ประกันชีวิต

แนะคปภ.เข้มงวดบริษัทประกันชีวิต​ ปมส่งเงินคืนตามสัญญากรมธรรม์


นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการประกันชีวิต และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค​"บรรยง​ วิทยวีรศักดิ์"ว่า​ “คปภ.ต้องเข้มงวดบริษัทประกันชีวิต​ เรื่องการส่งเงินคืนตามสัญญากรมธรรม์” ดังนี้

คนทุกคนที่ซื้อประกันชีวิต ย่อมต้องคาดหวังว่าสักวันหนึ่ง เขาจะได้รับเงินคืน ไม่ว่าจะเป็นเงินคืนรายงวด เงินครบสัญญา หรือเงินสินไหมประกันชีวิต แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า บริษัทประกันชีวิตกลับไม่ได้มีความสนใจเลย ว่าเงินคืนเหล่านี้จะส่งถึงมือผู้เอาประกันหรือไม่ 

ทำไมผมถึงพูดอย่างนี้

มีประจักษ์พยานหลายอย่าง ที่บ่งชี้ถึงเจตนาของบริษัทประกันชีวิต ที่ไม่แคร์เลยว่าเงินจะถึงมือลูกค้าหรือไม่ 

ประการแรกคือ การส่งเงินก้อนใหญ่เหล่านี้ให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ มักไม่ลงทะเบียน บางทีเงินเป็นแสน เป็นล้าน แต่ส่งเป็นเช็คในรูปของจดหมายธรรมดา ไม่ลงทะเบียน มันแปลกไหมล่ะ

เมื่อลูกค้าทักท้วงว่าไม่ได้รับเช็ค ก็โทษว่าเป็นความผิดของไปรษณีย์ ทั้งๆที่เรื่องสำคัญอย่างนี้ ควรจะส่งในรูปของจดหมายลงทะเบียน หรือไปรษณีย์ด่วน EMS 

ประการที่สองคือ เมื่อส่งเช็คไปแล้ว หากลูกค้าไม่ได้ไปขึ้นเงิน แต่ตัวเงินยังอยู่ที่บริษัท บริษัทก็สามารถนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนออกดอกออกผลได้ โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้า

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า บริษัทมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่เบื้องหลังในเจตนาเหล่านี้หรือไม่ เท่าที่ทราบ มีหลายบริษัทที่ทำแบบนี้ คือส่งเงินคืนตามสัญญากรมธรรม์ทางไปรษณีย์แบบจดหมายธรรมดา แต่จะเป็นอย่างนี้ทุกบริษัทหรือไม่ ผมไม่มั่นใจ 

แต่ผมมั่นใจว่า มีเงินที่ตกค้างแบบนี้ โดยที่ลูกค้ายังไม่ได้รับ หากนำยอดของทุกบริษัทมารวมกัน น่าจะเป็นเงินนับพันล้านบาท

ลองคิดดูว่า เวลาลูกค้าจ่ายเบี้ยประกันเลยกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน บริษัทจะมีการตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เตือนทันที และมีการคิดดอกเบี้ยย้อนหลังไปถึงวันที่ถึงกำหนดในกรมธรรม์โดยไม่มีตกหล่น

แต่พอเช็คที่บริษัทส่งไปถึงลูกค้า แล้วลูกค้าไม่ได้รับ หรือไม่ได้ขึ้นเงิน บริษัทกลับไม่ได้ตั้งโปรแกรมเตือน ทำเป็นเพิกเฉย เพราะตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่

ผมเพิ่งกลับไปเยี่ยมพี่ชายที่ต่างจังหวัด เราได้พูดคุยกันถึงกรมธรรม์รุ่นหนึ่งของพี่ชายที่ออมจนครบสัญญา แล้วบริษัทประกันชีวิตให้สิทธิ์ในการฝากเงินครบสัญญารับดอกเบี้ย 6% ทุกปี แต่พี่ชายบอกไม่ได้รับเงินมาหลายปีแล้ว

ผมจึงติดต่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของประกันชีวิต ก็ทราบว่ามีเช็คดอกเบี้ยของเงินครบสัญญาก้อนนี้ ที่ยังไม่ได้ขึ้นเงินฉบับละ 31,000 บาท 2 ฉบับ เป็นเช็คลงวันที่เมื่อปีที่แล้วและสองปีที่แล้ว โดยที่บริษัทส่งตรงไปให้ลูกค้าไม่ผ่านตัวแทน

คำถามคือ ถ้าลูกค้าลืมจ่ายเบี้ยประกัน เลยกำหนดเวลา บริษัทจะมีจดหมายทวงถามทันทีโดยอัตโนมัติ แต่พอเป็นเงินคืนของลูกค้า ลูกค้าไม่ได้รับเช็ค หรือลืมไปขึ้นเงิน จนเช็คหมดอายุ บริษัทกลับเพิกเฉย โดยอ้างว่าเป็นความผิดของลูกค้า หรือไม่ก็ผิดที่ไปรษณีย์ (ในกรณีของพี่ชายผม คือไม่ได้รับจดหมายหรือเช็คนี้เลย )

ทำไม ถึงไม่ตั้งโปรแกรมเตือนเมื่อเช็คของลูกค้าหมดอายุ เพราะเชื่อว่าลูกค้าแทบจะทุกคนก็อยากได้ใช้เงินกันทั้งนั้น จะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท โทรหาลูกค้าโดยตรง หรือจะแจ้งเตือนผ่านตัวแทนประกันชีวิตมาก็ได้

ครั้นจะอ้างว่าเป็นความผิดของตัวแทนประกันชีวิตก็ไม่ได้ เพราะว่าตัวแทนคนหนึ่งดูแลลูกค้าเป็นพันคน บริษัทมักไม่สนับสนุนให้เช็คผ่านตัวแทน กลัวตัวแทนจะดองเช็คไว้ ไม่นำไปให้ลูกค้า บริษัทจึงจัดส่งไปเอง เมื่อถึงกำหนดลูกค้าได้รับเงินคืน ตัวแทนก็เข้าใจว่าบริษัทได้ส่งเช็คไปให้ลูกค้าแล้วอัตโนมัติ ลูกค้าคงขึ้นเงินไปเรียบร้อยแล้ว 

ยกเว้นว่าเป็นเงินครบครบสัญญาที่เป็นเงินก้อนใหญ่ ตัวแทนจะมีการแจ้งเตือนลูกค้าว่าได้รับเช็คหรือยัง ขณะที่บางบริษัทก็ยกเลิกการแจ้งตัวแทนว่าลูกค้ามีเงินครบสัญญา เพราะกลัวตัวแทนจะพูดสนับสนุนให้ลูกค้าใช้สิทธิฝากเงินครบสัญญากับบริษัทเพื่อรับดอกเบี้ย 6% (สิทธินี้สำหรับกรมธรรม์ที่ทำก่อนปี 2545 ต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกอบ)

ในขณะที่ลูกค้าบางรายก็มีงานยุ่ง จนไม่ได้มาจดจำว่า ปีนี้ตนเองจะมีเงินคืนหรือกรมธรรม์ครบสัญญา จึงทำให้เช็คเหล่านั้นตกหล่นไป ทั้งจากการที่ไม่ได้รับเช็ค หรือได้รับ แต่คิดว่าเป็นจดหมายทวงเบี้ยประกันชีวิต จึงไม่ได้เปิดอ่าน

ซ้ำร้าย ในหลายกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับเอกสารจากบริษัททางไปรษณีย์เลย ไม่ว่าเช็คครบสัญญาหรือจดหมายเตือนงวดชำระเบี้ยประกันชีวิต เมื่อตรวจสอบกับบริษัท ก็พบว่าที่อยู่ถูกต้อง แต่จดหมายไปไม่ถึง บริษัทก็โทษว่าเป็นความผิดของทางไปรษณีย์ และไม่ได้มีการทำอะไรมากกว่านั้น ตัวแทนก็ต้องรับคำกร่นด่าจากลูกค้าทุกงวดไป

ถามว่าเงินคืนตามกรมธรรม์ต่างๆ ไม่ว่าเงินคืนรายงวด เงินครบสัญญา เงินสินไหม หรือดอกเบี้ยของเงินครบสัญญา ที่ส่งให้ลูกค้าแล้วไปไม่ถึง เงินเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน คำตอบคือไปกองอยู่ที่บริษัทประกันชีวิต 

และบริษัทสามารถนำเงินก้อนนี้ไปหมุน ไปลงทุนได้ฟรีๆ เมื่อครบกำหนด 10 ปี จึงถูกบังคับให้ส่งมอบเงินก้อนนี้ให้กองทุนประกันชีวิต ที่ถือเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ คปภ. 

กองทุนประกันชีวิตมีหน้าที่จะดูแลก้อนนี้ ด้วยการติดตามผู้เอาประกันชีวิตหรือทายาทให้มารับเงินก้อนนี้ไป จริงอยู่ว่าเงินมันไม่หายไปไหน แต่การที่เงินก้อนนี้ไปจมอยู่ที่บริษัทประกันชีวิต 10 ปี โดยทั่วไป จะติดตามลูกค้าได้ยาก เพราะอาจมีการย้ายถิ่นฐานแล้ว แทนที่บริษัทจะมีบันทึก (memo) ถึงตัวแทนประกันชีวิต ให้ติดตามลูกค้ามารับเงินทันทีที่เช็คหมดอายุ น่าจะเป็นช่องทางที่ง่ายกว่ามาก

ถึงเวลาที่ คปภ.จะเข้มงวดกับบริษัทประกันชีวิต ให้ใส่ใจในการส่งเงินให้ถึงลูกค้าหรือผู้เอาประกันชีวิต อย่าสักแต่ส่งเช็คออกไป แต่ต้องติดตามด้วยว่าเช็คไปถึงลูกค้าหรือไม่ ลูกค้าได้ขึ้นเงินแล้วหรือไม่

ผมเข้าใจดีว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทประกันชีวิตที่พยายามกระตุ้นให้ลูกค้าแจ้งความจำนงให้โอนเงินผลประโยชน์ต่างๆเข้าไปในบัญชีธนาคารของลูกค้าโดยตรง แต่ลูกค้าจำนวนมากก็แจ้งความประสงค์ขอรับเป็นเช็ค เพราะหากเข้าบัญชีไปเลย ลูกค้าอาจจะไม่ทราบว่ามีเงินเข้ามาแล้ว ถึงแม้บริษัทจะมีจดหมายแจ้งไปที่ลูกค้าก่อนหน้าแล้ว แต่ลูกค้าไม่ได้อ่านหรือจดหมายตกหล่น

คปภ.ของต้องเข้ามากำกับดูแลว่า จะทำอย่างไรที่จะให้เงินถึงลูกค้า แล้วมีระบบการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ เช่น เงินโอนเข้าบัญชีของลูกค้าเลย และให้มีการแจ้งเตือนทั้งทางจดหมาย อีเมลและข้อความสั้น(sms) เพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่มีการตกหล่นแน่นอน 

หรือ กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่า หากลูกค้าได้รับเงินคืนตามกรมธรรม์มากกว่า 10,000 บาทขึ้นไป บริษัทประกันชีวิตต้องส่งเป็นเช็คลงทะเบียนไปให้ลูกค้าเสมอ จะส่งเสมือนเป็นจดหมายธรรมดาไม่ได้

นอกจากนั้น เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่ลูกค้าไม่ได้รับเช็คเงินคืนเหล่านี้ คือให้บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับดอกเบี้ยฝากประจำหนึ่งปี 

คำถามคือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้จ่ายให้กับใคร หากจ่ายให้กับลูกค้า ก็อาจจะเกิดประเด็นปัญหาว่า ลูกค้าอาจเพิกเฉยไม่เอาเช็คไปเข้าบัญชี เพราะถึงอย่างไรก็ได้รับดอกเบี้ยจากบริษัทประกันชีวิตแทนอยู่แล้ว เมื่อไปเปลี่ยนเช็คใบใหม่

หรือจะนำดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น นำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลเหมือนกับที่กองสลาก นำผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการออกสลากแต่ละงวด ไปบริจาคให้กับองค์กรกุศลต่างๆ 

หรือจะนำดอกเบี้ยที่ได้รับนี้ ไปเข้ากองทุนประกันชีวิต เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับกองทุนประกันชีวิต หากมีบริษัทใดในอนาคตมีปัญหา ก็จะได้นำเงินก้อนนี้ไปคืนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยทำหน้าที่เหมือนกับสถาบันประกันเงินฝาก

ก็ขอฝากให้ทางคปภ.ไปประชุมหารือกันว่า จะทำอย่างไรที่จะกำกับดูแลให้บริษัทประกันชีวิต ส่งเงินคืนตามกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างทุกวันนี้

ใครเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยกมือขึ้นครับ


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับสยามรัฐออนไลน์
https://siamrath.co.th/n/471261
X