ข่าวการเงิน
หลายคนคงเริ่มได้รับผลกระทบจากดอกบี้ยเงินกู้ที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
ยิ่งหันมาดูบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็อาจยิ่งท้อแท้กับดอกเบี้ยรับเพียงหยิบมือเดียว
ดังนั้น บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD
จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออมเพื่อรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
เมื่อเทียบกับเงินฝากออมทรัพย์แบบปกติที่เราคุ้นเคย แล้วบัญชีเงินฝาก FCD
คืออะไร? บทความนี้จะ BRIEF ให้คุณฟัง
FCD หรือ Foreign Currency Deposit
เป็นบัญชีเงินฝากสำหรับผู้ที่ต้องการฝากเงินเป็นสกุลต่างประเทศ
ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทเช่นเดียวกันบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาท คือ
บัญชีออมทรัพย์, บัญชีกระแสรายวัน และบัญชีฝากประจำ
ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ แข่งขันกันออกเงินฝาก FCD กันมากขึ้น
และดึงดูดผู้ฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง
ตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก เช่น บัญชี FCD
สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นเงินฝากประจำให้ดอกเบี้ยขั้นต่ำสูงถึง 5% ต่อปี
โดยปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ ในไทยเปิดรับเงินฝาก FCD มากกว่า 15
สกุลเลยทีเดียว
ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์เน้นให้บริการเงินฝาก FCD กับลูกค้าธุรกิจ
โดยเฉพาะผู้ส่งออกและนำเข้า รวมถึงผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมด้านต่างประเทศ
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน จนกระทั่งในปี
2563 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายเกณฑ์บัญชี FCD ครั้งใหญ่
และเป็นการปลดล็อกให้คนไทยทุกคนสามารถใช้บัญชี FCD
ได้ง่ายขึ้นเหมือนการใช้บัญชีเงินบาท กล่าวคือ เปิดง่ายขึ้น ไม่จำกัดวงเงิน
และโอนเงินในประเทศระหว่างบัญชี FCD
ของคนไทยด้วยกันได้อย่างเสรีขึ้นอีกด้วย ทำให้บัญชีเงินฝาก FCD
ได้รับความสนใจมากขึ้น
บัญชี FCD มีดีอะไร ?
สำหรับบุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย สามารถใช้ประโยชน์จากบัญชี FCD
เป็นเครื่องมือในการบริหารเงิน ออมเงิน และลงทุน เช่น
พ่อแม่ที่กำลังวางแผนส่งลูกไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ อาจเปิดบัญชีเงินฝาก FCD
สกุลเงินปอนด์ เพื่อเป็นทุนการศึกษา
หรือเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกเมื่อถึงเวลาเดินทาง
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่วางแผนบินไปสหรัฐอเมริกาเพื่อ Work and Travel
ก็สามารถเปิดบัญชี FCD สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เตรียมการไว้ก่อนได้
สำหรับผู้ฝากเงินที่ต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น
บัญชีเงินฝาก FCD ก็เป็นทางเลือกการออมที่น่าสนใจ นอกจากนี้
ผู้ฝากเงินที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็อาจต่อยอดด้วยการนำเงินฝาก FCD
ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ อาทิ ตราสารหนี้
หรือหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ซึ่งในส่วนของนักลงทุนก็อาจใช้ประโยชน์จากบัญชี FCD
ในการบริหารเงินออมและเงินลงทุนได้เช่นกัน
บัญชี FCD มีความเสี่ยงหรือไม่ ?
โดยพื้นฐานแล้วเงินฝากเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำสุด
แต่เงินฝาก FCD จะมีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝากสกุลเงินบาท
เพราะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ บัญชีเงินฝาก FCD
ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีกด้วย ดังนั้น
ผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีประเภทนี้จึงควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขของบัญชีให้ชัดเจน
บัญชี FCD มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ?
แม้ ธปท. จะผ่อนคลายกฎระเบียบบัญชีเงินฝาก FCD ลงมามาก
รวมถึงการเปิดเสรีในหลาย ๆ เงื่อนไข
เพื่อให้ผู้ฝากเงินรายย่อยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แต่ธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการเงินฝากประเภทนี้ก็มีข้อกำหนดในการเปิดบัญชีที่แตกต่างกันออกไป
โดยเงื่อนไขหลัก ๆ ได้แก่ วงเงินฝากขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย
และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการฝาก – ถอนเงิน
ค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชี
กรณีที่เงินฝากไม่มีการเคลื่อนไหว
ทั้งนี้
สินทรัพย์ทางการเงินทุกประเภทมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงอยู่ในตัวเสมอ
เช่นเดียวกับบัญชีเงินฝาก FCD ที่สามารถช่วยคุณบริหารเงินออม
และวางแผนทางการเงินได้สะดวกขึ้น พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
แต่เรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวังเช่นกัน ดังนั้น
เราจึงควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้อย่างรอบด้านก่อนเปิดใช้บริการ
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับbeartai
https://www.beartai.com/brief/1326496
30/04/2024
03/09/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024