ประกันภัย
ความสำคัญของการจัดการความเสี่ยงด้วยการประกันภัย
ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนต้องเจอกับความเสี่ยงอยู่เสมอ ซึ่ง “ความเสี่ยง” ในที่นี้ก็คือ ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นแล้ว ทำให้ผลไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้
โดยความเสี่ยงที่เราพบเจอนั้นมีทั้งความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกเช่น การถูกล็อตเตอรี่ หรือการได้กำไรจากการลงทุนในหุ้น และความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินเช่น อุบัติเหตุจากการขับรถโดยประมาท บ้านเกิดเพลิงไหม้หรือน้ำท่วม ทรัพย์สินโดนโจรกรรม หรือการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
ความเสี่ยงอย่างหลังนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่เราทุกคนต้องบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต“การทำประกันภัย” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้จัดการกับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการทำประกันภัยเป็นการโอนความเสี่ยงของเราไปให้ผู้เชี่ยวชาญหรือก็คือบริษัทประกันภัยนำไปบริหารจัดการต่อ การประกันภัยเป็นการเฉลี่ยทุกข์ระหว่างผู้เอาประกันภัยทุกคน โดยผู้เอาประกันภัยจะร่วมกันจ่ายเบี้ยประกันภัยก้อนเล็ก
แต่เมื่อมีภัยที่เอาประกันภัยไว้เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินมูลค่าที่ตกลงกันไว้หรือก็คือ “เงินเอาประกันภัย” นั่นเอง เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกลับคืนสู่สถานะทางการเงินเดิมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบเชิงลบให้ลดลง ดังนั้น การทำประกันภัยจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งบุคคลและธุรกิจ
เพื่อให้เราสามารถทำประกันภัยได้ตรงกับความเสี่ยง การเข้าใจถึงประเภทของประกันภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยปกติแล้ว เวลาที่เราพูด ถึงประกันภัยนั้น จะหมายรวมถึง ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. ได้แบ่งการประกันภัยออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประกันชีวิต คือ การประกันภัยที่มุ่งให้การคุ้มครองต่อการเสียชีวิต ครอบคลุมไปถึงการสูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพ การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ภายในเวลาที่กำหนด หรือการมีอายุยืนยาวจนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับผลประโยชน์หรือผู้เอาประกันภัยแล้วแต่กรณี ตัวอย่างของประกันชีวิตได้แก่ 1) ประกันชีวิตทั่วไป ที่มี 4 แบบคือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ และ Unit linked และ 2) ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันวินาศภัย คือ การประกันภัยทุกประเภทที่นอกเหนือจากการประกันชีวิต โดยผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยหากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายจากภัยต่างๆ ซึ่งความเสียหายสามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ ตัวอย่างของประกันวินาศภัยได้แก่ ประกันอัคคีภัย ประกันการขนส่งทางทะเล ประกันรถยนต์ และประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ เป็นต้น
บริษัทประกันชีวิตสามารถขายได้แต่ประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยก็เช่นเดียวกันที่ขายได้แต่ประกันวินาศภัย สำหรับประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพนั้นทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยสามารถขายได้ ซึ่งการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)
คนไทยทำประกันภัยกันมากขึ้น แต่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อ้างอิงจากสถิติที่เผยแพร่โดยสำนักงาน คปภ. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันภัยเติบโตกว่า 38% หรือเฉลี่ยปีละ 3.2% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาทในปี 2565 แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต 6.1 แสนล้านบาท และเบี้ยประกันวินาศภัย 2.8 แสนล้านบาท
จะเห็นว่า ในภาพรวมธุรกิจประกันภัยมีการเติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากคนไทยมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นและมีความตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย
รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ภาคธุรกิจของไทยมีความแข็งแกร่งและต้องการทำประกันภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงค่าเฉลี่ยโลก ยังถือว่า ไทยมีการทำประกันภัยค่อนข้างน้อยอยู่ พิจารณาได้จาก สัดส่วนเบี้ยประกันภัยเทียบกับ GDP หรือ Insurance Penetration โดยหากสัดส่วนนี้มีอัตราที่สูงจะเป็นการสะท้อนว่า ประเทศนั้นๆ มีมูลค่าการทำประกันภัยสูงเมื่อเทียบกับ GDP
เมื่อมาดูที่ไทย พบว่า Insurance Penetration ในปี 2565 อยู่ที่ 5.1% (Insurance Penetration ของประกันชีวิต 3.5% และประกันวินาศภัย 1.6%) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น มาเลเซีย 5.3% สิงคโปร์ 9.3% เกาหลีใต้ 10.9% สหราชอาณาจักร 11.1% สหรัฐอเมริกา 11.7% และค่าเฉลี่ยโลก 7.0%
การที่ Insurance Penetration มีสัดส่วนที่น้อย บ่งบอกว่า คนไทยและธุรกิจของไทยยังใช้การประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ
โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยจากมนุษย์ ก็จะทำให้คนไทยหรือธุรกิจของไทยที่ไม่มีประกันภัยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเอง รวมถึงต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของไทย
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และต้องใช้เงินฟื้นฟูอีกกว่า 7 แสนล้านบาท
รวมถึงธุรกิจประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงถึงเกือบ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ คนไทยและธุรกิจที่ไม่มีประกันภัยต้องรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาในการประเมินความเสียหายและการเบิกจ่าย ทำให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าผู้ที่มีประกันภัย
ประกันภัยจึงเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยต้องให้ความตระหนัก พร้อมกันนั้น ธุรกิจประกันภัยต้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและความสำคัญของการทำประกันภัย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำประกันภัยกันมากขึ้น
โดยมาตรการส่งเสริมในปัจจุบันได้แก่ การนำค่าประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาท การนำค่าประกันสุขภาพที่ซื้อให้บิดามารดามาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท และการทำประกันชีวิตในส่วนประกันชีวิตทั่วไปและแบบบำนาญ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นต้น
เมื่อคนไทยทำประกันภัยกันมากขึ้น ก็จะมีตาข่ายความปลอดภัยเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ให้กระทบต่อฐานะทางการเงินของตน รวมถึงลดการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐ อันจะก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม รวมถึงประเทศ
X