ข่าวทั่วไป

ทำอย่างไร “ธุรกิจครอบครัว” ไม่ล่มสลาย เจเนอเรชั่น 3


รู้หรือไม่ครับว่า ธุรกิจบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วเป็นธุรกิจครอบครัว แต่การส่งผ่านธุรกิจครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย และมักจะมีคำกล่าวที่ว่า “ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดได้ไม่เกิน 3 เจเนอเรชั่น“

ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ ไม่ใช่มาจากเรื่องของธุรกิจ แต่มาจาก “ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว” ทำให้หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญเรื่องนี้

และวันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับบริษัทชั้นนำในประเทศอีกจำนวนมาก

ธุรกิจครอบครัว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ธุรกิจครอบครัวจริง ๆ ก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นครอบครัว 75-80% หมายความว่ายังไง หมายความว่าครอบครัวถือหุ้นใหญ่เกินร้อยละ 50 มีอำนาจควบคุม แต่งตั้งกรรมการ เพราะฉะนั้นบริษัทครอบครัวใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ที่ขับเคลื่อน ก็คุณเจริญ คุณธนินท์ เซ็นทรัล–จิราธิวัฒน์ ก็ยังมีอื่น ๆ อีกที่เป็นเจ้าของคนเดียว

หรือสหพัฒน์ก็เป็นแบบ Conglomerate ก็คือเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นครอบครัวอย่างกลุ่มไชยวรรณ มีทั้งประกันชีวิต มีทั้งธนาคาร มีทั้งโรงเหล้า ก็จะกลายเป็นว่าธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ เขาก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จ้างคน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทเอสเอ็มอี เล็ก ๆ ที่มีอยู่ประมาณ 3-4 แสน ไม่รวมพ่อค้าธรรมดา กลุ่มพวกนี้ก็จะเป็นบริษัทที่ต่างจังหวัด

จากการสำรวจในประเทศไทย ธุรกิจที่เกิน รุ่นหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 33 ปี เพราะฉะนั้นธุรกิจไหนที่เกิน 60 ปี แสดงว่าเป็นรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 บางรุ่นก็อย่างเซ็นทรัล รุ่นที่ 4-5 ล่ะ คุณเจริญ รุ่นที่ 2 เพราะฉะนั้นกลุ่มพวกนี้ก็พัฒนาโตขึ้น ขยายธุรกิจขึ้น แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจที่หายไปก็เยอะ

เกิน 3 รุ่น อยู่รอดแค่ 12%

ตัวเลขที่คุณเห็นก็คือว่าธุรกิจที่เกิน 3 รุ่น มีแค่ 12% หมายความว่าบริษัท 100 บริษัท ก็จะมีบริษัทที่รอดอยู่แค่ 12 บริษัท ก็เฉลี่ยประมาณ 40-50 ปี หรือ 60 ปีประมาณนั้น

ส่วนถ้าเป็นรุ่นที่ 4 ที่มีความเติบโตได้ ก็มีประมาณแค่ 3% เอง เมืองไทยมีบริษัทที่เกิน 100 ปี ไม่ถึง 10 บริษัท ที่จริงในบรรดา 10 บริษัท ที่เป็นเจ้าของเดิมอาจจะไม่ถึงแค่ครึ่งหนึ่งก็ได้

อย่าง Oriental 100 กว่าปี ก็เปลี่ยนเจ้าของ อย่างตัวอย่างความสูงอย่างโอสถสภา ตระกูลโอสถานุเคราะห์ก็ยังถือหุ้นใหญ่ CP ก็ยังไม่ถึง 100 ปี 86 กว่าปี เซ็นทรัลก็ 80 ปี

ความขัดแย้ง จุดจบธุรกิจครอบครัว

เพราะฉะนั้นการที่จะให้เอาธุรกิจอยู่รอดมาถึงรุ่นที่ 3-4 ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจ เกี่ยวข้องกับเรื่องของความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว พี่น้องทะเลาะกัน เราจะเห็น แน่นอนเรื่องธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่เกิดวิกฤตปี’40 แฮมเบอร์เกอร์ โควิด ก็เห็นธุรกิจครอบครัวที่หายไปก็เยอะ 

แต่ว่าส่วนหนึ่งผมคิดว่าการที่สมาชิกในครอบครัวขัดแย้งกัน อันนี้เป็นจุดใหญ่ของธุรกิจครอบครัวที่มันแตก ทะเลาะ ฟ้องคดี เราก็เห็นคดีเยอะแยะในหนังสือพิมพ์ คดีของธรรมวัฒนะ ห้างทอง ซึ่งก็ทะเลาะกันถึง 14 ปี มีคดีฟ้องกัน 44 คดี เพิ่งจบกันไป 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็เป็นข่าวหนังสือพิมพ์อย่างแม่ประนอม, ปุ้มปุ้ย ฟ้องกันอุตลุด และก็มีซ้อ 7 ซีอิ๊วเด็กสมบูรณ์ ก็จะมี Issue (ปัญหา) เยอะ ในประเทศไทยถ้าจริง ๆ ลองลงไปเจาะลึก

เพราะฉะนั้นคำถามเรื่องธุรกิจครอบครัวมาจากเรื่องของความขัดแย้งที่เป็นตัวหลัก ความขัดแย้งเกิดจากอะไร ความขัดแย้งเกิดจากไม่มีกฎกติกาในการทำธุรกิจด้วยกัน ความขัดแย้งเกิดจากเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่มีการตกลงอย่างชัดเจน ความขัดแย้งจากการที่ไม่ได้คุยกัน ประชุมหารือ ปรึกษาหารือกัน

ก็เป็นที่มาว่าเคยมีการเซอร์เวย์ครั้งหนึ่งของบริษัทชื่อ The Williams เขาบอกว่าธุรกิจครอบครัวที่เกิดขึ้นจริง ๆ ก็คือเกิดจากความขัดแย้ง ความไม่สื่อสารกัน ความไม่เชื่อใจกัน 66%

ปมปัญหาธุรกิจครอบครัว

คือที่ผมศึกษามาประมาณสัก 20 ปี แล้วก็ตอนต้น ๆ ก็พบว่าเหตุการณ์เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขคือ เรื่องของการจัดโครงสร้างการถือหุ้น คุณมีบริษัทแบบไหน กี่บริษัท มีโฮลดิ้ง มีกงสีมั้ย มีบริษัทประกอบการมั้ย คุณจะเอาโฮลดิ้งเข้าตลาด โฮลดิ้งใครถือหุ้น คุณจะเป็นคนธรรมดา คุณจะเป็นนิติบุคคล คุณจะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้จะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายและภาษี

อันที่ 2 คือว่าคนไทย ignorant (ไม่รู้) มาก ก็คือว่า ไม่ค่อยทำเอกสารกฎหมาย ตั้งบริษัท ข้อบังคับก็ปล่อยจดทะเบียนปกติคือ standard form ซึ่งไม่ได้ พอคุณมีแฟมิลี่ การแบ่งหุ้น การแบ่งกรรมการ ก็จะต้องเขียนในข้อบังคับ

อันที่สามคือเรื่องผลประโยชน์ พูดไปล่ะ แบ่งหุ้นยังไง ค่าตอบแทนเป็นยังไง ไม่เขียนเป็นกฎ ถ้าเขียนเป็นกฎ เช่น บริษัทกำไรจะจ่ายปันผล

เรื่องการสื่อสาร เราต้องยอมรับนะครับว่า การสื่อสารไม่ได้หมายถึงการสั่ง แต่รุ่นพ่อ–รุ่นพี่ ก็จะบอกสั่งน้อง–สั่งลูก คุณทำตามคำสั่งฉัน ที่ผมบอกว่าแบบ Emperor แบบจักรพรรดิ อันนี้เป็นเทรนด์ในอดีต ไม่ใช่เมืองไทย ที่อื่นก็เป็น แต่วันนี้โลกเปลี่ยน

เรื่อง succession plan (วางแผนผู้สืบทอดตำแหน่ง) ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยปล่อยวาง ก็คือว่ารุ่นที่ 1 คิดว่าเก่ง แต่ถ้ายกตัวอย่าง “เซ็นทรัล” เขาถอยแล้ว เขียนในไว้ธรรมนูญครอบครัวว่าอายุเท่านี้ต้องถอยไปเป็น “ที่ปรึกษา” หรือเป็น “กิตติมศักดิ์” อะไรก็ว่าไป แต่ของเราก็จะเห็นว่าผู้ก่อตั้ง หรือว่าคนที่เป็นอาวุโสที่สุด ก็ไม่อยากจะปล่อย เพราะยังคิดว่ายังทำงานอยู่

เรื่องสำคัญ ที่ผมพยายามอยากสร้างคือสร้าง Network ของกรรมการมืออาชีพที่มาช่วยธุรกิจครอบครัว เพราะว่าถ้าเราไปดูบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็น ซี.พี. ไม่ว่าจะเป็นคุณเจริญ เขามีที่ปรึกษามืออาชีพคนนอกอยู่เยอะมาก

วันนี้เอสเอ็มอีไทยขาดก็คือ ขาดคนที่มีประสบการณ์ ที่จะเป็นที่ปรึกษา หรือว่ามีเครือข่าย มี Networking

ถึงเวลาหาพันธมิตรร่วมสืบทอดธุรกิจ

เป็นแนวใหม่ที่เราพยายามจะบอกว่า การสืบทอดธุรกิจครอบครัว คุณไม่จำเป็นต้องสืบทอดธุรกิจด้วยครอบครัวคุณคนเดียว แต่คุณอาจจะมีเพื่อน คู่ค้า ที่มาทำธุรกิจร่วมกัน เราไม่ค่อยเห็นรูปแบบนี้ในปัจจุบัน แต่ว่าแน่นอนต้องมี DNA ที่ตรงกัน และมีกฎกติกาชัดเจน ถ้าทุกอย่างโปร่งใส บัญชีชัดเจน ไม่ต้องมีอะไรปกปิด คือผมกำลังบอกวิธีนี้ เป็นวิธีที่จะปรับเอสเอ็มอีไทย เล็ก กลาง ให้แข่งขันได้ ผมคิดว่าไม่ง่าย แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อาจจะต้องให้คนเห็น


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1355206

X