นเหมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ในแต่ละรุ่นมีหน้าที่เรียกร้องให้ชำระหนี้
บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้
รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุนด้วย
โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการต่าง
ๆ
เช่น ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้
หรือบังคับหลักประกัน ดังนั้น
ผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
และต้องใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วย
รวมถึงควรศึกษาเอกสารการประชุมอย่างละเอียด
และเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองเพื่อซักถามผู้ออกหุ้นกู้
และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงมติเสมอ
เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองอย่างดีที่สุด
1. จะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นกู้รุ่นไหน ใครเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ผู้ถือหุ้นกู้สามารถดูข้อมูลของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร
(factsheet) ในส่วนลักษณะตราสาร
หรือหน้าปกแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (filing) ทั้งนี้
ผู้ลงทุนค้นหา factsheet และ filing ของหุ้นกู้รุ่นที่ลงทุน
ได้จากทางแอปพลิเคชั่น SEC Bond Check หรือเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. http://https//market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing
2. เมื่อต้องมีการบังคับชำระหนี้ ผู้ลงทุนควรต้องเตรียมการอย่างไร
เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติ
หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นบุคคลที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน
(กรณีหุ้นกู้มีประกัน) หรือบังคับชำระหนี้ให้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย
และจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
โดยชื่อของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจะปรากฏในทะเบียนรายชื่อล่าสุด
และผู้ถือหุ้นกู้ควรจัดเตรียมเอกสารหลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อม
หากมีความจำเป็นจะต้องมีการยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้
3. หุ้นกู้มีประกันและหุ้นกู้ไม่มีประกันจะมีการดำเนินการที่แตกต่างกันไปหรือไม่
หากเป็นผู้ถือหุ้นกู้ที่มีหลักประกันจะมีสิทธิเรียกร้องในการได้รับชำระหนี้จากสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน
โดยจะมีกระบวนการบังคับหลักประกัน เช่น การขายทอดตลาด
และสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ที่ไม่มีประกัน
โดยทั่วไปผู้ถือหุ้นกู้ในกลุ่มนี้จะมีสิทธิเทียบเท่าเจ้าหนี้ทั่วไปของบริษัท
ซึ่งจะมีกระบวนการในการฟ้องบังคับชำระหนี้
ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มนี้จะมีสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์อื่น ๆ
ที่ปลอดภาระของบริษัท
โดยต้องแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วนของหนี้ ทั้งนี้
ในด้านการดำเนินการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นกู้
ไม่ว่าหุ้นกู้มีประกันหรือหุ้นกู้ทั่วไป
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นผู้ดำเนินการให้กับผู้ถือหุ้นกู้
4. ผู้ถือหุ้นกู้แต่ละประเภทจะได้รับชำระหนี้ในลำดับไหน
ผู้ลงทุนในหุ้นกู้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัท
มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญที่มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย
สำหรับผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหุ้นกู้
ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ไม่มีประกัน ทั้งนี้
ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตนถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร
(factsheet) ของหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ
5. ผู้ลงทุนจะติดตามความคืบหน้าการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ได้อย่างไร
ผู้ถือหุ้นกู้สามารถติดตามความคืบหน้าของผลการบังคับชำระหนี้จาก
“ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน
แม้ว่าการลงทุนหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นทุน
และนอกจากมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้แล้ว
ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงด้านราคาอีกด้วย
ก.ล.ต.จึงขอให้ผู้ลงทุนหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน
และจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้
หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏเป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงาน ก.ล.ต.
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
22/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
17/09/2024
29/04/2024