ข่าวการเงิน

กูรูแนะ 4 ข้อผิดพลาดในการจัดพอร์ตลงทุน มีอะไรบ้าง ?


มอร์นิ่งสตาร์ฯแนะ 4 ข้อผิดพลาดในการจัดพอร์ตลงทุน มีอะไรบ้าง เช็กเลย


บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยผ่านบทความว่า ภาพรวมการจัดพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนโดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง มีการศึกษาข้อมูลที่ดี และมีการลงทุนทั้งในกองทุนรวมและ ETFs ภาพรวมการจัดพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนโดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง


มีการศึกษาข้อมูลที่ดี และมีการลงทุนทั้งในกองทุนรวมและ ETFs ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินการที่ไม่สูงมาก นอกจากนี้หากมีการลงทุนที่เป็นสินทรัพย์เฉพาะทางก็มักจะมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่สูงมากจนเกินไป อย่างไรก็ดี มีบางประเด็นที่นักลงทุนอาจทำพลาดไปในการลงทุน เช่น


กระจายการลงทุนพอร์ตโฟลิโอมากเกินไป


ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ เช่น การมีหลายบัญชี การถือสินทรัพย์ที่มากประเภทจนเกินความจำเป็น จนทำให้พอร์ตโฟลิโอมีขนาดใหญ่มากจนเกินไป ซึ่งความจริงหากต้องการลงทุนให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนก็อาจทำได้โดยการลงทุนใน Index Funds


ความซ้ำซ้อนในการลงทุน


อีกปัญหาที่พบบ่อยคือ การที่นักลงทุนลงทุนเองในหุ้นรายบริษัทซึ่งมักเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่และมักเป็นหุ้นเดียวกันกับที่กองทุนรวมหรือ ETFs ในพอร์ตโฟลิโอลงทุนอยู่เช่นกัน ตัวอย่างหุ้นขนาดใหญ่ที่นักลงทุนชอบลงทุนเอง และที่กองทุนส่วนใหญ่ชอบถือ เช่น Apple, Amazon.com, Microsoft ซึ่งหุ้นทั้ง 3 บริษัทนี้มีน้ำหนักอยู่ใน S&P 500 สูงถึง 16%


ซึ่งการลงทุนที่ซ้ำซ้อนย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้การที่นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนหุ้นรายตัวเอง คงต้องแน่ใจว่าจะมีเวลาที่จะติดตามหุ้นเหล่านี้ไปตลอดระยะเวลาที่ลงทุน รวมถึงสามารถติดตามการทำหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในกิจการเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ในระยะยาวก็ควรที่จะเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเองกับการเลือกลงทุนในกองทุนที่มีต้นทุนในการลงทุนที่ต่ำกว่าว่าเป็นอย่างไรด้วย


ทิ้งเงินลงทุนระยะยาวในกองทุนรวม


สำหรับนักลงทุนที่มีความอดทนในการลงทุนเพื่อรอสร้างผลตอบแทนระยะยาว ข้อผิดพลาดหนึ่งอย่างที่พบคือการลงทุนในกองทุนรวม โดยที่ตั้งใจว่าจะถือลงทุนระยะยาวแต่กลับไม่เคยย้อนกลับไปดูและสนใจเงินที่ลงทุนไว้อีกเลย ซึ่งหากกองทุนนั้น ๆ ที่เราลงทุนอยู่เกิดมีการเปลี่ยนมือผู้จัดการกองทุน หรือมีผลตอบแทนที่ไม่ดีต่อเนื่องยาวนาน หรือมีเงินไหลออกจากกองทุนจำนวนมาก


สิ่งเหล่านี้ก็อาจกระทบผลการดำเนินงานให้แย่ได้ ซึ่งถ้าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็คงไม่เป็นไรในกรณีที่บริษัทจัดการนั้น ๆ มีการรับมือที่ดีก็อาจกลายเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนเพิ่มได้ แต่หากกองทุนเหล่านี้ไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีพอ และให้ผลตอบแทนที่แย่ต่อเนื่องยาวนานก็คงไม่ดีสำหรับการถือลงทุนต่อไป ดังนั้น นักลงทุนจึงควรหมั่นติดตามและตรวจสอบพอร์ตการลงทุนอยู่เป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินลงทุนยังเป็นไปตามแผนที่ตั้งใจไว้


จัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน


อีกปัญหาที่พบบ่อยและแก้ไขได้ยาก นั่นคือ สัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนของพอร์ตโฟลิโอที่ไม่เป็นไปตามแผนของนักลงทุนที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนใกล้ถึงเวลาเกษียณอายุซึ่งส่วนใหญ่พบว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้มีความเสี่ยงที่มากเกินไป เช่น ลงทุนในหุ้นจำนวนมาก หรืออาจลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างรายได้ที่รองรับความต้องการใช้จ่ายในช่วงดังกล่าวได้มากพอ เช่น ตราสารหนี้


นอกจากนี้การใช้จ่ายเงินจากในพอร์ตโฟลิโอที่มากจนเกินไป อาจเกิดความเสี่ยงที่เงินลงทุนเหล่านี้จะมีไม่เพียงพอตลอดช่วงวัยเกษียณ ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงแนวทางในการจัดพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องกับความต้องการใช้จ่ายที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเกษียณ และเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เหมาะสมกับความต้องการใช้จ่ายเงินด้วย


โดยอาจผสมกันระหว่างเงินสดสำหรับการใช้จ่ายระยะสั้น การลงทุนในตราสารหนี้เพื่อความต้องการใช้จ่ายในระยะปานกลาง และรองรับความผันผวนจากการลงทุนในหุ้น ขณะที่ยังต้องลงทุนในหุ้นเพื่อการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาวและปกป้องเงินเฟ้ออีกเช่นกัน


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1579846
X