• บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) ชวนสำรวจความคิดผ่านนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย nostalgia for unity ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย
• nostalgia for unity พูดถึงความเสื่อมสลายและการเกิดใหม่, การทับซ้อนของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด, สื่อถึง “สิ่งไร้ตัวตน” ที่สิงอยู่ผลงาน, เป็นทั้งภาพยนตร์ที่ไร้รูปภาพ
• “สำหรับผมแค่จะโชว์งานความมืดก็ไม่เคยทำ เพราะส่วนตัวกลัวความมืด งานนี้ช่วยให้ผมเจอความกลัวของตัวเองเมื่ออยู่คนเดียว” กรกฤต อรุณานนท์ชัย อายุ 38 ปี ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะใจกลางเยาวราช ชวนสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการรับชมงานศิลปะ ด้วยนิทรรศการใหม่ล่าสุดของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในวัย 38 ปี กับนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า nostalgia for unity นิทรรศการลำดับที่สองของแกลลอรีแห่งนี้
นิทรรศการ nostalgia for unity เผยให้เห็นจุดเปลี่ยนของแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย เขาใช้สิ่งที่เรียกว่า พื้นที่เว้นว่าง (Negative Space) เป็นสื่อสำคัญของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้
รวมกับแรงบันดาลใจจากประวัติความเป็นมาของสถานที่ตั้ง Bangkok Kunsthalle ซึ่งเดิมก็คือ อาคารไทยวัฒนาพานิช โรงพิมพ์หนังสือแบบเรียนของไทย กับเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานที่แห่งนี้เมื่อพ.ศ.2543
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย nostalgia for unity
ผู้อ่านท่านใดเคยเข้าไปชมงาน nostalgia for unity จะพบว่าตัวเองอยู่ในห้องขนาดใหญ่ราวโกดัง ภายในเวิ้งว้าง ไม่มีภาพวาดใดๆ เหมือนเดินเข้าไปในห้องเปล่าๆ ขนาดมหึมา
แต่มี 'เสียง' ที่ศิลปินเก็บมาจากต่างสถานที่และสร้างขึ้นใหม่ให้ได้ยิน มี 'แสงสว่าง' จากโคมไฟ พื้นห้องสีดำและเต็มไปด้วยรอยแตก ขอบนอกของพื้นห้องมีตัวอักษร
สร้างหัวใจใหม่ให้กับร่างยักษ์
ใครยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่างานศิลปะชิ้นนี้เกี่ยวกับอะไร กรกฤตให้สัมภาษณ์เบื้องต้นว่า สถาปัตยกรรมแห่งนี้ หรือ ‘อาคารไทยวัฒนาพานิช’ เปรียบเสมือนร่างยักษ์ที่กำลังสลายไปตามกาลเวลา เขาจึงสร้าง ‘หัวใจ’ ดวงใหม่ให้ร่างยักษ์ร่างนี้
โดยสร้างหัวใจจากเถ้าถ่านที่หลงเหลืออยู่ภายในอาคารจากเหตุเพลิงไหม้ ก่อให้เห็นมวลที่มีลักษณะคล้ายเวที ขอบเวทียังประกอบด้วยการปั้นนูนเป็นตัวอักษรจากบทสวด งานศิลปะชิ้นนี้สร้างขึ้นมาเหมือนสร้างภาพยนต์ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง
กรกฤต อรุณานนท์ชัย
“งานของผมมองเรื่อง ‘วิญญาณนิยม’ สิ่งที่เราคุ้นชินกันอยู่ และใส่ ‘จินตนาการ’ ของแต่ละคนเข้าไป ผมมองว่าพื้นที่ที่ผมมีโอกาสมาจัดแสดงงานศิลปะครั้งนี้คือ บางกอก คุนส์ฮาเลอ พื้นที่แสดงงานศิลปะที่สร้างขึ้นมาจากพื้นดินจากสิ่งที่ตายแล้ว (คือตึกไทยวัฒนาพานิชซึ่งถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเดิมแล้ว)
ตึกนี้มีความเป็นงานศิลปะในตัวอยู่แล้ว ผมมองตึกนี้เป็นยักษ์ที่ล้มลง ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ รวมกับเรื่องราวของนกฟีนิกซ์สิ่งที่ไม่มีวันตาย มีพลังงานมากพอก็ลุกขึ้นเป็นไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง พอหมดไฟก็กลับสู่พื้นดิน เป็นความเสื่อมสลายและการเกิดใหม่ และการทับซ้อนของจุดเริ่มต้นกับจุดสิ้นสุด
ห้องที่ทุกคนได้เห็น หรืองานศิลปะครั้งนี้ เหมือนหัวใจของยักษ์ ทำอย่างไรให้หัวใจนี้เต้นขึ้นใหม่ เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ” กรกฤต กล่าว
พื้นห้องของ nostalgia for unity (มีบริการถุงสวมรองเท้าก่อนเข้าชมนิทรรศการ)
‘พื้นห้อง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะครั้งนี้ สร้างขึ้นใหม่จากการนำโครงสร้างตึกที่ถูกไฟไหม้มาบดเป็นผง ผสมกับสีทาบ้านสีดำ เคลือบด้วยซีเมนต์ให้มีความมันวาว ปูเป็นพื้นให้มีลักษณะของรอยแตกระแหงทั่วทั้งพื้นห้องขนาด 280 ตารางเมตร ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ สามารถเดินไปได้ทั่วพื้นห้องแห่งนี้
กรกฤตกล่าวถึงความหมายของงานศิลปะส่วนพื้นห้องว่า “อาจเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเรา พอตายก็กลายเป็นพลังงาน เป็นดิน เป็นพื้นให้คนรุ่นต่อไปได้ยืนอยู่”
บรรยากาศการเข้าชม nostalgia for unity
ถามว่า ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ จะมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ nostalgia for unityในลักษณะใดได้บ้าง กรกฤต ตอบว่า
“ผู้เข้าชมนิทรรศการจะสร้างสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรรมชาติ เพราะห้องนี้ว่างเปล่า สิ่งต่างๆ รอบเราไม่มีตัวตน พอคุณเข้าไปอยู่ในห้องนี้ สิ่งที่มีตัวตนมากที่สุด สิ่งที่สร้างอิมเมจหรือพอสซิทีฟสเปซมากที่สุด คือตัวคน
ทุกคนที่เข้ามาเป็นนักแสดง เป็นส่วนร่วมของงาน เป็นส่วนที่สร้างองค์ประกอบในงานมากกว่าตัวงานด้วยซ้ำ ผมยืนอยู่ข้างบน มองทุกคนเดินไปเดินมา งานก็เปลี่ยนไปมากสำหรับผม เพราะแต่ละคนก็เดินก็มองไปตามจุดที่ต่างกัน”
นี่เองคือความหมายที่ศิลปินกล่าวว่า ‘พื้นห้อง’ เปรียบเสมือนเวที ขณะที่ ‘บทสวด’ เปรียบเหมือนบทภาพยนตร์
อากัปกิริยาของผู้เข้าชม nostalgia for unity
“ผมมองว่าการสวดมนต์ การอ่าน คือบทที่ช่วยนำแนวทางความคิดของเรา ทุกคนมีบทๆ หนึ่งให้อ่านร่วมกัน แล้วแต่ว่าจะเดินอ่านตัวอักษรยังไง ทุกคนมีพื้นๆ เดียวกันให้เดิน เดินกลับไปกลับมาคล้ายการเดินจงกรม เดินย้อนศร แค่ยืนอยู่ นั่งลง จะเต้น จะทำอะไรก็ได้แล้วแต่คุณ”
ด้วยเหตุนี้ nostalgia for unity จึงเปรียบเสมือนภาพยนตร์ที่ไม่มีรูปภาพตามที่ศิลปินกล่าว จนกว่าจะมีผู้เข้าชมนิทรรศการนั่นเอง
กรกฤต อรุณานนท์ชัย เดินบันทึกภาพเคลื่อนไหวเมื่อมีผู้เข้าชม nostalgia for unity
กรกฤตกล่าวด้วยว่า โลกยุคดิจิทัลมีแต่ผู้คนนำเสนอ ‘ภาพลักษณ์’ ออกมาให้กันและกันดูผ่านโซเชียลมีเดีย มีโฆษณา มีเสียงที่เอาแต่บอกว่าเราต้องทำอะไรต้องคิดยังไง
“การเป็นศิลปิน ผมจะเอาภาพให้คุณดู เอาหนังให้คุณดู สิ่งที่ผมคิดอยากให้เป็นของขวัญครั้งนี้คือ Negative Space คือ ‘ความว่างเปล่า’
เพราะฉะนั้นงานศิลปะชิ้นนี้ ผมสร้างขึ้นมาเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีรูปภาพ เป็นหนังที่เชิญให้คนดูมาแสดงความทรงจำ ความฝัน เอาภาพเหล่านี้ของคุณออกมาแสดงในพื้นที่นี้”
nostalgia for unity
เนื่องจากนิทรรศการ nostalgia for unity จัดแสดงภายในพื้นที่ที่มีแสงธรรมชาติส่องถึง แสงสว่างตามธรรมชาติที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา รวมทั้งจำนวนผู้เข้าชมในช่วงเวลานั้นๆ ยังสร้างบรรยากาศให้ nostalgia for unity แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน เป็นความสนุก ความตื่นเต้น และความรู้สึกอื่นๆ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความทรงจำของแต่ละคน
ศิลปินบอกว่า ช่วงเวลาที่เขาชอบที่สุดคือ 19.00-20.00 น. “มีบางจุดในงานที่เราได้อยู่กับความมืดจริงๆ สำหรับผมแค่จะโชว์งานความมืดก็ไม่เคยทำ เพราะส่วนตัวกลัวความมืด งานนี้ช่วยให้ผมเจอความกลัวของตัวเองเมื่ออยู่คนเดียว เจอความว่างเปล่า แต่ถ้าคุณดูงานนี้ร่วมกับคน 10-20 คน ก็จะได้รับอีกความรู้สึก”
กรกฤต อรุณานนท์ชัย เกิดที่กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านภาพพิมพ์และจิตรกรรม (BFA) จาก Rhode Island School of Design ในปี พ.ศ.2552 และปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ (MFA) จากมหาวิทยาลัย Columbia University ในปี พ.ศ.2555 ปัจจุบันพำนักและทำงานศิลปะอยู่ที่กรุงเทพฯ และนิวยอร์ก
กรกฤตมักสร้างสรรค์ผลงานจากการสำรวจประเด็นที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวในสังคม ทั้งประเด็นด้านความเชื่อ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรัชญาเกี่ยวกับเวลาและชีวิต
พัฒนาผลงานศิลปะที่หลากหลาย เช่น งานจิตรกรรม ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง และศิลปะการแสดง (Performance Art)
เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Thailand Biennale จังหวัดเชียงราย พ.ศ.2566
ล่าสุดกับนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย nostalgia for unity จัดแสดงที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-31 ต.ค.2567 เปิดให้เข้าชมฟรี ระหว่างเวลา 14.00 – 20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)
• เดินทาง MRT สถานีหัวลำโพง ทางออก 2 เดินข้ามสะพานคลองผดุงกรุงเกษม เดินข้ามถนนกรุงเกษม เดินเข้าซอยพันธ์จิตต์ เดิน 450 เมตร ใช้เวลาประมาณ 6 นาที
• จอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ลานจอดรถสถานีรถไฟหัวลำโพง
• จอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ Gorilla Parking เดิน 100 เมตร