ภาษี
ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป “กรมสรรพากร”
ได้ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จาก
“แหล่งเงินได้นอกประเทศ”
ผู้มีเงินได้จากต่างประเทศต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร
โดยปกติเมื่อ "บุคคลธรรมดา" มีรายได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หากเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทว่าตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
กรมสรรพากรได้ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ
เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and
Exchange of Information for Tax Purposes
และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคี (ข้อตกลงการค้าพหุภาคี
เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่สามประเทศขึ้นไป)
ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC)
และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ
(MCAA CRS)
ดังนั้น
จึงทำให้กรมสรรพากรมีความจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
ระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ
เงื่อนไขจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้
ㆍมีรายได้จากต่างประเทศต้องเสียภาษีอย่างไร
หากเป็นก่อนหน้านี้ที่กรมสรรพากรยังไม่มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ คือ
เมื่อใดก็ตามที่บุคคลทั่วไปมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือนอกประเทศ
ต้องนำรายได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเมื่อถึงเกณฑ์กำหนด
ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า แหล่งเงินได้จากนอกประเทศ
ประกอบด้วย การทำงานในต่างประเทศให้กับนายจ้างที่อยู่ต่างประเทศ
หรือทำงานในประเทศไทยแล้วส่งงานให้กับนายจ้างที่อยู่ต่างประเทศ
การไปประกอบกิจการในต่างประเทศและส่งเงินเข้ามาในประเทศไทย
การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น หุ้นหรือพันธบัตร
และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการส่งสินค้าในประเทศไทยออกไปขายยังต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นรายได้จากแหล่งนอกประเทศ
และถ้าผู้มีรายได้จากแหล่งนอกประเทศดังกล่าว
พักอยู่ในประเทศไทยในปีเป็นเวลา 180 วัน
ซึ่งอาจจะอยู่อย่างต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ แต่รวมระยะเวลาแล้วได้ถึง 180 วัน
โดยยึดระยะเวลาตามพาสปอร์ตของผู้มีรายได้
และนำเงินรายได้ที่ได้รับเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่เกิดรายได้
ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากรายได้ในส่วนนี้ด้วย
ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้มีรายได้นำเงินที่ได้รับเข้ามาในประเทศไทย
ในปีภาษีเดียวกันกับที่เกิดรายได้ แต่ไม่ได้พักอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน
โดยยึดระยะเวลาตามพาสปอร์ตของผู้มีรายได้
ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้
ㆍอัปเดต! เงื่อนไขมีรายได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ
และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566
กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566
เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ
หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้น
เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณ
เพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร
ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
กล่าวคือหากบุคคลธรรมดามีรายได้จากแหล่งนอกประเทศตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น
และมีการนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย
จะต้องนำรายได้จากแหล่งนอกประเทศนี้
มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในประเทศไทย
ㆍใช้ “อนุสัญญาภาษีซ้อน” เพื่อป้องกันการเสียภาษีซ้ำซ้อน
และถึงแม้ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนที่เป็นเงินได้จากแหล่งนอกประเทศก็ตาม
แต่หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว
ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
เก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน
ทั้งนี้ อนุสัญญาภาษีซ้อน หรือ Double Taxation Agreement (DTAs) คือ
สนธิสัญญาทางภาษีแบบทวิภาคี (Bilateral Treaties)
ที่เป็นการลงนามระหว่างประเทศไทย และประเทศคู่สัญญาต่างๆ เพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ในกรณีที่เงินได้ของบุคคลหนึ่งเข้าเกณฑ์การเสียภาษีมากกว่า 1 ครั้ง ภายใต้กฎหมายภาษีอากรของประเทศมากกว่า 1 ประเทศขึ้นไป
อธิบายแบบเข้าใจง่ายก็คือ
ถ้าบุคคลธรรมดามีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นประเทศคู่สัญญากับประเทศไทย
และได้เสียภาษีไว้แล้วกับแหล่งเงินได้ต่างประเทศนั้น
ผู้มีรายได้สามารถเก็บหลักฐานไว้เพื่อใช้เป็นเครดิตภาษีได้
ซึ่งอาจทำให้เสียภาษีในประเทศไทยน้อยลง
เนื่องจากสัญญานี้จะช่วยลดภาระการจ่ายภาษีที่ซ้ำซ้อนลงนั่นเอง
สรุป...จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนหรือไม่
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า
เมื่อกรมสรรพากรมีการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ
นอกจากจะช่วยสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีดังกล่าวแล้ว
ยังเสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ
เพื่อยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง
แต่ ณ ตอนนี้ ยังต้องรอทางกรมสรรพากรทบทวนอีกครั้ง
โดยต้องพิจารณาผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนรายย่อย
เนื่องจากมีความจำเป็นในการโอนเงินกลับเข้าประเทศไทยสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่
ที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินเท่ารายย่อย และผลกระทบอื่นๆ อีกด้วย
Source : Inflow Accounting
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
30/04/2024
29/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024