ประกันภัย

ประกันปรับพอร์ต 4 ล้านล้าน โยกลงทุน ESG-คปภ. จ่อออกเกณฑ์หนุน


“คปภ.” ถกภาคธุรกิจประกันภัย เตรียมออกเกณฑ์ปรับพอร์ต 4.2 ล้านล้านบาท โยกลงทุนด้าน ESG “กรีนบอนด์-กรีนฟันด์-หุ้นยั่งยืน” รับลูกนโยบายกระทรวงการคลัง ฟาก “เอกชน” เสนอควรลดเงินสำรองกันความเสียหายลง ด้าน “เมืองไทยประกันชีวิต” ลุยศึกษาพัฒนาแบบประกัน-ลงทุน แย้มผลตอบแทนดี

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการหารือผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจประกันภัยในการขับเคลื่อนนโยบาย ESG ตามแนวทางกระทรวงการคลังนั้น มีหัวใจหลัก 2 ส่วนคือ 1. การลงทุน 2. ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย

โดยในส่วนการลงทุนปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย มีสินทรัพย์ลงทุนรวมกันประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศ จึงอยากให้เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับนโยบาย ESG ในกลุ่มสิ่งแวดล้อม โดยให้บริษัทประกันภัยลงทุน เช่น กรีนบอนด์, หุ้นยั่งยืนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย, กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน, ธุรกิจที่ส่งเสริมลดคาร์บอน เป็นต้น

“ตอนนี้ถือว่าซัพพลายกองทุนรวมต่าง ๆ ยังค่อนข้างน้อย และรีเทิร์นอาจไม่สูงมาก ภาคธุรกิจประกัน จึงเสนอว่าควรลดเงินสำรองกันความเสียหาย (risk charge) ลงด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.จะต้องไปออกกฎระเบียบประเภทการลงทุน ESG เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน คงจะต้องมีการกำกับดูแลผู้ให้บริการตามระดับความเสี่ยง (risk proportionality) เพื่อทำให้บริษัทประกันภัยมีความแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมด้วย โดยมีตัวชี้วัดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ”

ขณะที่ในส่วนความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย พบว่าเกือบทั้งหมดสามารถตอบสนองนโยบาย ESG ในกลุ่ม Social ได้พอสมควรอยู่แล้ว เพราะการประกันภัยเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยง ที่ช่วยบรรเทาความเสียหาย แต่ชัดที่สุดคือ การประกันสุขภาพและการประกันบำนาญ ซึ่งจะช่วยดูแลสถานภาพทางการเงินของผู้สูงอายุที่ประเทศกำลังประสบอยู่

โดยการจะผลักดันให้การประกันภัยเติบโตอย่างรวดเร็ว กรณีประกันสุขภาพ ก็คุยกันถึงแนวทางที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่แท้จริง (risk based pricing) ซึ่ง คปภ. รับไปพิจารณา เพราะฐานการประกันสุขภาพของไทยโตพอสมควรแล้ว มีเบี้ยเกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี และโตเกิน 10% แต่คงจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์อย่างละเอียดออกมาก่อน เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันภัยที่ถูกชาร์จเบี้ยแพงหลุดออกจากระบบไป




ส่วนประกันบำนาญ ยังมีมาร์เก็ตแชร์อยู่แค่ 0.6% ของการประกันภัยทั้งหมด ในขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องผลักดันประกันบำนาญให้โตขึ้น จึงมีรายละเอียดที่ต้องทำอีก เช่น หารือกรมสรรพากรเรื่องสิทธิทางภาษี เป็นต้น

นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ สำนักงาน คปภ.กล่าวว่า การกำกับดูแลของ คปภ. จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงดาต้า

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันขีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อน ESG ของเมืองไทยประกันชีวิต ขณะนี้อยู่ในช่วงเฟสแรกคือ ศึกษาสโคปที่ 1-2 ซึ่งทำได้ง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่นทำเรื่อง zero waste, ลดคาร์บอน, การดำเนินธุรกิจแบบ paperless, การใช้ EV และการใช้โซลาร์รูฟ เป็นต้น

แต่ตัวที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอยู่ในสโคปที่ 3 คือการลงทุน โดยปัจจุบันบริษัทประกันภัยมีสินทรัพย์ลงทุนรวมกันกว่า 90% ของสินทรัพย์รวม หรือมีมูลค่ากว่า 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเน้นลงทุนอยู่ในพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้, หุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ถ้าจะให้ธุรกิจประกันภัยให้น้ำหนักการลงทุน เช่น กรีนบอนด์ หรือลงทุนในองค์กรที่ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองในเรื่องพวกนี้ ก็มองว่ามีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนที่จะลด risk charge ลงมา

“เรื่องของ ESG ถือว่ามีความสำคัญมาก จะไม่ใช่เป็นการปันงบฯ มาทำ CSR เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมหรือสังคม แต่ต้องล้อไปกับการทำธุรกิจ เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขันในนานาประเทศไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การทำเรื่องพวกนี้เราคงต้องดูให้ดีว่าอีโคซิสเต็มในประเทศไทยมีความพร้อมขนาดไหน รวมถึงเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย” นายสาระกล่าว

ส่วนการพัฒนาแบบกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ปัจจุบันแบบประกันชีวิตควบลงทุน (ยูนิตลิงก์) และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ ก็เริ่มเข้าไปแตะพวกกองทุนกรีนฟันด์, กรีนบอนด์ มากขึ้น เช่น กองทุนบางกองมีการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งผลตอบแทนก็ถือว่าดี

“วันนี้ก็มีแบบประกันสุขภาพที่คุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปีแล้ว โดยสามารถซื้อได้ตอนอายุสุดท้ายคือ 90 ปี และก็มีการพูดคุยกันถึงการพัฒนากรมธรรม์สุขภาพผู้สูงวัย หรือกลุ่มคนที่เป็นโรคมาก่อนแล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้ทำได้ เพียงแต่ในหลักการของความยั่งยืน “ถ้าทำแล้วเจ๊ง” ก็จะไม่ยั่งยืน พูดแบบแฟร์ ๆ ฉะนั้น ต้องทำแบบบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะกับทางบริษัทรับประกันภัยต่อ” นายสาระกล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1360761
X