คปภ. พัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูล “ฉ้อฉอประกันภัย” ของตัวแทนและนายหน้าให้กับภาคธุรกิจประกันภัย เริ่มรันระบบตั้งแต่เดือน พ.ค. 67 จำแนก 4 ระดับความร้ายแรงตามกลุ่มสี ”แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว“ ด้าน ”เลขาธิการ คปภ.“ เผยกลุ่มสีส้มเสี่ยงสุด ต้องจับตาใกล้ชิด มีอยู่ราว 1,700-1,800 ราย พร้อมขออนุมัติบอร์ดฉ้อฉลฯ ปลายเดือน เม.ย.นี้ แจ้งความร้องทุกข์อีก 10 คดี
วันที่ 17 เมษายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีภารกิจและหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ซึ่งปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมมีจำนวนตัวแทนและนายหน้าบุคคลธรรดาทั้งหมด 561,377 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย. 2567) แยกเป็นตัวแทนประกันชีวิต 233,174 ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย 21,137 ราย นายหน้าประกันชีวิต 126,970 ราย นายหน้าประกันวินาศภัย 180,096 ราย ที่ผ่านมามักพบว่ามีการกระทำผิดอยู่หลัก ๆ ประมาณ 3 ลักษณะคือ
1. เก็บเงินแล้วไม่นำส่งบริษัทประกันภัย จากเดิมจะมีโทษทางปกครอง (การเพิกถอนใบอนุญาต) ปัจจุบันได้เพิ่มโทษอาญาในข้อหาฉ้อฉลประกันภัย 2. กรณีไม่แจ้งรายละเอียดหรือบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในความคุ้มครอง ข้อยกเว้น ของกรมธรรม์ประกันภัย และ 3. การแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อจะทำกรมธรรม์ใหม่ และทำให้เกิดความเสียหายกับผู้เอาประกันภัย
ซึ่งเมื่อสำนักงาน คปภ. พิจารณาวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย รวมทั้งมาตรฐานการกำกับดูแลไอซีทีในส่วนที่เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยแล้ว เล็งเห็นว่าควรดำเนินการจัดโครงการ “พัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้คนที่เข้ามาในระบบมีความน่าเชื่อถือจากประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดาต้า ระบบดิจิทัล เข้ามากำกับดูแลเรื่องเหล่านี้
จับตาใกล้ชิดตัวแทนนายหน้า “กลุ่มสีส้ม” 1.8 พันราย
โดยสำนักงาน คปภ. จะนำข้อมูลตัวแทนและะนายหน้าประกันภัยที่ได้จากบริษัทประกันภัย รวมทั้งข้อมูลของสำนักงาน คปภ. ที่มีการรวบรวมอยู่ในระบบมาประมวลผลและแชร์กลับคืนให้กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อใช้ในการ ”เฝ้าระวัง“ โดยจะมีระดับความร้ายแรง 4 ระดับคือ
– สีแดง (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ หรือ เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุด ไม่เกิน 5 ปี) ปัจจุบันมีอยู่ราว 200 ราย
– สีส้ม (เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุดเกิน 5 ปีเต็ม หรือบุคคลมีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย) ปัจจุบันมีอยู่ราว 1,700-1,800 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีไปแล้ว กฎหมายอนุญาตให้มีสิทธิกลับมานำเสนอขายประกันได้ ทั้งนี้ในมุมของบริษัทประกันภัยกรณีมีตัวแทนและนายหน้ากลุ่มนี้อยู่ คงต้องพูดคุยภายในว่าจะบริหารความเสี่ยงคนกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งอาจต้องเทรนเรื่องจริยธรรมเป็นสำคัญ และอาจต้องโทรไปเช็กกับลูกค้า เพื่อให้เกิดความรอบคอบและความปลอดภัยในระบบ เพื่อให้ผู้เอาประกันได้รับบริการที่ดี
– สีเหลือง (บุคคลมีพฤติกรรมอาจจะฉ้อฉลประกันภัย คือมีหลักฐานและกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน)
– สีเขียว (กรณีปกติ บุคคลไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่พบประวัติที่บริษัทรายงานเข้ามาว่ามีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัย)
“เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน ปัจจุบันตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ในกลุ่มสีเขียวมีสัดส่วนสูงถึง 99% ที่มีปัญหาสัดส่วนถือว่าน้อยมาก ๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะน้อยมาก ๆ คปภ. ก็ไม่อยากให้มีเลย จึงดำเนินโครงการนี้เพื่อระบุสีและแชร์ข้อมูลกันระหว่างบริษัทประกันภัยที่รับสมัครตัวแทนและนายหน้า เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน และไม่ให้ทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัย เพราะตัวแทนและนายหน้าถือเป็นด่านแรกในการพบปะประชาชนในการนำเสนอขายประกัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
ทั้งนี้การดำเนินการของสำนักงาน คปภ. จะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นอันดับแรก และที่สำคัญต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจำแนกตัวแทนและนายหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นกรณีเข้าข่ายจัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ที่จะกลายไปเป็นสีแดง ก็ยังมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์เพื่อชี้แจงได้
เริ่มรันระบบ พ.ค.นี้
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. กล่าวเพิ่มว่า เบื้องต้นโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มรันระบบได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้บริษัทประกันภัยใช้ข้อมูลดังกล่าวได้ โดยการจำแนกกลุ่มสีของตัวแทนและนายหน้าจะเห็นได้แบบเรียลไทม์ แต่เฟสแรกยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ แต่ในอนาคตมีความตั้งใจจะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน
“อนาคตเราคงไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างเดียว ต่อไปการกำกับเรื่องจริยธรรมต่าง ๆ จะถูกยกระดับขึ้นตามมา โดยปัจจุบันบทลงโทษตามกฎหมายฉ้อฉลประกันภัย กำหนดไว้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือจำคุก 3 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือจำคุก 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำผิด“ นายอดิศร กล่าว
ส่งบอร์ดฉ้อฉลฯ อนุมัติปลายเดือนนี้ แจ้งความ 10 คดี
นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 2567 จะมีการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการฉ้อฉลประกันภัยภายในสำนักงาน คปภ. เพื่อขออนุมัติดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จำนวนทั้งสิ้น 10 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับเงินแล้วไม่นำส่งบริษัทประกันภัย
พื้นฐานธุรกิจประกันอยู่บนความเชื่อมั่น
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะพื้นฐานของประกันภัยอยู่บนความเชื่อมั่นและเชื่อใจของลูกค้าเป็นสำคัญ ต่อให้บริษัทจะมีแบรนดิ้งแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยจะอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ก็เจอปัญหาของคนที่มีใบอนุญาตที่ทำไม่ถูกต้องอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อมีประเด็นเกิดขึ้น มักจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งอุตสาหกรรมฯ
“อย่างไรก็ดีเมื่อมีการแชร์ข้อมูลร่วมกันแล้ว ในมุมของบริษัทประกันภัยเอง ก็ต้องรู้จักใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ อย่างมองแต่จะเอาเบี้ย เพราะจะฉาบฉวย แต่ต้องมองการทำธุรกิจและบริหารได้อย่างยั่งยืน ทั้งในมุมของผู้เอาประกันและบริษัทประกันเองด้วย” นายสาระ กล่าว
ตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ คัดกรองคุณภาพ
นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โครงการนี้เปรียบเสมือน คปภ. ตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ให้ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน ในอุตสาหกรรมประกันภัย และสิ่งที่น่าชื่นชมมากที่สุดคือ การเริ่มต้นจากการปัดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน เพราะตัวแทนนายหน้าเปรียบเสมือนคนในบ้าน ซึ่งหากคนในบ้านทั้งหมดถูกคัดกรองและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ก็จะดูแลประชาชนผู้เอาประกันได้เป็นอย่างดี
“ต่อไปเราสามารถเลือกบุคลากรที่ดี เพียบพร้อม และพร้อมจะดูแลประชาชนได้ โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้อยากจะเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ข้อมูลส่วนนี้ต่อไปควรจะขยายไปให้กับประชาชนทั่วไปด้วย หรือสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับตัวแทนและนายหน้าในอนาคตที่เวลานำเสนอขายประกัน ต้องโชว์ข้อมูลส่วนนี้ให้ลูกค้าดูเองเลยว่าเป็นกลุ่มสีเขียว
และไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มการฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทนและนายหน้า แต่เป็นเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยจากทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม และควรจะเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทที่มีพฤติกรรมหรือประวัติไม่เหมาะสมด้วย