ข่าวการเงิน

หนี้เสีย VS ดอกเบี้ย


คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ภาวะเศรษฐกิจไทยมีหลายเรื่องให้หวั่นใจ ตั้งแต่ต้นปีกันเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประกาศหั่นตัวเลข GDP ปี 2566 ลงเหลือโตแค่ 1.8% และคาดการณ์ปี 2567 ว่าจะโต 2.8%

ต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาด จากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า

ซึ่งแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3% ได้

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี แม้ว่าจะเริ่มเสียงแตก มีกรรมการ 2 ท่านเห็นว่า ควรลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็ตาม

เมื่อพูดถึงเรื่องดอกเบี้ย ฟังหลาย ๆ ท่านสะท้อน ก็มีหลากหลายมุมมอง อย่างมุมมองของหน่วยงานคุมนโยบาย ก็ทราบกันดีว่า มุ่งรักษาเสถียรภาพเป็นสำคัญ

ล่าสุด เพิ่งได้ฟัง “คุณสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) สะท้อนตัวเลขหนี้ของคนไทยให้ฟัง ก็ยิ่งตกใจ

“คุณสุรพล” บอกว่า หนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบัน (ณ สิ้นไตรมาส 3/2566) อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91% ของ GDP

ในจำนวนดังกล่าว เป็นหนี้ที่เก็บข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ราว 13.6 ล้านล้านบาท

สิ่งที่น่ากังวล เรื่องแรกจากที่ฟังก็คือ “หนี้” ดังกล่าวโต 3.7% ต่อปี ในขณะที่ GDP โตอยู่แค่ไม่เกิน 2% ซึ่ง สศค.ประเมินว่า ปีที่ผ่านมา GDP จะโตแค่ 1.8% ดังนั้นการจะทำให้หนี้ลดลง ไม่ง่ายแน่นอน

เพราะหนี้จะลดลง GDP ต้องโตกว่าหนี้

ความน่ากังวลต่อมาก็คือ “หนี้เสีย” หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ยังคงเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า ในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้เสีย “สินเชื่อรถยนต์” กว่า 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%

เป็นหนี้เสีย “สินเชื่อส่วนบุคคล” กว่า 2.6 แสนล้านบาท

ด้าน “สินเชื่อบ้าน” ปัจจุบันเป็นหนี้เสียกว่า 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% แต่ที่ต้องจับตาก็คือ หนี้กำลังจะเสีย หรือต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีการค้างชำระแล้ว แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสินเชื่อบ้านมีการค้างชำระเพิ่มขึ้นถึง 31% เลยทีเดียว แปลว่าคนเริ่มมีปัญหาผ่อนบ้านกันมากขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้ หลายท่านเห็นสอดคล้องกันว่า หากลดดอกเบี้ย น่าจะช่วยสกัดปัญหาหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นได้

อย่าง “คุณวิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. มีการนำร่องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้รายย่อยไป โดยลดดอกเบี้ย MRR (Minimum Retail Rate) จากเดิม 6.995% เหลือ 6.845% ต่ำสุดในระบบธนาคาร

“คุณวิทัย” บอกว่า “ถ้าลดดอกเบี้ย จะช่วยตัดเงินต้นเพิ่มขึ้นทันที หนี้ครัวเรือนก็จะลดลง คนก็จะลืมตาอ้าปากได้”

ต้องบอกว่า เรื่องนี้ขึ้นกับมุมมองจริง ๆ ว่ามองผ่าน “แว่น” ของใคร ส่วนการตัดสินใจจะถูก หรือผิดนั้น คงต้องติดตามจากผลกระทบที่จะตามมา


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/columns/news-1498529

X