ข่าวทั่วไป
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดูแลตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและทรงคุณค่าตลอดเวลา
โดยเฉพาะในระดับบริหารที่มีการแข่งขันสูง ในเส้นทางการไต่เต้า
ถ้าไม่ระมัดระวัง เราอาจจะถลำเข้าไปในหลุมพรางทางอารมณ์โดยไม่รู้ตัว เช่น
มีความรู้สึกไม่มั่นคง หรือมีความวิตกกังวลมากเกินไปต่อความเห็นของผู้อื่น
หรือมีความมั่นใจในตนเองสูงเกินไป
หรืออาจจะเบื่อไม่สนุกกับการทำงานหนักเหมือนเมื่อก่อน
ทันทีที่เราตกลงไปในหลุมพรางเหล่านี้
ก็เป็นการยากที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นออกมา
เราจะสูญเสียมุมมองที่จำเป็นต่อการเห็นว่ามีอะไรผิดพลาดไปบ้าง
ต่อไปนี้คือ หลุมพรางทางอารมณ์ 6 ข้อ ที่เป็นบทเรียนสรุปจากผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับโลกว่า มักเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
1. Complacency ความพึงพอใจจนประมาท
คนที่เคยสร้างผลงานที่เป็นที่ยอมรับ
มักจะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำมาโดยตลอดนั้นดีแล้ว เชื่อมั่นว่า
ตัวเองรู้ดีที่สุด ไม่มีความตื่นเต้นต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ความช่างสงสัยและระมัดระวังหายไป มองไม่เห็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
มองสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ไม่ออกเพราะความชะล่าใจ
จึงไม่สามารถคิดในเชิงสร้างสรรค์ได้ วิธีแก้ไขก็คือ
ต้องให้คุณค่าต่อความกระตือรือร้น คอยเตือนตนเองอย่างสม่ำเสมอว่า
ตัวเราเล็กแค่ไหนในสิ่งที่เรารู้อย่างแท้จริง
ในโลกกว้างยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากมายรออยู่
2. Conservatism ความอนุรักษนิยม
คนที่ประสบความความสำเร็จในอดีต
ก็มักจะยึดติดกับความคิดและกลยุทธ์ที่เคยใช้ได้ดีตลอดมา
และเสพติดกับความสะดวกสบายที่เคยได้รับ
ไม่อยากเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือแนวทางใหม่ๆ การรักษาสถานภาพเดิมๆ
เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งต้องการการกระทำที่อาจหาญและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น ฉะนั้น
จึงไม่ควรปล่อยให้ความอนุรักษนิยมลักษณะนี้คืบคลานเข้ามา
3. Dependency การพึ่งพาอาศัย
ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะทำงานโดยพึ่งพาการกำกับแนะนำของหัวหน้าจนเคยชิน
เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจโดยอิสระด้วยตนเอง
การใช้ดุลยพินิจอย่างมีมาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เราต้องสามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดที่คุ้มค่าที่จะให้ความใส่ใจ
และสิ่งใดที่ควรจะมองข้ามไป
โดยพัฒนามาตรฐานภายในเกี่ยวกับคุณค่าของหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอย่างรอบคอบ
4. Impatience ความไม่อดทน
เป็นหลุมพรางที่หลอกเราอยู่เสมอ เรามักจะบอกตัวเองว่าได้ทำงานดีที่สุดแล้ว
แท้ที่จริงคือความไม่อดทนของเราที่แต้มสีให้กับดุลยพินิจของเราต่างหาก
โดยไม่รู้ตัว เรามักหวนมาทำสิ่งที่ซ้ำๆ เช่น
ใช้ความคิดเดิมและกระบวนการเดิมเพื่อเป็นทางลัด
ในขณะที่กระบวนการที่สร้างสรรค์ต้องการความเข้มข้นและกระปรี้กระเปร่าที่ต่อเนื่อง
แต่ละปัญหาแต่ละโครงการมีความแตกต่าง
การรีบเร่งไปสู่ผลลัพธ์หรือใช้ความคิดเก่าๆ
จะทำให้ได้ผลลัพธ์ในระดับปานกลางเท่านั้น
วิธีที่ดีที่สุดในการบรรเทาความไม่อดทนตามธรรมชาตินี้ก็คือ
การบ่มเพาะความสุขบนความรู้สึกเจ็บปวด
เหมือนนักกีฬาที่จะสนุกสนานกับการฝึกฝน คอยผลักดันตัวเอง ไม่ยอมจำนนง่ายๆ
5. Grandiosity ภาวะหลงผิดโอ้อวดตัวเอง บางครั้ง
สิ่งที่น่าอันตรายมาจากความสำเร็จและคำชมมากกว่าคำติเตียน
ถ้าเราเรียนรู้ที่จะจัดการกับการติเตียนวิจารณ์ได้ดี
ก็สามารถทำให้เราแข็งแรงขึ้น และช่วยเราให้ระวังข้อผิดพลาด
คำชมเชยอาจทำให้เกิดอันตราย เพราะทำให้อีโก้ของเราพองตัวตลอดเวลา
คิดว่าความฉลาดล้ำของเราเป็นสิ่งเดียวที่ดึงดูดความสำเร็จและความสนใจจากผู้อื่น
การหลงตัวเองเช่นนี้ อาจนำไปสู่ความส้มเหลวได้
ฉะนั้น ให้ตระหนักว่ามีอัจฉริยะที่ฉลาดกว่าเราอยู่ข้างนอกเสมอ
และบางครั้งความสำเร็จก็มาจากโชคบ้างไม่ใช่ความเก่งเพียงอย่างเดียว
พยายามสร้างแรงจูงใจจากงานที่ทำ แทนที่จะแสวงหาคำชมเชยจากภายนอก
6. Inflexibility ความไม่ยืดหยุ่น
การทำงานอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งบางอย่าง นั่นคือ
ต้องมองโลกในแง่ดีว่าสามารถทำงานให้สำเร็จแก้ปัญหาในมือได้
ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยเป็นระยะๆ ว่าได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่
และยินดีให้งานได้รับการวิจารณ์ติเตียนอย่างเข้มข้น
ทั้งหมดนี้ต้องการความยืดหยุ่นที่สูงมาก
ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องไม่ยึดมั่นจนเกินไปในความคิดใดความคิดหนึ่ง
แต่ให้น้อมนำเอาทัศนคติที่เหมาะสมต่อปัจจุบันเข้ามา
การพัฒนาความยืดหยุ่นต้องใช้การฝึกหัด และหาประสบการณ์ให้มากขึ้น
โดยหลีกเลี่ยงความสุดขั้วทางอารมณ์
และหาทางที่จะรู้สึกมองโลกในแง่ดีและสงสัยในขณะเดียวกัน
การที่จะดำรงตนให้ห่างจากกับดักดังกล่าว
เราก็ต้องหันกลับมาทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ ไม่ประมาทชะล่าใจ
ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองให้ได้ อดทนให้พอ ไม่หลงตัวเอง
และมีความยืดหยุ่น
เพียงแค่นี้ชีวิตการงานก็จะประสบกับความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับการเงินธนาคาร
https://moneyandbanking.co.th/2024/84523/
12/06/2024
30/04/2024
30/04/2024
29/04/2024
30/04/2024