ข่าวการเงิน

แบงก์ปิดสาขาทั่วประเทศ 196 แห่ง ลดต้นทุน-ลุยดิจิทัลเต็มสูบ


แบงก์เดินหน้าลดสาขา-จุดให้บริการต่อเนื่องในปี 2567 หวังบริหารจัดการต้นทุน-ลุยช่องทางโมบายแบงกิ้งเต็มสูบ เปิดข้อมูลปี’66 ปิดสาขาเกือบ 200 แห่ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงานยังเพิ่ม ทั้งระบบกว่า 1.24 แสนคน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้สัญญาณแบงก์ลดสาขาต่อแต่ไม่รุนแรง ตอบโจทย์ลดต้นทุน-พฤติกรรมเปลี่ยน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯปิดมากสุด “ทีทีบี” ปรับรูปแบบ-ไซซ์เล็กลง จ่อเพิ่มในพื้นที่ EEC หลังปริมาณธุรกรรมพุ่ง “CIMBT” ส่อง 3 ปัจจัยหนุนแบงก์ลดสาขา “ลดต้นทุน-เทรนด์ดิจิทัลโต-โรดแมป ธปท.”

ปี’66 ปิดสาขาเกือบ 200 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสรุปจำนวนสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ เดือนธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,489 แห่ง ลดลง 196 แห่ง จากเดือนธันวาคม 2565 ที่มีจำนวน 5,685 แห่ง

โดยกลุ่ม 6 ธนาคารใหญ่ ณ สิ้นปี 2566 พบว่า ธนาคารกรุงไทย มีสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดจำนวน 966 แห่ง มีการปรับลดลง 29 แห่ง จากปีก่อนหน้า, ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ มีจำนวน 882 แห่ง ปรับลดลง 9 แห่ง, ธนาคารกสิกรไทย มีจำนวน 814 แห่ง ปรับลดลงไป 16 แห่ง, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 729 แห่ง ปี 2566 ที่ผ่านมามีการปรับลดสาขาและจุดให้บริการ 72 แห่ง

อันดับ 5 คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 604 แห่ง ปรับลดลง 28 สาขา และธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี มีจำนวน 532 แห่ง ปรับลดลง 37 แห่ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารไทยเครดิต ที่เป็นธนาคารน้องใหม่ เป็นแห่งเดียวที่มีสาขาและจุดให้บริการเพิ่มขึ้น โดย ณ เดือนธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 525 แห่ง เพิ่มขึ้น 3 แห่ง จากเดือนธันวาคม 2565 ที่มีอยู่ 523 แห่ง

ค่าใช้จ่ายพนักงานยังเพิ่ม

สำหรับข้อมูลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ของไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 39,843 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 ที่อยู่ 39,536 ล้านบาท และไตรมาสที่ 3/2565 ที่อยู่ 39,671 ล้านบาท

ขณะที่จำนวนพนักงาน ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 124,271 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่อยู่ 124,033 คน แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2565 อยู่ที่ 125,242 คน

ลดสาขาตอบโจทย์ลดต้นทุน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสาขาธนาคารพาณิชย์ในระบบของปี 2567 มองว่า นโยบายยังคงทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและความคุ้นชินในการทำธุรกรรม Digital Payment อย่างไรก็ดี อัตราการลดลงของสาขาจะชะลอลงเมื่อเทียบช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารได้ปิดและปรับรูปแบบไปก่อนหน้านี้ค่อนข้างมากแล้ว

ภาพการปรับลดลงจะเห็นทั้งในส่วนของสาขาและจุดให้บริการ จากเดิมจะเห็นการลดเฉพาะสาขา และเพิ่มจุดให้บริการแทน ทั้งนี้ เป็นการลดลงในทุกภาคของประเทศ แต่จุดที่มีการปรับสาขาลงเยอะสุด คือ กรุงเทพฯ สอดคล้องกับพฤติกรรมและปริมาณการทำธุรกรรมในการใช้บริการด้านออนไลน์มากขึ้น

โจทย์เรื่องสาขาของธนาคารยังเป็นภาพเดิมของการบริหารต้นทุน ซึ่งแนวโน้มอาจเห็นการพิจารณายุบสาขาในห้างมากขึ้น เนื่องจาก 1 ธนาคาร อาจจะไม่ได้มีอยู่ในทุกห้างสรรพสินค้า หากพื้นที่อยู่บริเวณใกล้กัน โดยรูปแบบอาจมีการปิดสาขา ควบรวม หรือย้ายพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนให้คนใช้ช่องทางบริการอื่น เช่น โมบายแบงกิ้ง และทำให้ช่องทางการขายที่มีอยู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ภายใต้แนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เรื่อง Open Data คือการเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้าระหว่างธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้บริบทของสาขาและจุดให้บริการของธนาคารแตกต่างไปจากเดิม ทำให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้น ทำให้ความจำเป็นของสาขาและจุดให้บริการจะลดลง จะเหลือแต่สาขาที่ไว้ทำธุรกรรมซับซ้อน และที่เหลือจะถูกโอนไปบนแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง”

ttb ปรับรูปแบบ-ลดไซซ์

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางสาขาของธนาคารยังคงปรับลดลง แต่อัตราการปรับลดลงคงไม่ได้เร่งมากเมื่อเทียบกับในอดีต เพราะมีการปรับลดลงไปพอสมควรแล้ว ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณธุรกรรมสาขามีน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาจจะใช้วิธีการควบรวมสาขา หรือย้ายไปในพื้นที่ไม่ทับซ้อนกัน เป็นต้น

ขณะดียวกันรูปแบบสาขาอาจจะเห็นการปรับเปลี่ยนไป โดยมีการปรับลดขนาดพื้นที่สาขาให้เล็กลง ลดจำนวนพนักงานเฉลี่ยต่อสาขาลง เนื่องจากไม่เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยจะปรับการทำธุรกรรมที่ไม่ซับซ้อนประมาณ 90% โยกไปอยู่บนโมบายแอปพลิเคชั่น “ttb touch” หรือออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงเรื่องการขอ Statement เพื่อทำวีซ่า แม้กระทั่งการขอหนังสือค้ำประกัน (L/G) หรือการนำเช็คเข้าบัญชี เป็นต้น

เพิ่มสาขาพื้นที่ EEC ธุรกรรมพุ่ง

อย่างไรก็ดี นายฐากรกล่าวว่า ธนาคารยังมีแผนการเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติมเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง พบมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างดี เห็นสัญญาณของปริมาณธุรกรรมการเงินที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องตามการเติบโตของสังคมเมือง จึงอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่และการเปิดสาขาเพิ่มเติม เพราะเป็นโอกาสขยายธุรกิจของธนาคาร คาดว่าภายใน 6 เดือนน่าจะสามารถสรุปได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2567 ทีทีบีจะมีการปรับลดสาขาลงราว 10 แห่ง

“สาขาคงปรับลดลงอีก แต่อัตราลดลงคงไม่เยอะ เพราะถือว่าช่วงก่อนหน้านี้ก็ปรับลดลงไปค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งปีนี้เราคาดว่าจะลดลงอีก 10 แห่ง แต่ก็มีเปิดเพิ่มด้วย ซึ่งเรากำลังศึกษาในพื้นที่ EEC เราเห็นธุรกรรมเยอะขึ้น ซึ่งสาขาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เพราะมีการเกิดขึ้นของคอมมิวนิตี้ บ้านและชุมชน จึงเป็นโอกาสที่จะเปิดสาขารองรับ”

กรุงศรีฯสาขาเริ่ม “จุดสมดุล”

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลดสาขาในปี 2567 ทิศทางน่าจะเห็นการปิดสาขาเริ่มลดลงและเข้าจุดสมดุลมากขึ้น

เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าธนาคารปรับลดจำนวนสาขากันเยอะพอสมควรแล้ว รวมถึงมีการปรับรูปแบบสาขาให้สอดคล้องตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น สาขา Smart Branch ที่เน้นเครื่องอัตโนมัติ และสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้ง ทำให้เทรนด์การปิดสาขาเริ่มชะลอลง

3 ปัจจัยหนุนแบงก์ลดสาขา

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์และธนาคารดิจิทัล และรักษาการผู้บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสาขาของธนาคารยังคงเห็นการลดลงต่อเนื่อง แต่จะเห็นการปรับลดลงจำนวนไม่มากเหมือนช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับลดทั้งสาขา และเครื่องเอทีเอ็มลงค่อนข้างมาก โดยมาจาก 2-3 ปัจจัยด้วยกัน

ได้แก่ 1.ธนาคารต้องการบริหารจัดการต้นทุน เนื่องจากสาขามีต้นทุนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับช่องทางบริการอื่น ๆ เช่น ดิจิทัล เนื่องจากสาขามีต้นทุนทั้งในส่วนของคน ค่าเช่าพื้นที่ ทำให้ธนาคารลดจำนวนสาขาลง โดยเฉพาะในส่วนของสาขา Stand Alone ที่มีปริมาณธุรกรรมน้อยลง ไม่คุ้มกับต้นทุนบริหารจัดการ อาจจะมีการควบรวมในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงหันไปเปิดบนศูนย์การค้ามากขึ้น

2.ทิศทางดิจิทัล ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่มีระบบยืนยันตัวตน (e-KYC) และสามารถเปิดบัญชีออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องไปสาขา หรือการทำธุรกรรมพื้นฐานผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งได้เช่นกัน ทำให้ความจำเป็นของสาขาธนาคารลดลงตามพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

และ 3.สอดคล้องกับแผนการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องการเพิ่มปริมาณการใช้ Digital Payment เป็น 2.5 เท่าภายใน 3 ปี และลดการใช้เงินสดด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่า ภายใน 3 ปี (2565-2567) จะเห็นว่า ธปท.พยายามผลักดันเรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศ (QR Cross Border) หลังจากพร้อมเพย์ในประเทศประสบความสำเร็จ รวมถึงแผนการอนุมัติจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้เจาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Under Bank) และยังมีอีกหลายแผน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนคนไทยใช้ดิจิทัลมากขึ้น

“จาก 3-4 ปัจจัยเป็นเหตุผลที่ทำให้สาขาธนาคารลดลง เพราะแบงก์ต้องการลดต้นทุนเรื่องสาขา พฤติกรรมและเทรนด์ดิจิทัล และโรดแมปของ ธปท. ดังนั้นภาพเรายังคงเห็นสาขาและตู้เอทีเอ็มลดลงอยู่ ซึ่งโดยปกติทั้งระบบจะลดลงเฉลี่ย 10% ต่อปี แต่ภาพการลดลงคงไม่ได้ลดรุนแรงเหมือนในอดีต”


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-1496196

X