ห้องแสดงนิทรรศการ

คลังสกัดซ้ำรอยประกันเจ๊งโควิด คุมออกโปรดักต์ใหม่-เพิ่มอำนาจ คปภ


ปลัดคลังเซ็นออกประกาศ คปภ. คุมเข้มบริษัทประกันภัยออกโปรดักต์รับประกัน “สกัดเจ๊ง” ซ้ำรอยโควิด คปภ.เผยเข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง กำหนดให้ต้องมี “คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย” พิจารณาออกกรมธรรม์ ภาคธุรกิจต้องมีการทดสอบภาวะวิกฤต-ทำแผนเชิงลึก-เสนอแนวทางแก้ปัญหาให้บอร์ดรับทราบ พร้อมเพิ่มอำนาจ “เลขาฯ คปภ.” สั่งให้บริษัทระงับการเสนอขายชั่วคราวหรือตลอดไปได้ ฟาก “ผู้บริหารประกัน” ชี้เป็นการถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิด


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ลงนามเห็นชอบประกาศคณะกรรมการ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำกับการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป


นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการ ด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าวหลักการคือ กำหนดให้บริษัทจัดให้มีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยยกระดับจากแนวปฏิบัติที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2562 (ช่วงขายประกันภัยโควิด) ขึ้นเป็นอนุบัญญัติตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างครบวงจรและรัดกุม



อาภากร ปานเลิศ


ทั้งนี้ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องมีอย่างน้อย 5 คน โดยเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และผู้บริหารของบริษัท ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท


“ในช่วงโควิดระบาด เกิดความผิดพลาดจากการขายประกันภัยโควิด จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องปิดตัวไป 4 บริษัท เราก็เลยวางแนวปฏิบัติโดยการเพิ่มคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้พิจารณาโปรดักต์ทั่วไปทั้งหมด พร้อมดูถึงความสมบูรณ์ของเอกสารและเงื่อนไขของกรมธรรม์ รวมทั้งการเสนอขาย คือดูให้ครบวงจรของการออกผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่แนวความคิด ข้อมูล การวิเคราะห์ จนออกมาเป็นกรมธรรม์ และอัตราเบี้ย นอกจากนี้ พอใช้ไปแล้วต้องติดตามเรื่องของเกณฑ์ การบริหารหลังการขายด้วย”


โดยในกรณีที่บริษัทต้องการจะออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเสี่ยงสูง หรือบริษัทยังไม่มีความชำนาญ หรือที่คุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ให้คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยพิจารณาจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และมีคณะคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์การรับประกันภัยของบริษัทในเชิงลึกร่วมด้วย


เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงรัดกุมมากยิ่งขึ้น และเสนอแนวทางในการปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบ พร้อมทั้งประเมินความสามารถในการเผชิญต่อภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (Stress Test)


นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ที่อาจจะไปกระทบผู้เอาประกัน หรือประชาชน หรืออุตสาหกรรมประกันภัย ประกาศฉบับนี้ให้อำนาจนายทะเบียน (เลขาธิการ คปภ.) สั่งให้บริษัทดำเนินการตามที่เห็นสมควร เช่น ทบทวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย, ทบทวนอัตราเบี้ยประกันภัย, ทบทวนการบริหารความเสี่ยงจากการรับประกันภัย, จำกัดปริมาณหรือระงับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปได้


“เรามองเห็นภาพตอนโควิดที่มีปัญหา ซึ่งตอนนั้นนายทะเบียนมีเครื่องมือเดียวคือ มาตรา 29 และมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ในการเปลี่ยนแปลงยกเลิก แต่กว่าที่จะดำเนินการได้ค่อนข้างมีหลายกระบวนการ ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว”


ส่วนกรณีความกังวลในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่มีการเคลมสินไหม (Loss Ratio) ค่อนข้างสูงนั้น ทางคณะกรรมการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยรถอีวี ได้มีการพูดคุยตั้งแต่แรกไว้แล้วว่า บริษัทที่จะรับประกันภัยรถอีวีจะต้องมีแผนบริหารความเสี่ยง มีการทำ Stress Test ที่จะกำหนดว่า การรับประกันภัยในระดับไหนที่บริษัทจะต้องให้ความสำคัญ เช่น Loss Ratio ถึงระดับไหนที่จะหยุดรับประกัน หรือที่จะกระทบต่อเงินกองทุน


“การรับประกันภัยรถอีวี ประเมินแล้วคงไม่เลวร้ายเหมือนการรับประกันภัยโควิด เพราะเป็นการเคลมจากอุบัติเหตุ ซึ่งคงไม่ได้เกิดพร้อมกัน ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทต้องบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่รู้เรื่องการรับประกันรถอีวีเท่านั้น แต่ยังต้องรู้เรื่องของการชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถด้วย”


แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงบริษัทประกันภัยกล่าวว่า การออกประกาศฉบับนี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะสร้างมาตรฐาน โดยหากความเสี่ยงภัยสูง บริษัทต้องมีการจำกัดการรับประกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้ตั้งแต่ต้นทาง


“ถือเป็นการถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิด ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1558271
X