ข่าวการเงิน
เงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลอย่างไรบ้าง และน่ากลัวแค่ไหนกัน?
วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เชื่อว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินคำ “เงินเฟ้อ” กันอย่างหนาหู ซึ่งเงินเฟ้อเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของทุกคนโดยตรง แต่บางคนอาจจะยังสงสัยว่าเงินเฟ้อคืออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร และน่ากลัวแค่ไหน ”ประชาชาติธุรกิจ” พาทุกคนมาทำความรู้จักกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลอย่างไรต่อเงินในกระเป๋าเราบ้าง
เงินเฟ้อ = ของแพงขึ้น
เงินเฟ้อคือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีปริมาณหรือคุณค่าเท่าเดิม นั่นหมายความว่า เมื่อเราใช้เงินเท่าเดิมในการซื้อสินค้าหรือบริการ เราจะได้สินค้าและบริการที่มีปริมาณลดลง เรียกง่าย ๆ ว่าเงินของเรามีมูลค่าที่ลดลงนั้นเอง ซึ่งสาเหตุของเงินเฟ้อมี 3 สาเหตุหลัก
1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
อธิบายง่าย ๆ ก็คือการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาลที่เห็นได้ชัดเจนคือ โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ที่จะจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนโดยตรง หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีเงิน ทำให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน (เมื่อสินค้ามีความต้องการมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเพิ่มกำลังการผลิต หรือจ้างงานมากขึ้น ทำให้ต้องเสียค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น) การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้
ต้นทุนการผลิตคือสิ่งที่ใช้พิจารณานโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงขึ้นผู้บริโภคต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
3. การที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก (Printing Money Inflation) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในระบบ เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาช่วงปี 1980 รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่มีเงินจึงพิมพ์เงินเพิ่ม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) คนมีเงินมากขึ้นแต่ซื้อของไม่ได้ เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือไม่มีสินค้าขาย หรือในอีกแง่หนึ่งคือ มูลค่าเงินด้อยค่าลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ประเภทของเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คืออัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป (CPI) ครอบคลุมราคาสินค้า ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่น ๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ
2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่หักสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก เนื่องจากเป็นหมวดที่มีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด
เงินเฟ้อกระทบเราอย่างไร
ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบให้กับทุกระดับที่อยู่รวมกัน เพราะการดำรงอยู่ของประเทศมีองค์ประกอบหลายระดับ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังนี้
1. ผลกระทบต่อประชาชน
ผลกระทบแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ ผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเป็นคนส่วนมากที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และผลกระทบจะยิ่งหนักขึ้น หากรายได้ที่ได้รับมีค่าเท่าเดิม แบบนี้จะทำให้เงินออมต่อครอบครัวลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อยังส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอีกด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะมีมูลค่าที่น้อยลงนั่นเอง
2. ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินค้าและบริการให้กับประชาชนย่อมได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะราคาสินค้าและบริการมีราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดขายน้อยลง ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจหลายรายมียอดขายที่น้อยลงจนต้องลดปริมาณการผลิตและพนักงานลง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ต้องแบกรับ หรือรุนแรงที่สุดก็คือต้องปิดกิจการทิ้งไป ทำให้ประชาชนตกงาน ไม่มีเงินรายได้นั่นเอง
3. ผลกระทบต่อประเทศ
อัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจในช่วงเงินเฟ้อจะมีอัตราที่น้อยจนบางครั้งถึงขั้นติดลบกันเลยทีเดียว ดังนั้น หากเกิดภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้ชาติขาดสภาพคล่องทางการเงิน เกิดภาวะฟองสบู่ และภาระหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้ประเทศต้องแบกรับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีราคาที่สูงขึ้นเกินความเป็นจริง ถึงแม้จะฟังดูเหมือนเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับคนที่ซื้อขายเพื่อเก็งกำไรจะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะเมื่อราคาสูงขึ้นความต้องการในการซื้อย่อมลดลงนั่นเอง
เงินเฟ้อน่ากลัวแค่ไหน
แน่นอนว่าเมื่อเงินเฟ้อคือการที่ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่รายได้หรือมูลค่าของเงินในมือกับมีมูลค่าเท่าเดิม ดังนั้น ผลเสียของเงินเฟ้อหลัก ๆ ก็คือ ทำให้ค่าของเงินในอนาคตลดลง เช่นในวันนี้เรามีเงิน 100 บาท อาจกินข้าวได้ 2 มื้อ แต่ในอนาคตเงิน 100 บาท อาจกินข้าวได้แค่มื้อเดียว เป็นต้น
นั่นแปลว่าเราจะต้องซื้อของแพงขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาบ้าน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย แต่เงินในกระเป๋ามีเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นไม่สัมพันธ์กับราคาของที่แพงขึ้น ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ทำให้หนักอกหนักใจไม่น้อย
วางแผนรับมือเงินเฟ้ออย่างไร
เมื่อภาวะเงินเฟ้อคือภาวะที่ส่งผลกระทบกับตัวชีวิตประจำของเราโดยตรง ดังนั้น จึงต้องเตรียมวางแผนรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไว้ก่อน เพื่อที่เราจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
1. ออมเงิน
การออมเงินเป็นการเตรียมเงินสำรองสำหรับชีวิตที่ดีที่สุด เพราะหากเกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว สินค้าและบริการมีราคาที่สูงขึ้น หากเรามีเงินออมแสดงว่าเราจะมีเงินสำหรับใช้ซื้อสินค้าและบริการที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่เป็นหนี้
2. วางแผนการเงิน
การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ชีวิตมีความมั่นคง เพราะเราจะรู้ว่าเงินที่มีอยู่จะต้องใช้จ่ายส่วนใดบ้าง และทำให้จัดสรรชีวิตให้เป็นระบบได้
3. หาแหล่งรายได้เพิ่ม
แหล่งรายได้ไม่ควรมีเพียงอย่างเดียว เพื่อความมั่นคงของชีวิตควรมีแหล่งรายได้อย่างน้อย 2-3 ช่องทาง เพื่อเหตุฉุกเฉินหากช่องทางใดช่องทางหนึ่งหายไป เรายังมีรายได้จากช่องทางหนึ่งมาสำรองอยู่ ดังนั้น คุณควรหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองด้วย
สำหรับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่อยู่ในระดับที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของใครหลายคน แต่ทางที่ดีทุกคนควรเตรียมความพร้อมด้วยการวางแผนการเงิน เก็บออมและหารายได้เสริม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ย่อมดีกว่าได้รับผลกระทบแล้วค่อยแก้ไขย่อมดีที่สุด
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
30/04/2024
08/05/2024
23/04/2024
30/04/2024
30/04/2024