ข่าวการเงิน

สร้างฝันวันเกษียณด้วยหลักการ 3 ป.


บทความโดย “ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์” 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 การเกษียณอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะได้มีความพร้อมอย่างรอบด้าน สำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ สำหรับด้านการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วนอกจากจะมี “แผนการ” ที่ดีแล้ว

สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ “การลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ คำว่าบรรลุเป้าหมายสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น อาจหมายถึงการมีเงินเพียงพอ ที่จะใช้เพื่อดำรงชีพไปตลอด จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการวางแผนการเกษียณ และการลงมือทำอย่างมีหลักการจะช่วยให้เรามีความพร้อมทางด้านการเงิน ซึ่งมีส่วนสำคัญจะส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

วันนี้ผมจะขอนำหลักการ 3 ป. ซึ่งเป็นหลักการบริหารที่สามารถใช้ได้ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเกษียณ ซึ่งหลัก 3 ป. นั้น ประกอบไปด้วย ป.ประสิทธิผล ป.ประสิทธิภาพ และ ป.ประหยัด ซึ่งหลักการเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้าง ทำให้สามารถสร้างฝันวันเกษียณได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ป.ประสิทธิผล

ประสิทธิผล (Effectiveness) นั้นหมายถึง การบรรลุผลหรือเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เมื่อมามองในด้านการวางแผนเกษียณแล้ว ประสิทธิผลเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทาง เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อถึงวันเกษียณควรจะต้องมีรายได้หลังเกษียณ (Retirement Income) และแหล่งการลงทุนต่าง ๆ เพียงพอที่จะดำรงชีวิตในช่วงเกษียณอายุ

ขั้นตอนแรกสู่การบรรลุประสิทธิผล คือ การกำหนดเป้าหมายการเกษียณของตัวเอง โดยเป้าหมายจะเป็นทิศทาง (Direction) ให้เห็นแนวทางในการเริ่มต้นลงมือทำ และเริ่มจัดการกับอุปสรรคที่จะทำให้ความฝันวันเกษียณไม่ราบรื่น สำหรับเป้าหมายในด้านการเกษียณนั้น ผมจะขอแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่จะทำให้เป้าหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้

ประเด็นแรก “เวลา” โดยคำถามสำคัญ คือ เราต้องการเกษียณในช่วงอายุใด และจะมีระยะเวลาหลังเกษียณอยู่อีกนานเท่าใด (อาจประมาณจากอายุเฉลี่ยของสมาชิกในครอบครัว) สำหรับความเสี่ยงจากประเด็นด้านเวลา คือ อายุยืนเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Longevity Risk) ทำให้เงินที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นในการวางแผนเกษียณควรจะเผื่อเวลาให้อายุยืนยาวออกไปหน่อย

ประเด็นที่สอง คือ “ค่าใช้จ่าย” คำถามประเด็นนี้ คือ ในช่วงเวลาหลังเกษียณเราจะใช้เงินทั้งหมดประมาณเท่าไร ซึ่งเป็นการประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณควรจะต้องคำนึงถึง เงินเฟ้อ ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ดูแลรถยนต์ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่าง ๆ

ประเด็นที่สาม “รายได้” แหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งอาจมีรายได้จาก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำนาญจากประกันสังคม บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจาก กบข. และเงินออมส่วนบุคคลต่างๆ เป็นต้น

สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ จะบริหารเงินลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากเงินเหล่านี้ได้อย่างไร และในกรณีที่ยังต้องการทำงานอยู่ อาจเลือกงานที่มีชั่วโมงทำงานลดน้อยลง เพื่อให้มรายได้จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านใดที่ต้องการวางเป้าหมายการเงินอย่างครอบคลุม อาจพิจารณาปรึกษานักวางแผนการเงิน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เป้าหมายได้มี ป.ประสิทธิผล

ป.ประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึงการบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยและได้ผลกลับมามาก สำหรับด้านการวางแผนเกษียณ และการลงมือปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพนั้น เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น

วิธีหนึ่งในการบรรลุประสิทธิภาพ คือ การบริหารภาษีโดยใช้สิทธิ การลงทุนที่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุมีประสิทธิภาพ เช่น หากเป็นข้าราชการให้พิจารณาเลือกใช้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับพนักงานเอกชน แนะนำให้พิจารณากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว การลงทุนเหล่านี้นับว่าเป็นการสร้างวินัยอัตโนมัติให้กับตัวเรา

หลังจากนั้นหากมีเงินเหลือ พิจารณาลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)โดยอาจปรึกษานักวางแผนทางการเงิน ในการเลือกแผนการลงทุน การเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนต่างๆ เช่น การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว

ป.ประหยัด

การประหยัด (Economy) หมายถึง การบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีความยับยั้งชั่งใน ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับฐานะ และหากมองในด้านการเกษียณ การประหยัดนั้นเกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการใช้ชีวิต โดยอาจจะถามตัวเองก่อนใช้จ่ายว่า สิ่งที่เราจะซื้อนี้เป็นสิ่งจำเป็นหรืออยากได้ แล้วถึงค่อยตัดสินใจซื้อสิ่งนั้น และในการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุน

ซึ่งหมายถึง การเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีต้นทุนไม่สูงนัก กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) และในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์ก็ควรต้องระวังค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน

โดยสรุป หลักการทั้ง 3 ป. นั้น ได้แก่ ป. ประสิทธิผลเป็นหลักการที่มีนำหนักและสำคัญที่สุด เป็นเป้าหมายปลายทางที่ต้องเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุผล นั่นคือการมีเงินเพียงพอที่จะใช้ดำรงชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ

สำหรับ ป.ประสิทธิภาพ คือ กระบวนการระหว่างทางที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย โดยหลัก ป.ประหยัดจะคอยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแผนการเงินได้ในทุกช่วงวัย และเมื่อนำสามหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ก็จะส่งเสริมให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติประสบความสำเร็จในการเกษียณ เรียกได้ว่าจะเกษียณอย่างเกษมแน่นอน


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-1430680

X