ประกันชีวิต
คนไทยกว่า 61% ไม่มีประกันชีวิต คนที่ทำอยู่ก็มีอัตราลดลง เพราะอะไร?
อัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรไทย จนถึงสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่ามีสัดส่วน 38-39% ลดลงจากสิ้นปี 2565 และกว่า 61% ของคนไทยยังไม่มีประกันชีวิตเพราะอะไร?
วันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เกี่ยวกับตัวเลขของจำนวนประชากรไทยที่มีการทำประกันชีวิตนั้น
พบว่ามีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP (Insurance Penetration) ประมาณ 3.51% และมีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากร (Density Rate) ประมาณ 40.36% มีเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากรต่อราย 9,235 บาท
“คิดง่าย ๆ ก็คือ คนไทย 100 คน มีประกันชีวิตแค่ 40 คนเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ อาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะบางคนมีหลายกรมธรรม์”
มาดูกันต่อว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง สำนักงาน คปภ.รายงานไว้ว่า สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP (Insurance Penetration) อยู่ที่ประมาณ 3.45% และมีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากร (Density Rate) ประมาณ 39.89% ดังนั้น จะเท่ากับว่ามีสัดส่วนที่ลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว ถามว่าเกิดอะไรขึ้น?
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตัวเลขอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรจนถึงสิ้นไตรมาส 2 (ม.ค.-มิ.ย. 2566) มีสัดส่วนประมาณ 38-39% มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของ GDP ประมาณกว่า 3% มีค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉลี่ยต่อรายประมาณ 9,000 บาท ซึ่งอาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากแบบประกันสะสมทรัพย์ที่หายไป
นอกจากนี้ โดนกดดันจาก paid-up และ maturity (กรมธรรม์ครบกำหนด) จากแบบประกันตลอดชีพในส่วนของเบี้ยปีต่ออายุ ซึ่งติดลบไปประมาณ 4.56% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขอยกเลิกกรมธรรม์ (surrender) ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
“วันนี้การเข้าถึง และแบบประกันที่ใช่ และราคาที่ใช่ จะสำคัญมาก ๆ เพราะอาจจะมีบางกลุ่มเซ็กเมนต์ที่ต้องการประกันชีวิต แต่ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น เชื่อว่าการประกันชีวิตยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต” นายสาระกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยถือกรมธรรม์ประกันชีวิตมีสัดส่วนใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย ส่วนประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่นพบว่ามีกรมธรรม์ถึง 322 ฉบับ เฉลี่ยมีกรมธรรม์ถึง 3 ฉบับต่อคน และประเทศสิงคโปร์ อยู่ที่ 267 ฉบับเฉลี่ยแล้วก็เกือบ 3 ฉบับต่อคน
แล้วตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยไม่ชอบทำประกันชีวิต มุมมองส่วนตัวอาจจะยังมีรายได้น้อยเกินจะจ่ายเบี้ยประกันหรือเปล่า?
X