ประกันภัย

เตรียมตัวให้พร้อมกับประกันรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย


กระแสที่กำลังมาแรงในขณะนี้คงหนีไม่พ้น “รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)” หรือรถยนต์ EV ซึ่งเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มจากปี 2563 ในเดือนมกราคม – ธันวาคม มียอดรวม 1,056 คัน ต่อมาปี 2564 ในเดือน มกราคม – ธันวาคม มียอดรวม 1,935 คัน ในปี 2565 เดือน มกราคม – ธันวาคม มียอดเพิ่มขึ้นรวม 9,729 คัน และทว่าปี 2566 เดือน มกราคม – ธันวาคม กลับมียอดพุ่งสูงขึ้นอย่างมากกว่าปีอื่นๆ รวม 76,314 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 66,585 คัน เติบโตอย่างก้าวกระโดด +684.4% และในปี 2567 เป็นที่น่าจับตามองถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม)  พบว่ามียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 22,289 คัน




หากมองหารถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการได้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ประกันรถยนต์ไฟฟ้า” ต้องมีการศึกษาและวางแผนดีๆ ก่อนที่จะซื้อเช่นกัน จากข่าวล่าสุดมีการปรับกฎเกณฑ์ใหม่ของประกันรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 สํานักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกคําสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับนี้เป็นการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เท่านั้น ไม่รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์สันดาป เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเงื่อนไขเกณฑ์รถยนต์ไฟฟ้ามีเรื่องทั้งหมด ดังนี้


1. ความคุ้มครองของแบตเตอรี่


ความคุ้มครองของแบตเตอรี่ โดยมีการคิดจากค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน เริ่มต้นจากในปีแรกจะมีการคุ้มครอง 100% และลดลงเรื่อย ๆ ตามอายอายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ลดลงถึง 50 ปี โดยจะเป็นตามเงื่อนไขของอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ การนับอายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เริ่มนับจากวันที่รับมอบรถยนต์จากผู้จำหน่ายรถยนต์ หรือวันที่ตามเอกสารการรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรถยนต์ แล้วแต่วันใดเกิดขึ้นก่อน


  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 1 ปี มีความคุ้มครอง 100%
  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 2 ปี มีความคุ้มครอง 90%
  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 3 ปี มีความคุ้มครอง 80%
  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 4 ปี มีความคุ้มครอง 70%
  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 ปี มีความคุ้มครอง 60%
  •  อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเกิน 5 ปี มีความคุ้มครอง 50%




ซึ่งบริษัทได้ชดใช้ความเสียหายโดยการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ตามอัตราที่กำหนดในตารางแล้ว กรรมสิทธิ์ของซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ให้เป็นของผู้เอาประกันภัยและบริษัทตามสัดส่วนเดียวกับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่ กรณีที่มีการตกลงให้มีการจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกเปลี่ยน ให้บริษัทดำเนินการจำหน่ายและจัดสรรจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามสัดส่วนข้างต้น


2. การระบุผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า


โดยปกติจากเดิมแล้วการซื้อประกันชั้น 1 ของรถยนต์ไฟฟ้า EV จะสามารถเลือกกำหนดผู้ขับขี่ได้ หรือไม่ต้องระบุผู้ขับขี่ได้เช่นกัน สำหรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าต้องระบุชื่อผู้ขับขี่สามารถระบุได้สูงสุด 5 รายชื่อ และต้องมีใบอนุญาตขับขี่เท่านั้น ถ้าเป็นกรณีที่เป็นนิติบุคคลไม่ต้องระบุผู้ขับขี่ ยกเว้นรถประจำตำแหน่ง


3. ความคุ้มครองของสายชาร์จพกพา (Portable EV Charger)


  •  ในความคุ้มครองในส่วนของสายชาร์จพกพา (Portable EV Charger) ที่ติดมากับตัวรถยนต์เท่านั้น ซึ่งประกันจะมีความคุ้มครองในกรณีที่สายชาร์จสูญหายเนื่องจากการโจรกรรม ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ จะไม่คุ้มครอง Wall Charge ที่ติดอยู่ที่บ้าน
  •  การได้รับความคุ้มครองนั้นในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะคิดเบี้ยประกันเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 0.035% – 3.5% จากมูลค่าเครื่องชาร์จ




4. การลดเบี้ยประกันภัยประวัติดี


การลดเบี้ยประกันภัยประวัติดีสำหรับลักษณะการใช้ส่วนบุคคล ในกรณีผู้เอาประกันภัยมีรถยนต์เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ซึ่งเกณฑ์ในการได้ส่วนลดประวัติดี คือ 1. ไม่มีเคลม ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิด 2. ต่อประกันกับบริษัทประกันเดิม โดยบริษัทจะลดเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นลำดับขั้น ดังนี้


  •  ขั้นที่ 1 20% ของเบี้ยประกันภัยในปีที่ต่ออายุ สำหรับรถยนต์คันที่ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัท ใน การประกันภัยปีแรก
  •  ขั้นที่ 2 30% ของเบี้ยประกันภัยในปีที่ต่ออายุ สำหรับรถยนต์คันที่ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัท ใน การประกันภัย 2 ปีติดต่อกัน
  •  ขั้นที่ 3 40% ของเบี้ยประกันภัยในปีที่ต่ออายุ สำหรับรถยนต์คันที่ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัท ใน การประกันภัย 3 ปีติดต่อกัน หรือกว่านั้น


นอกจากส่วนลดของประวัติผู้ขับขี่แล้ว อีกทั้งยังมีส่วนลดในส่วนของพฤติกรรมการขับขี่ในการพิจารณาเพิ่มด้วย




เสียงสะท้อนจากผู้ใช้รถยนต์ EV


จากการสัมภาษณ์ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า BYD รายแรก เผยว่าตนทำประกันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเข้าปีที่ 2 แล้ว เมื่อมีประกันก็มีความมั่นใจในการขับรถมากยิ่งขึ้น หากเจออุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็คิดว่าเรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่มากระทบกับตัวเราเอง โดยส่วนตัวในปีแรกเกิดอุบัติเหตุก็มีการเคลมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทประกันรายแรกมีการบริการที่ดี ศูนย์ซ่อมค่อนข้างเยอะ มีความหลากหลายในพื้นที่


แต่ต่อมาเมื่อต้องต่อประกันเป็นปีที่ 2 ถูกปรับเบี้ยประกันแพงขึ้น ทุนประกันก็มีการปรับลงอย่างมากจากเดิม จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนบริษัทประกันภัยที่มีเบี้ยถูกกว่า และอีกประเด็นหนึ่งถึงแม้บริษัทประกันจะมีศูนย์บริการค่อนข้างเยอะก็จริง แต่บางศูนย์ก็ไม่สามารถรับซ่อมรถ EVได้ เพราะบริษัทประกันบางแห่งก็ยังไม่ได้ทำข้อตกลงกับศูนย์ซ่อม จึงทำให้อยากให้ทุกศูนย์ในประเทศไทยสามารถเคลมได้ และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า อยากให้ทำความเข้าใจเรื่องประกันภัยเข้าถึงง่ายกว่านี้


รายที่ 2 ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า Volvo  เผยว่าในมุมของการช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งตนได้ซื้อการช่วยเหลือฉุกเฉินแยกออกมาจากประกันรถยนต์ไฟฟ้า EV จึงไม่ค่อยสะดวก จึงต้องการทางด้านประกันมีส่วนควบในส่วนของประกันภัยพร้อมกับมีการช่วยเหลือฉุกเฉินควบคู่ไปพร้อมกัน และขอชี้แนะในส่วนของเบี้ยประกัน หากกรณีไม่เคยมีประวัติในการชน ควรมีการลดค่าเบี้ยประกันต่อปี หรือสมนาคุณให้แก่ลูกค้าด้วย


รายที่ 3 ผู้ใช้รถยนต์รถไฟฟ้าไฮบริด HAVAL เผยว่าในส่วนตัวอยากให้เบี้ยประกันยนต์รถไฟฟ้า EV มีราคาคงที่ เพราะตนมีการต่อประกันทุกๆ ปี เบี้ยประกันก็ราคาเพิ่มขึ้น แต่ทุนประกันกลับสวนทางมีการปรับลดลง จึงทำให้มีการเปลี่ยนบริษัทประกันทุกๆ ปี ดังนั้น ขอชี้แนะให้เบี้ยประกันของประกันรถยนต์ EV มีความคงที่จะเป็นผลดีต่อผู้เอาประกันหรือผู้ขับรถยนต์ไฟฟ้า


อย่างไรก็ดี การประกันรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนสำคัญเพื่อช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถตั้งรับความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด สำหรับใครที่กำลังจะวางแผนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ควรมีการศึกษา "ประกันรถยนต์ไฟฟ้า" ให้ถ้วนถี่ทั้งด้านความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า


บริษัทประกันชี้แนะให้ซื้อความคุ้มครองเพิ่มเพื่อคงความคุ้มครอง 100%


ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ปัญหาของรถยนต์ EV ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ อัตราค่าซ่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแบตเตอรี่นั้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดการบุบสลายทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ใช้รถว่า จะสามารถใช้รถคันนี้ต่อไปได้หรือไม่  จึงเป็นที่มาของการต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก ซึ่งแบตเตอรี่นั้นก็มีมูลค่าแพงมาก มีมูลค่าสูงถึง 60 ถึง 70% ของตัวรถ ทำให้มูลค่าความเสียหายของรถ EV นั้นสูงอย่างมหาศาล กรมธรรม์ประกันภัยรถไฟฟ้าฉบับใหม่ที่จะออกมานี้จะออกมาแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะโดยจะต้องมีการระบุชื่อผู้ขับขี่ และกำหนดความคุ้มครองไว้ตามขั้นบันไดที่ลดลง 10% ในแต่ละปี


ยกตัวอย่าง รถปีแรกทำประกันภัยก็ได้รับความคุ้มครองเต็ม 100% และหลังจากนั้นในแต่ละปีมูลค่าความคุ้มครองก็จะลดลงปีละ 10% ในปีที่ 2 ความคุ้มครองเหลือ 90% คุ้มครองแบตเตอรี่ลดลงไป 10% ในปีที่ 3 ลดลงไป 20% เหลือความคุ้มครอง 80% เป็นต้นโดยกรมธรรม์รูปแบบใหม่นี้ เปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัย สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ เพื่อที่จะรักษาความคุ้มครองให้เต็ม 100% ดังเดิม โดยจะที่เป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยสลักหลังในแต่ละปี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้นมาในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็น module ได้ หากมีการชำรุดเสียหายก็สามารถเปลี่ยนได้แบบเฉพาะโมดูลได้


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับ ซีเคว้ล ออนไลน์
https://www.sequelonline.com/?p=165333
X