ประกันชีวิต
คปภ.แก้เกณฑ์ลงทุน “รพ.-ที่พักสูงวัย” หนุนธุรกิจประกันปั้นยีลด์
คปภ.ปรับเกณฑ์ลงทุนใหม่ ครอบคลุมกิจการทุกประเภท “ที่พักสูงวัย-โรงพยาบาล” ยกเว้น “คลินิกเสริมความงาม” ขณะที่ “เมืองไทยประกันชีวิต” รับสนใจลงทุน “คลินิกเฉพาะทาง-ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” ชี้รีเทิร์นน่าสนใจ 8-10% ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบริการ ตอบโจทย์สังคมสูงวัย
นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับ ธุรกิจและการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ธุรกิจด้านสุขภาพของประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การขยายตัวของจำนวนผู้สูงอายุภายในประเทศ ที่ส่งผลต่อความต้องการในการใช้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนและเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น
ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนรายได้ปานกลางที่มีอำนาจซื้อสูงขึ้น สำหรับความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองจากผลนโยบายรัฐในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งล้วนเป็นการเพิ่มโอกาสที่ผู้ประกอบการจะขยายการประกอบธุรกิจในการให้บริการทางการแพทย์ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อรองรับผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย
ดังนั้น สำนักงาน คปภ.ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขประกาศใหม่เกี่ยวกับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย 2 เรื่องคือ 1. การถือหุ้นในนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาลในประเทศไทย
และ 2. การถือหุ้นในนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย สาระสำคัญของประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ เพื่อให้แนวปฏิบัติมีความชัดเจนขึ้น โดยเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยสามารถเข้าไปถือหุ้นกิจการที่จัดตั้งอยู่แล้ว หรือลงทุนโดยการขอใบอนุญาตจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ก็ได้
ดร.สุธี โมกขะเวส
นอกจากนี้ ได้ขยายขอบเขตการลงทุนให้กว้างขึ้น ให้ครอบคลุมกิจการสถานพยาบาลทุกประเภทและคลินิก เพิ่มเติมนอกเหนือจากการถือหุ้นโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง ตามที่กำหนดไว้เดิม แต่จะยกเว้นสถานพยาบาลและคลินิกที่ให้บริการเสริมความงาม เนื่องจากมองว่าไม่สนับสนุนต่อธุรกิจประกันภัยโดยตรง
“ปัจจุบันเงื่อนไขการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย จะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 20% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของกิจการ ซึ่งขณะนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับผ่านการรับฟังความคิดเห็นและเลขาธิการ คปภ.เซ็นลงนามไปแล้ว” นายสมประโชคกล่าว
ดร.สุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกณฑ์ใหม่ที่ คปภ.เปิดให้ลงทุนกิจการสถานพยาบาลได้ทุกประเภทและคลินิก ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเกณฑ์เดิมให้ลงทุนเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง ทำได้ค่อนข้างยาก จึงไม่ค่อยเวิร์ก
“เมืองไทยประกันชีวิตสนใจลงทุน คลินิกเฉพาะทาง และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยกำลังพิจารณารีเทิร์นจาก 2 มุม คือ 1.ผลตอบแทนในทรัพย์สินของโครงการเดียว (stand-alone return) และ 2.ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้าให้กับบริษัทได้แค่ไหน
ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า คลินิกมีผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในตลาดค่อนข้างดี อยู่ที่ระดับ 8-10% ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะน่าสนใจมากในอนาคต เพราะไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้นตลาดสุขภาพมาแน่”
ดร.สุธีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท พอร์ตลงทุนสัดส่วนกว่า 80% อยู่ในตราสารหนี้ ที่เหลือ 20% อยู่ในตราสารทุนและอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจุบันยังไม่ได้มีการปรับพอร์ตลงทุน แม้ภาวะตลาดทุนช่วงนี้มีความผันผวนเพิ่มขึ้น ระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) พุ่งขึ้นกระทบส่วนชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น (equity risk premium)
“ตอนนี้เรารีวิวหุ้นกู้ในพอร์ตอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เชื่อว่าค่อนข้างปลอดภัยตามความเสี่ยง” ดร.สุธีกล่าว
X