ประกันสังคม
หากมีพรอันประเสริฐ ที่สามารถอธิษฐานขอได้เพียงครั้งเดียว หลายคนคงจะอธิษฐานขอให้ร่ำรวย ขอให้การงานก้าวหน้า ธุรกิจรุ่งเรือง เป็นต้น แต่หากถามคนที่เจ็บป่วย ที่ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะ “โรคร้ายแรง” คำตอบที่ได้เป็นเสียงเดียวกัน คือ อยากจะย้อนเวลากลับไปดูแลตัวเองให้ดีที่สุด กินอาหารที่ดีต่อร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ปรับอารมณ์ไม่ให้เครียดกับงานจนเกินไป
“รวมถึงจะซื้อประกันชีวิตไว้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือหากที่สุดแล้วตัวเองไม่อยู่ก็สามารถส่งต่อความห่วงใยให้กับคนที่อยู่ข้างหลังต่อไปได้”
สำหรับ “นักวางแผนการเงิน” และให้คำปรึกษา แนะนำเรื่องประกันชีวิตและสุขภาพ พบว่าบางคนที่ซื้อประกันสุขภาพโดยเฉพาะประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ไม่ได้ทราบถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเข้ารับการรักษาหรือเงื่อนไขในการจ่ายของบริษัทประกัน จึงเกิดปัญหาการเคลมสินไหมต่างๆ มากมาย
“ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก ‘ประกันคุ้มครองโรคร้าย’ สักกรมธรรม์ ควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ใน 3 มุมมอง เพื่อความคุ้มค่าสำหรับวันนี้ที่ต้องชำระเบี้ยประกัน และคุ้มครองเมื่อถึงวันที่ต้องการเคลมสินไหม”
มุม “สวัสดิการ”
ก่อนตัดสินใจเลือกประกันคุ้มครองโรคร้ายควร “สำรวจสวัสดิการของตัวเองก่อน” ซึ่งในบางครั้งพบว่า หลายคนมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของทางบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ รวมถึงสิทธิประกันสังคม หรือแม้แต่ซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเอาไว้ จึงควรดูว่าสวัสดิการเหล่านี้ได้ครอบคลุมไปถึงในส่วนของความคุ้มครองโรคร้ายแรงด้วยหรือไม่ ครอบคลุมวงเงินในการรักษามากน้อยเพียงใด และระยะเวลาในการคุ้มครองเป็นอย่างไร
“เนื่องจากการรักษาโรคร้ายแรงเป็นการรักษาต่อเนื่องบางครั้งใช้ระยะเวลายาวนานในการรักษา เช่น อาจมองว่าสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของบริษัทที่ทำงาน มีวงเงินสูงซึ่งเป็นสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน แต่สิทธินี้จะหมดไปหากพ้นสภาพความเป็นพนักงาน หากใช้สิทธิในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บธรรมดาก็ถือได้ว่าครอบคลุม แต่หากรักษาโรคร้ายแรงและต้องหยุดงานเป็นระยะเวลายาวนาน จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าบริษัทยังคงให้สถานภาพเป็นพนักงานอยู่ตลอดไปจนกว่าการรักษาจะสิ้นสุด”
สำหรับ “สิทธิประกันสังคม” ของผู้ประกันตน ‘มาตรา 33’ และ ‘มาตรา 39’ ในส่วนที่เกี่ยวกับ “โรคมะเร็ง” ประกันสังคมได้กำหนดการรักษาโรคมะเร็งไว้ 20 ชนิด (ที่มา: ประกาศคณะกรรมการการแพทย์เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562) ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลที่เลือกไว้ได้ โดยให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา ไม่มีจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษาและไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน ยกเว้นยาที่อยู่นอกเหนือบัญชียาหลัก ซึ่งสิทธิผู้ประกันตนไม่ครอบคลุม
“กรณีรักษาโรคมะเร็งที่อยู่นอกเหนือจาก 20 ชนิดดังกล่าว ให้จ่ายค่ารักษาได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี (ในความเป็นจริงอาจไม่พอกับค่ารักษาที่ได้จ่ายไปจริง)”
สำหรับผู้ที่ซื้อประกันชีวิตพร้อมแนบสัญญาพิเศษเพิ่มเติมการ “ประกันสุขภาพตามมาตรฐานใหม่” (New Health Standard) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทประกันไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเป็นผลให้ผู้เอาประกันสามารถรักษาตัวต่อเนื่องได้ เพียงแต่บริษัทประกันอาจจะพิจารณาในการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยทั้ง Portfolio ของผู้เอาประกันทุกคนหากว่ามีอัตราการเคลมในแต่ละปีสูง หรือเมื่อผู้เอาประกันมาต่อสัญญาในปีต่อไป บริษัทประกันอาจให้ต่อสัญญาแบบมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) คือ ร่วมกันแชร์ค่าใช้จ่ายการรักษาในแต่ละครั้ง
โดย “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” (คปภ.) กำหนดกรอบไว้ว่า บริษัทประกันสามารถกำหนดแต่ละกรณีเป็นแบบ Copayment ได้ไม่เกิน 30% ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง และหากผู้เอาประกันเคลมสินไหมจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เกิน 2 กรณีขึ้นไป ก็ให้สิทธิบริษัทประกันมีการปรับเบี้ยปีต่อ Copayment เป็น 50% ซึ่งสูงสุดเท่าที่ คปภ. อนุมัติ ส่งผลให้เบี้ยประกันปรับลดลง 50% ด้วยเช่นกัน (ที่มา : คำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐานสำหรับบริษัทประกันชีวิต)
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024