ประกันชีวิต
สมาคมประกันชีวิตไทย ห่วงเกิดผลกระทบ 4 ข้อ กรณีบังคับใช้งบการเงินตาม TFRS17 ดีเดย์ 1 ม.ค. 68 เร่งถกสรรพากรเคลียร์ปมจ่ายภาษี-เอฟเฟ็กต์รับรู้กำไร หวั่นช่วงเปลี่ยนผ่านกระทบส่วนของผู้ถือหุ้น
นางสาวจารุวรรณ ลิ้มคุณธรรมโน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการระบบบัญชีและภาษี สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า การบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่องสัญญาประกันภัย (TFRS17) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จะมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญกับธุรกิจประกันชีวิต 4 ประเด็นหลักคือ
1. ไม่มีเบี้ยประกันภัยรับและสำรองประกันชีวิตในงบการเงิน แต่มีค่าใช้จ่ายทางการเงินจากการรับประกันภัยแทน ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในปัจจุบัน ฉะนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการหาข้อสรุปเรื่องการปฏิบัติทางภาษีกับกรมสรรพากร
โดยปัจจุบันกรมสรรพากรได้ตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการแล้วมีทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อประชุม พูดคุย หารือเรื่องนี้กันทุกเดือน
ตอนนี้อยู่ระหว่างลงรายละเอียดว่ามีวิธีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไร หรือมีแนวทางไหนได้บ้าง หากมีผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก TFRS4 มาเป็น TFRS17 แล้วกระทบกับจำนวนเงินภาษีที่เคยชำระไปแล้วในอดีต
“เดิมตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ตีกรอบไว้ว่า การจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งกำไรของบริษัทประกันชีวิตตาม TFRS4 คือมีเบี้ยประกันและเงินสำรอง แต่ว่าสำรองที่ถือเป็นรายจ่ายได้ตามเกณฑ์กรมสรรพากรต้องไม่เกิน 65% ของเบี้ยประกัน
แต่เมื่อเป็น TFRS17 ไม่มีเบี้ยประกันภัยรับและสำรองประกันชีวิตในงบการเงิน จึงไม่แน่ใจว่าจะหยิบเกณฑ์ไหนมาใช้ในการจ่ายภาษี คือถ้าจะใช้เกณฑ์เดิมก็คงกระทบ เพราะเหมือนต้องรื้องบการเงินใหม่หมด”
จารุวรรณ ลิ้มคุณธรรมโน
2. รูปแบบการรับรู้กำไรที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อกำไรที่รับรู้ในแต่ละปี ยกตัวอย่างงบกำไรขาดทุน กรณีจ่ายเบี้ยครั้งเดียว คุ้มครองยาว 20 ปี ถ้าตาม TFRS4 เมื่อรับเบี้ยปีแรก สมมติ 5,000 บาท จะบันทึกเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุนปีนั้นทั้งหมดก้อนเดียว แต่ตาม TFRS17 จะให้ทยอยรับรู้รายได้ตลอดระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี
โดยแต่ละปีให้รับรู้ตามสัดส่วนความคุ้มครอง และบันทึกอยู่ในรายได้การประกันภัย แต่กำหนดให้แยกค่าใช้จ่ายทางการเงินจากสัญญาประกันภัยสุทธิออกมาให้เห็น หรือเข้าใจง่าย ๆ คือต้องแยกต้นทุนดอกเบี้ยแฝงมาแสดงด้วย
ส่วนสำรองประกันชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปเรียกเป็นหนี้สินตามสัญญาประกันภัยแทน ซึ่งทำหน้าที่คล้าย ๆ รายได้รับล่วงหน้า หมายความว่าเมื่อรับเบี้ยมาแล้วจะบันทึกเป็นหนี้สินไว้ก่อน และหนี้สินตรงนี้จะลดลงเมื่อถูกทยอยรับรู้เป็นรายได้การประกันภัยในแต่ละปี หรือเมื่อมีการจ่ายเคลมจริงไปแล้ว โดยหนี้สินจะหมดต่อเมื่อภาระผูกพันในการให้บริการหรือความคุ้มครองแก่ลูกค้าหมดไป
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจมากขึ้น ว่าแหล่งที่มาของกำไรของธุรกิจประกันชีวิตแต่ละบริษัทมาจากไหน TFRS17 จึงให้แสดงกำไรจากการรับประกันภัยกับกำไรทางการเงิน (รายได้จากลงทุนลบต้นทุนดอกเบี้ย) ออกจากกันด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบการรับรู้กำไรในแต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สุดท้ายแล้วกำไรตลอดอายุสัญญายังเท่าเดิม
3. เดิมส่วนใหญ่ภาคธุรกิจใช้วิธีการคำนวณเงินสำรองประกันชีวิตแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิชำระคงที่ (NPV) ซึ่งใช้สมมติฐานตั้งแต่วันที่ออกกรมธรรม์ในการคำนวณเงินสำรองฯ ต่างจาก TFRS17 ซึ่งปรับสมมติฐานที่ใช้ให้เป็นปัจจุบัน ด้วยวิธีการใหม่นี้ส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินสำรองมากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาวัดมูลค่าสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับหนี้สิน จึงเป็นเรื่องที่บริษัทประกันชีวิตแต่ละแห่งต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
4. ส่วนของผู้ถือหุ้น อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากการปฏิบัติมาตรฐานการบัญชีเป็นครั้งแรก เนื่องจากการปรับปรุงกำไรสะสมที่เกิดจากความแตกต่างในการรับรู้กำไรในอดีตตาม TFRS4 กับ TFRS17
นางสาวจารุวรรณกล่าวต่อว่า ตอนนี้ภาคธุรกิจเหลือเวลาเตรียมความพร้อมประมาณ 1 ปี 5 เดือน โดยปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชีได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว เพื่อให้ TFRS17 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2568 และสำนักงาน คปภ.ได้ประกาศแบบงบการเงินใหม่
ตามข้อกำหนดของ TFRS17 และ TFRS9 เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดีธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจเดียวในโลกที่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ TFRS9 จนกว่า TFRS17 จะมีผลบังคับใช้
“ภาคธุรกิจต้องมีการซ้อมจัดทำงบการเงินรายไตรมาสในปี 2567 เพราะต้องเอามาเปรียบเทียบกำไรขาดทุนของปี 2568 เพื่อส่งให้สำนักงาน คปภ. รวมถึงการจัดอบรมความรู้ให้กับบุคลากรในภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทประกันชีวิตในฝั่งสินทรัพย์ (หนี้สิน+ทุน) ซึ่งกว่า 90% เป็นสินทรัพย์ลงทุน เช่น พันธบัตรรัฐบาล, หุ้นกู้, หุ้น, กองทุนรวม, เงินให้กู้ยืม และแทบจะทุกบริษัทพอร์ตหลักคือตราสารหนี้เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนหนี้สินสัดส่วนกว่า 90% เป็นหนี้สินตามสัญญาประกันภัย ที่เหลืออีก 10% เป็นหนี้สินอื่น ๆ เช่น ค่าไฟและค่าน้ำค้างจ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ ฝั่งสินทรัพย์ตาม TFRS4 ธุรกิจประกันชีวิตจะใช้แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่องเครื่องมือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันชีวิต (FI-Guidance) แต่เมื่อบังคับใช้ TFRS17 จะถูกบังคับใช้มาตรฐาน TFRS9 และฉบับที่ 7 เรื่องการเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน (TFRS7)
ซึ่งเป็นหลักที่บังคับใช้ทั่วโลก แต่ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจเดียว ที่ยังได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ TFRS9 จนกว่า TRFS17 จะมีผลบังคับใช้
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
29/04/2024
30/04/2024
16/05/2024
30/04/2024
30/04/2024