หุ้น
3 สิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้
เมื่อ"หุ้นกู้"ที่ถืออยู่ผิดนัดชำระ (Default Payment:DP) ควรทำอย่างไร
ในสถานการณ์ที่หุ้นกู้เอกชนใกล้จะครบกำหนดชำระคืนปี 67 มีถึง 1.1
ล้านล้านบาท
จำนวนหุ้นกู้เอกชนที่กำหนดจะครบชำระคืนในปี 2567 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งบางบริษัทก็อาจขาดสภาพคล่องได้ โดยอัพเดทถึงปัจจุบัน (18 ธ.ค. 66 )
พบมีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) แล้วทั้งสิ้น 7 บริษัท
มูลหนี้รวมกว่า 22,295 ล้านบาท
การลงทุนในหุ้นกู้ แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น
แต่ก็มีความเสี่ยงสูงสุดที่อาจเกิดได้
นั่นคือการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้
ผู้ลงทุนในหุ้นกู้แล้วจึงควรติดตามข้อมูลข่าวบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะงบการเงินซึ่งบ่งบอกถึงฐานะการเงินของบริษัท
นอกจากนี้อาจจะดูข้อมูลจาก Credit Rating ที่จัดอันดับ
ว่าหุ้นกู้ที่เราลงทุนไปนั้นมีการจัดอันดับเปลี่ยนแปลงหรือไม่
หากเปลี่ยนไปในทิศทางด้อยลง ก็อาจจะต้องดูเป็นพิเศษ
นอกจากนี้นักลงทุนบางคนลงทุนใน High Yield Bond พูดง่าย ๆ ก็คือ
บริษัทผู้ออกได้ Credit Rating น้อย เช่น BBB– ลงมา
ก็อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะหุ้นกู้ประเภทนี้มักให้ดอกเบี้ยที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
จึงมีโอกาสที่ High Yield Bond จะมีโอกาสผิดนัดชำระมากกว่า Investment
Grade Bond
หากหุ้นกู้ผิดนัดชำระ ผู้ลงทุนควรทำอย่างไร?
1. หาใบหุ้นกู้เพื่อดูว่าผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เราเป็นใคร
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ
ผู้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้ลงทุน พูดง่าย ๆ คือ
จะคอยดูแลว่าผู้ออกหุ้นกู้ได้ทำตามเงื่อนไขที่มีในหุ้นกู้ ครบถ้วนหรือไม่
และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นผู้เรียกจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุป
หลังจากนั้นหากผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตาม
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน
และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้
ดังนั้นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการช่วยฟ้องร้อง
บังคับหลักประกัน และเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน
ให้ข้อมูลต่างๆกับนักลงทุน
2. ต้องรู้ว่าตัวเองถือหุ้นกู้ประเภทใด? และรุ่นไหน
เราต้องดูว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่เป็นหุ้นกู้ประเภทใดเพื่อดูสิทธิ์ลำดับในการชำระ
เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ที่ถือมีหลักประกันหรือไม่
หากหุ้นกู้ที่ถือมีหลักประกัน หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย
หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ
หรือมีคำสั่งให้ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้
และผู้ถือหุ้น จะได้รับคืนตามสัดส่วนตามลำดับสิทธิ์ เท่านั้น
3. ลำดับสิทธิ์ในการรับชำระคืนหุ้นกู้
หุ้นกู้มีประกัน -> หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ->
หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและด้อยสิทธิ -> หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ->
หุ้นบุริมสิทธิ -> หุ้นสามัญ
ทั้งนี้
ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตัวเองถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร
(Factsheet) ของหุ้นกู้ ซึ่งจะมีลำดับการชำระหนี้แจ้งอยู่
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) , Krungsri The COACH
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับฐานเศรษฐกิจ
https://www.thansettakij.com/finance/stockmarket/583578
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
21/06/2024