ภาษี
ทุกๆ ธุรกิจต่างก็ต้องเสียภาษี โดยหากวางแผนภาษีได้ดี
ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น โดยรายจ่ายที่กิจการมักจะมองข้ามคือ
"การบริจาค" ทราบหรือไม่ว่า
การบริจาคบางประเภทสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุดถึง 2 เท่า
แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน เมื่อมีรายได้ย่อมต้องเสียภาษี ซึ่งในระหว่างปีภาษีนั้นๆ เจ้าของกิจการที่จดบริษัทเป็น "นิติบุคคล" สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเสียภาษีได้
และรายจ่ายที่กิจการมักจะมองข้ามคือ “การบริจาค” ซึ่งในกรณีที่มีการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินในนามนิติบุคคลจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โดยเฉพาะการบริจาคบางประเภท สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุดถึง 2 เท่า แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดดังนี้
• หลักการบริจาคพื้นฐานเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี
สำหรับกิจการที่มีการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับหน่วยงานต่างๆ
สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระทางภาษีได้ต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็น
“กรณีทั่วไป” และ “กรณีพิเศษ” ดังนี้
1.กรณีทั่วไป
1.1 หักได้ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ
- บริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ ประกอบด้วย
1) วัด สภากาชาดไทย
2) สถานพยาบาล สถานศึกษาของราชการ
3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นที่ รมว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- บริจาคเพื่อการสาธารณประโยชน์
- บริจาคให้กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ
- บริจาคให้
1) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2) กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
3) กองทุนคุ้มครองเด็ก
- บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น
- บริจาคให้กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
1.2 หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ
- บริจาคการศึกษา และการกีฬา
- บริจาคให้กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
2.กรณีพิเศษ
2.1 หักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ
- บริจาคให้สถานศึกษา ตามโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ
- ค่าใช้จ่ายสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬาเอกชน
- บริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
- รายจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งหรือสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- บริจาคให้
1) โครงการฝึกอบรมอาชีพ และกิจกรรมเกี่ยวกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็ก ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
2) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
2.2 หักได้ 1 เท่า
ค่าใช้จ่ายที่จัดให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
• บริจาคให้สถานพยาบาลของทางราชการ
บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ที่บริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการ
สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคไป
ทั้งที่จ่ายเป็นเงินสดและทรัพย์สิน
แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
และต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง
และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ
หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ใช้ทั่วไป ไม่มีการเก็บค่าบริการ
หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการ ต้องไม่เกินร้อยละ
10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อ
สาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี
(3) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
ให้กับกิจการสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า
หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
• บริจาคเงินให้มูลนิธิผ่าน e-Donation หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า
ในส่วนของการบริจาคให้กับมูลนิธิ กิจการสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2
เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค
หากทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่มูลนิธิ 3 แห่ง ดังนี้
1. มูลนิธิชัยพัฒนา
2. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
3. มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า
หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมากจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว
ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
โดยการบริจาคผ่านระบบ e-Donation จะสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า
โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้
เพราะเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพกากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ
เพื่อความสะดวก
• บริจาคเพื่อส่งเสริมการศึกษา หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า
กิจการที่บริจาคเงินและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ
สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายไป
แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10
ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา
โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.
นิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ
สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล
โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
1.1 บริจาคในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ได้แก่
- สถานศึกษาตามโครงการพระราชดำริ
- สถานศึกษาตามนโยบายที่จะระดมพลังเพื่อเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพ
- สถานศึกษาที่รองรับพัฒนาเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ
1.2 บริจาคให้แก่สถานศึกษาตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด
1.3 บริจาคเพื่อการจัดหา หรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดินหรือที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางศึกษา
1.4 บริจาคเพื่อการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา
หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
(กรณีบริจาคเป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์จะต้องเป็นของใหม่
ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน)
1.5 ต้องมีหลักฐานจากสถานศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปนั้น
เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
(มีใบเสร็จของสถานศึกษา)
หมายเหตุ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อใช้สิทธิตามมาตรานี้แล้ว
จะต้องไม่นำเงินบริจาคดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษาอีก
หมายเหตุ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิตามมาตรการนี้
จะต้องไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
2.
กรณีนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น
สวนสาธารณะ
สนามกีฬาของทางราชการหรือของเอกชนที่เปิดให้ริการเป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ
รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการนี้
เมื่อไปรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว
จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของ กำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ
หรือเพื่อสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
โดยหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไป
สรุป
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลายช่องทางการบริจาค
กิจการสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้มากน้อยต่างกัน
ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างน้อยที่สุดการบริจาคทุกๆ ครั้ง
ถือเป็นการทำบุญช่วยให้จิตใจเบิกบาน
มีแรงใจในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่
แถมได้โบนัสเป็นเงินเหลือจากการเสียภาษีน้อยลงอีกด้วย
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1031413
30/04/2024
30/04/2024
26/06/2024
31/07/2024
30/04/2024