ประกันสุขภาพ
มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ควรมีประกันโรคร้ายแรงหรือไม่
บทความโดย “วริศา มณีธวัช” ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
ผู้จัดการหน่วย ศุภชนม์ 9B11A บมจ.กรุงไทยแอกซ่า ประกันชีวิต
บางคนอาจคิดว่า ก็ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคทุกโรค รวมทั้งโรคร้ายอยู่แล้ว (บางแผนคุ้มครองค่ารักษาหลักสิบล้าน) ก็น่าจะเพียงพอ ทำไมถึงต้องมีประกันโรคร้ายแยกออกมา
“เพราะโรคร้ายแรง ไม่เหมือนโรคธรรมดาทั่วไป”
สำหรับโรคทั่วไป มักใช้เวลารักษาไม่นาน 3-7 วัน หายแล้วกลับไปทำงาน หารายได้ได้เหมือนเดิม หรือต่อให้เป็นการเจ็บป่วยครั้งใหญ่ถึงขั้นผ่าตัด ก็พักฟื้นให้แผลหายดี สามารถกลับไปทำงานต่อได้เหมือนเดิม เป็นการสูญเสียรายได้เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว
แต่โรคร้ายแรง ไม่ใช่แบบนั้น เพราะต้องใช้ระยะเวลารักษานานเกิน 6 เดือน หรือบางโรคอาจเป็นปี หรือหลายปี บางโรครักษาไปจนตลอดชีวิต
คิดง่าย ๆ หากต้องหยุดทำงานไปเฉย ๆ 1 ปีเต็ม โดยไม่มีรายได้ตัวเองหรือคนในครอบครัว จะได้รับผลกระทบแค่ไหน ในขณะที่ค่าใช้จ่าย ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเทอมลูกยังอยู่ครบ
นอกจากนั้น เมื่อเป็นโรคร้ายแรงก็ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่ารักษาในโรงพยาบาล และตอนกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หลายคนบอกว่าเมื่อมีประกันสุขภาพก็ดูแลค่ารักษาอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายแฝงจากการเป็นโรคร้าย
เช่น ค่าจ้างคนดูแล ค่ารถเข็น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่าอาหารทางการแพทย์เฉพาะโรค เป็นต้น แม้จะกลับมาอยู่ที่บ้านก็ยังมีใช้จ่ายสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะค่าจ้างคนดูแล และอาหารทางการแพทย์ (อาจสูงถึง 40,000 บาทต่อเดือน) เช่น กรณีโรคมะเร็งที่อาจรีโนเวทบ้านใหม่ เพราะคนป่วยเดินขึ้นชั้นสองไม่ไหว ก็เสียค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท
ข้อแตกต่าง คือ ประกันสุขภาพ จะจ่ายสินไหมตามบิลค่ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรงหลายรายการไม่ได้มีบิลการรักษาในโรงพยาบาลให้เบิก แต่ประกันโรคร้าย จ่ายสินไหมให้มาเป็น “เงินก้อน” ตามวงเงินที่ได้ซื้อประกันไว้ สามารถเอามาบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ให้สอดคล้องกับการรักษาจริง ช่วยไม่ให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างเฉียบพลัน จนตั้งรับไม่ทัน
แม้จะมีประกันสุขภาพแล้ว อย่าลืมมองหาแผนประกันโรคร้ายแรงที่เหมาะสมกับความต้องการติดตัวเอาไว้ จะทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความสบายใจมากขึ้นเป็นการวางแผนการจัดการความเสี่ยงอย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น หากสุดท้ายเกิดเหตุก็จะไม่เป็นภาระของคนที่เรารักในอนาคต
X