ข่าวการเงิน

เปิดแผนสำรองเมื่อรู้ว่าเงินเกษียณไม่พอ


บทความโดย "ทศพร อิศรางกูร ณ อยุธยา" 
นักวางแผนการเงินCFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

เมื่อวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเอาไว้ โดยส่วนใหญ่ก็จะประเมินได้ว่าจะมีเงินใช้หลังเกษียณเท่าไหร่หรือมีเงินใช้ไปได้อีกกี่ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ ไม่คำนวณเงินเฟ้อ

ตัวอย่าง นาย ก ตั้งใจว่าเกษียณอายุ 60 ปี และจะใช้ชีวิตถึงอายุ 80 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ปีละ 240,000 บาท หากคิดจากยอดที่ต้องใช้ชีวิตเกษียณแบบไม่ได้เผื่อเงินเฟ้อ จะต้องมีเงินเก็บ 240,000 x 20 ปี = 4.8 ล้านบาท ซึ่งในปีแรก ๆ ของการเกษียณข้าวของอาหารราคาจากเงินเฟ้อยังไม่ส่งผลมาก ก็ยังพอที่จะใช้ชีวิตได้ แต่เมื่อผ่านไป อาจทำให้ราคาข้าวจากจานละ 60 บาท เป็นจานละ 100 บาท ก็จะทำให้ช่วงท้ายของการเกษียณมีเงินไม่พอได้

1. ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย ตัวอย่าง นางสาวเอ ตั้งใจมีเงินเกษียณแบบคิดเผื่อเงินเฟ้อในอนาคตที่ 8 ล้านบาท ลงทุนในกองทุนเกษียณอายุ โดยเก็บเงินทุกเดือนแบบ DCA เดือนละ 8,000 บาท 30 ปี (ตั้งแต่อายุ 30 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี)

ซึ่งมีการจัดพอร์ตผลตอบแทนคาดหวังไว้ 6% เนื่องจากไม่มีการปรับ การดูแลพอร์ต เมื่อเกษียณอายุ ผลตอบแทนที่ทำได้จริงได้เพียง 4% จากเงินคาดการณ์ 8  ล้านบาท จะได้เพียง 5.9 ล้านบาท ขาดเงินเกษียณไป 2.1 ล้านบาท

2. มีเหตุฉุกเฉิน ตัวอย่าง นายสมชาย สะสมเงินไว้ได้จำนวน 5 ล้านบาทที่จะเอาไว้ใช้ยามเกษียณ แต่นายสมชายไม่ได้โอนความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ โดยการซื้อประกันสุขภาพและไม่มีสวัสดิการสุขภาพใด ๆ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย จึงต้องนำเงินเกษียณ 5 ล้านบาทออก ไปใช้ 2 ล้านบาท ทำให้เงินเหลือเพียง 3 ล้านบาท เป็นต้น

3. อายุยืนกว่าที่คาดการณ์ไว้ การวางแผนเงินเกษียณ ควรเผื่ออายุสุดท้ายไว้เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ทำให้คนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น โดยยึดว่า หากเสียชีวิตแล้วเงินยังเหลืออยู่ ดีกว่าเงินหมดแล้วยังต้องใช้ชีวิตแบบลำบาก

ตัวอย่าง นางสาวสมร มีเงินเกษียณเผื่อเงินเฟ้อแล้วไว้ที่ 10 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะใช้ชีวิตถึงอายุ 85 ปี แต่เมื่อตอนอายุ 82 ปี ก็พบว่าตัวเองสุขภาพยังแข็งแรงดี แต่เงินเกษียณเหลือเพียง 2 ล้านบาท หากนางสาวสมมีอายุถึง 90 ปี ต้องใช้อีก 3 ล้านบาท หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็จะทำให้นางสมรเจอปัญหาเงินเกษียณไม่พอ เป็นต้น

เมื่อเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น หากเกษียณไปแล้วและเงินเก็บออมไม่เพียงพอ ก็ต้องหาทางออก พิจารณายืดอายุเกษียณออกไป

ตัวอย่าง ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี แต่เมื่อคำนวณเงินเกษียณแล้วยังไม่พอ ในยุคนี้สามาถทำงานได้ต่อเนื่อง และหลายบริษัท ก็ยินดีที่จะจ้างต่อไปจนถึงอายุ 65-70 ปี ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อไปอีก 5-10 ปี ก็จะทำให้มีกระแสเงินสดรับเพิ่มและสามารถสะสมเงินเพื่อเกษียณเพิ่มขึ้นได้

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

อาจจำเป็นที่ต้องพิจารณาการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงินที่พอจัดการได้ จะสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยดูจากบันทึกการใช้จ่าย งบกระแสเงินสด  แยกประเภทค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าน้ำไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเน็ต ค่าอาหาร เป็นต้น ประเภทไหนเป็นส่วนค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ท่องเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน ทำบุญ เป็นต้น

สร้างรายได้พิเศษ

การเกษียณไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สามารถใช้เวลาว่างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น ทักษะในการทำงานออนไลน์ อ่านหนังสือ เข้ากิจกรรมทางสังคม การออกกำลังกาย งานอาสา เป็นต้น เพื่อไปใช้ในการสร้างรายได้ อินเทอร์เน็ตก็เปิดโอกาสให้คุณสร้างรายได้ออนไลน์

โดยการเริ่มธุรกิจออนไลน์ขายสินค้า หรืออาจใช้บริการผ่านเว็บไซต์ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้โอกาสในการหางานรับจ้าง Upwork, Freelancer, Fiverr และ TaskRabbit ก็สามารถรับงานตามความสามารถและความถนัด  ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนบทความ, การออกแบบกราฟิก, การแปลภาษา, หรืองานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ก็ต้องระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจจะมาหลอกลวง

ปรับการลงทุนใหม่เพิ่มผลตอบแทน

หากมีเงินเกษียณที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งมีเวลาลงทุนในระยะยาว 7-10 ปี หรือมีทรัพย์สินที่สามารถนำมาลงทุนได้อาจหาโอกาสในการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าเดิม เพื่อเป็นโอกาสสะสมเงินเกษียณได้เพิ่มในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน เพราะเมื่อต้องการผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย

ขายทรัพย์สินเพื่อเป็นกระแสเงินสด

หากมีทรัพย์สินอะไรที่คุณไม่ได้ใช้ ก็อาจจำเป็นต้องตัดใจนำออกมาขาย ข้อสำคัญอยู่ที่ควรสำรวจราคาที่เหมาะสม โดยทยอยขายไปเรื่อย ๆ  โดยไม่กระชั้นชิดจนขาดสภาพคล่อง เพราะผู้ซื้ออาจกดราคาทรัพย์สินของเรา จนต้องขายถูกกว่าราคาตลาด

ใช้วิธี Reverse Mortgage

Reverse Mortgage จะเป็นเหมือนการขายบ้านให้กับธนาคารและธนาคารผ่อนเงินให้ทุก ๆ เดือน โดยเป็นการจำนองที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ไม่อยากขาย เพราะต้องใช้อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต และต้องการรายได้เป็นแบบรายเดือน เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยนำบ้านหรือคอนโดมิเนียม ไปจำนองกับธนาคาร แล้วให้ธนาคารจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือนแทน

การหาที่อยู่ใหม่

หากขายทรัพย์สินบางอย่าง เช่น บ้านออกไป อาจต้องการพิจารณาการย้ายไปอยู่ในที่อยู่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำลง ที่อยู่ใหม่อาจเปลี่ยนเป็นเช่าแทน หรือคุณภาพและราคาที่เหมาะสมกับสภาพการเงินของคุณในปัจจุบัน ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้สูงอายุก็อาจจะขายบ้านออกไป เพื่อไปเช่าอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุที่เป็นสวัสดิการรัฐ ที่มีการดูแลที่ดี ราคาไม่แพงก็ได้เช่นกัน

เมื่อเงินเกษียณไม่เพียงพอก็มีทางออกหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญ คือ การทำการวางแผนอย่างรอบด้านก่อนการเกษียณอายุ ที่ต้องคำนวณเงินค่าใช้จ่ายพื้นฐานบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการเผื่อเงินเฟ้อในอนาคตที่จะส่งผลกับเงินเกษียณ ในกรณีที่ไม่มั่นใจในการจัดการเงินหลังเกษียณ คุณยังสามารถปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-1556166

X