ประกันสุขภาพ

ชงรัฐปรับภาษีประกันสุขภาพ เพิ่มลดหย่อน “คู่สมรส-บุตร” 1.5 หมื่นบาท


สมาคมประกันวินาศภัยไทย ชงข้อเสนอคลังขอเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษี “ประกันสุขภาพ” คู่สมรสและบุตร ให้ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ขณะที่ประชาชนอายุ 45 ปีขึ้นไป เสนอให้สามารถนำเบี้ยหักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 10,000-20,000 บาท/ราย รวมถึงเปิดทางลูกค้าซื้อประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้ถึง 100,000 บาท ขณะที่ “คปภ.” ให้ศึกษาผลกระทบรายได้รัฐเพิ่มเติม คาดใช้เวลา 1 เดือน คาดได้ข้อสรุปเสนอคลังได้ภายในเดือน ก.ค.นี้


นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) เปิดเผยว่า สมาคมคาดการณ์เบี้ยประกันสุขภาพในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2567 จะมีอัตราการเติบโต 10.5-11.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) หรือมีเบี้ยรับประมาณ 17,300-17,400 ล้านบาท


โดยพันธกิจเร่งด่วน (Quick Win) ของสมาคมเกี่ยวกับการประกันสุขภาพจะมีด้วยกัน 3 เรื่องสำคัญคือ 1.เพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต 2.การควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม และ 3.การจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาของสมาคม


สำหรับเรื่องเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษี สมาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านภาษี และสรุปเป็นข้อเสนอ 3 แนวทางคือ 1. ให้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพของคู่สมรสและบุตรได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเพิ่มหรือแก้ไขให้รองรับกรณีที่ผู้มีเงินได้ ได้จ่ายไปสำหรับการประกันสุขภาพให้แก่บุตรหรือคู่สมรสด้วย เสมือนเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของกรมธรรม์ประกันภัยลูกกตัญญูที่
ลูกซื้อให้กับพ่อแม่


โดยประกันสุขภาพจะต้องให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ การชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ และการประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก รวมถึงคุ้มครองโรคร้ายแรง


2. เสนอให้ประชาชนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000-20,000 บาท/ราย จากเดิม 100,000 บาท เป็น 110,000-120,000 บาท/ราย ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของทางรัฐบาล และกระจายความเสี่ยงให้ทางเอกชนมากขึ้น


และ 3. เสนอให้ค่าลดหย่อนภาษี ทั้งประกันชีวิตและค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ที่คิดรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องกำหนดแยกสำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ที่ให้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท หมายความว่าลูกค้าจะซื้อประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีเท่าใดก็ได้ในวงเงินลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่ 100,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าวางแผนรองรับความเสี่ยงได้ดีในอนาคตเมื่อเกิดการเจ็บป่วย


“สมาคมได้ทำหนังสือส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว โดยทาง คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานชุดย่อยขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ และได้สั่งให้ทางสมาคมกลับไปศึกษาผลกระทบที่รัฐบาลจะต้องสูญเสียจากข้อเสนอภาษีตรงนี้ ดังนั้น ระหว่างนี้สมาคมต้องรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือน ก่อนส่งกลับให้ คปภ. และคาดว่าภายในเดือน ก.ค. 2567 น่าจะเสนอกระทรวงการคลังได้”


ส่วนเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปัจจุบันนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ร่วมจัดทำร่างแนวปฏิบัติสำหรับการพิจารณากลุ่มโรคการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Disease) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเคลมประกันสุขภาพในอัตราที่สูง ซึ่งจะนำเสนอให้สำนัก คปภ.พิจารณาและลงความเห็นชอบร่วมกัน


โดยสมาคมได้ร่วมมือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการการใช้ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐ โดยกรมการแพทย์และภาคประกันสุขภาพเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างใกล้ชิด


“ตอนนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถือเป็นต้นทุนหลักในการเสนอผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ดังนั้นหากค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เบี้ยประกันสุขภาพก็จะต้องแพงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้ประชาชนเข้าถึงประกันสุขภาพเอกชนได้ยาก สุดท้ายแล้วประชาชนต้องไปต่อคิวตั้งแต่เวลาตี 5 เพื่อแย่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนมีประสบการณ์แบบนั้น จึงต้องผลักดันให้เบี้ยประกันสุขภาพถูกลง โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลให้เหมาะสม โดยเบี้ยประกันสุขภาพเอกชนที่เหมาะสมจะเฉลี่ย 25,000 บาท/ราย”


นายปิยะพัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาของสมาคมจะมีทั้งหมด 12 ราย เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริหารจัดการสินไหมทดแทน รวมทั้งเข้าไปมีส่วนในการเข้าไปช่วยรัฐบาลและประชาชน โดยจะเป็นแพทย์ปฏิบัติงานในบริษัทประกันวินาศภัย 8 ราย แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข 1 ราย แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทยสภา 1 ราย และคณะทำงานสมาคม 2 ราย โดยมีนายแพทย์เทอดศักดิ์ โรจน์สุรกิตติ เป็นประธานคณะแพทย์ที่ปรึกษาของสมาคม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2566 ธุรกิจประกันสุขภาพในอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศไทย มีเบี้ยรับรวมทั้งระบบ 125,455 ล้านบาท มาจากบริษัทประกันชีวิต 109,786 ล้านบาท เติบโต 5.93% และบริษัทประกันวินาศภัย 15,669 ล้านบาท ลดลง 0.9% เมื่อเทียบจากปี 2565


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1573690
X