ข่าวการเงิน

ยกทรัพย์สินอย่างไร ให้ลูกหลานดูแล


บทความโดย "สิทธิชัย สิงห์ทอง 
ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย


วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 “แม่ช้ำใจ ยกที่ดินให้ลูก แต่ถูกลูกแจ้งจับในวันเกิดตัวเอง ฐานบุกรุก เหตุเกิด ปี 2566 แม่น้ำตาตก ยกสมบัติทั้งชีวิตให้ลูก สุดท้ายถูกไล่ไปอยู่กระต๊อบ เหตุเกิดปี 2564 พ่อเฒ่า 106 ปี ฟ้องศาล ขอที่ดินคืนจากลูก หลังไม่ดูแลตนตามรับปาก เหตุเกิดปี 2560”


ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้นในทุก ๆ ปี สาเหตุเกิดจากความรักของพ่อแม่ ที่คิดว่าการที่ตนให้ทรัพย์สินของตนโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน/ที่ดิน) แก่ลูก ขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่นั้น ลูกจะได้นำทรัพย์สินที่ได้รับดังกล่าวไปใช้ประโยชน์


เช่น ไปเปิดเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของชำ หรือถ้าเป็นที่ดินเปล่าก็นำไปทำไร่ ทำนา ให้มีดอกผลเพื่อหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่ให้ไป โดยหวังว่าลูกจะนึกถึงบุญคุณและมาเลี้ยงดูยามป่วยไข้ ยามแก่ชราในตอนที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้


สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามที่คิด ในช่วงแรก ๆ ที่ลูกได้ทรัพย์สินไปก็ยังคงดูแลพ่อแม่ดีเหมือนเดิม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปทรัพย์สินที่ได้รับเริ่มมีค่ามีราคามากขึ้น หรือลูกมีความจำเป็นทางการเงิน จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนองหรือขาย หรืออาจเกิดจากบุคคลที่สามที่ต้องการทรัพย์สินเป็นของตัวเอง


เหตุผลดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดส่งผลให้ความสัมพันธ์ของลูกที่มีต่อพ่อแม่เริ่มจืดจางลง ลูกไม่เลี้ยงดู ไม่นำพาเอาใจใส่เหมือนเดิม พ่อแม่รู้สึกว่าการอยู่กับลูกกับหลานตนเหมือนเป็นส่วนเกินของครอบครัว กระทบต่อจิตใจ และลูกไม่เกรงใจอีกต่อไป ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ได้โอนไปให้ลูกไปเรียบร้อยแล้ว


ทางออกของปัญหาดังกล่าวก็สามารถแก้ไขได้โดยใช้ขั้นตอนของกฎหมาย ในเรื่องของการที่ผู้รับ(ลูก) ประพฤติเนรคุณผู้ให้(พ่อ/แม่) จะต้องเป็นคดีความและฟ้องร้องต่อศาล ยิ่งทำให้สถานการณ์และความสัมพันธ์ในครอบครัวเลวร้ายลง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เป็นพ่อแม่มักจะไม่ฟ้องลูก ด้วยความรักที่ตนเองมีและไม่อยากให้ลูกเสียชื่อเสียงทางสังคม


ส่วนใหญ่ผลจึงจะออกมาในรูปแบบที่พ่อแม่ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ หรือบางกรณีก็ไปอาศัยอยู่วัดหรือสถานสงเคราะห์ เป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายก่อนจะลาจากโลกไปด้วยความรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้น


ดีกว่าไหม ถ้าวันนี้มีวิธีการหรือแนวทางช่วยให้พ่อแม่ที่ตั้งใจจะยกทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ตนเองมีอยู่ให้กับลูกตามความตั้งใจของตน โดยที่ลูกก็ยังคงเลี้ยงดูพ่อแม่ต่อไปจนกว่าท่านลาจากโลกนี้ไปด้วยความสุขและไม่เกิดปัญหาในอนาคต


ซึ่งนักวางแผนการเงินสามารถให้แนวทางหรือคำแนะนำผู้รับคำปรึกษาจัดการทรัพย์สินอสังหาฯ ที่ตนเองมีอยู่ โดยที่สามารถดำเนินการได้ทั้งที่ขณะมีชีวิต และภายหลังจากเสียชีวิต ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้


โดยกรณีแรก หากต้องการยกทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ ให้กับลูกสามารถใช้วิธีการ “จดทะเบียนสิทธิเก็บกินบนที่ดินแปลงที่จะโอนให้ลูก” และในกรณีที่สองเป็นวิธีการจัดการทรัพย์สินหลังจากที่เสียชีวิต สามารถใช้การจัดทำพินัยกรรม แบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทได้ตามที่เจ้าพินัยกรรมต้องการได้ทุกประการ โดยไม่มีปัญหาในเรื่องการแย่งมรดกภายหลัง


บทความนี้จะอธิบายเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพย์สินในขณะที่มีชีวิตที่ต้องการยกทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ ให้กับลูกโดยใช้วิธีการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินบนที่ดินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่พ่อแม่ต้องการ คือ การยกที่ดินให้กับลูกและต้องการให้ลูกเลี้ยงดู ไม่เกิดปัญหาการทอดทิ้ง


ในเรื่องของสิทธิเก็บกินตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1417 วางหลักไว้ว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินอันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สิน…” หมายความว่า ผู้ที่ทรงสิทธิเก็บกิน (พ่อแม่) จะสามารถใช้ และถือเอาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น (ลูกที่ได้รับโอนที่จากพ่อแม่) ได้ตามที่กฎหมายได้ระบุไว้


จากหลักดังกล่าวข้างต้นสามารถนำมาประยุกต์และปรับให้เข้ากับเงื่อนไขเพื่อช่วยแก้ปัญหาการที่ยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอสังหาฯ ให้กับลูกแล้วไม่ใส่ใจดูแลหรือเลี้ยงดูหลังจากได้ทรัพย์สินไปแล้ว โดยใช้วิธีการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินบนที่ดิน ตามขั้นตอนดังนี้ :


1. พ่อแม่ที่ตั้งใจยกทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ ให้กับลูก ในวันที่ไปทำเรื่องโอนให้กับลูก ให้พ่อแม่แจ้งกับทางเจ้าพนักงานที่ดินว่า ทางผู้โอนและผู้รับโอนตกลงที่จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าว
2. ต้องจัดทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ระบุให้ผู้โอน(พ่อ-แม่) เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินแปลงนั้น
3. ให้กำหนดระยะเวลาของสิทธิเก็บกินเป็นตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็สามารถทำได้ หรือหากต้องการกำหนดเป็นช่วงเวลาจะต้องไม่เกิน 30 ปี และต่ออายุได้อีกครั้งไม่เกิน 30 ปี


ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ทางพ่อแม่ กลายเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินแปลงดังกล่าว จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากที่ดิน อาทิ สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการใช้สอยทรัพย์สิน สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน หรือการถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า เป็นต้น โดยสิทธิที่ได้รับแทบจะไม่แตกต่างจากเดิมที่เป็นเคยเจ้าของที่ดิน


ยกเว้นในเรื่องเดียว คือ สิทธิในการขายที่ดินเป็นสิทธิของเจ้าของ (ลูก) ที่เป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสิทธิดังกล่าวก็ยังเป็นสิทธิที่ติดอยู่กับที่ดินไปตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิ หรือจนกว่าจะพ้นช่วงเวลาที่กำหนด


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินบนที่ดิน จะช่วยแก้ปัญหาการที่ลูกไม่ดูแลหลังจากที่ยกที่ดินให้ลูกได้ ซึ่งการที่พ่อแม่ยกที่ดินให้ลูกหลานย่อมทำให้ผู้รับมีความรู้สึกภูมิใจ ดีใจและรู้สึกรักที่พ่อแม่เพิ่มมากขึ้น ที่ได้ไว้วางใจยกที่ดินในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้อยากดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุดในขณะที่ท่านในขณะที่ยังมีชีวิต


ในขณะเดียวกันเมื่อพ่อแม่ได้ดำเนินการจดสิทธิเก็บกินบนที่ดินแปลงที่ยกให้ลูกย่อมทำให้รู้สึกสบายใจว่าในอนาคตลูกยังคงเกรงใจและจะช่วยเหลือในยามที่พ่อแม่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นหลักประกันว่าลูกจะยังคงเลี้ยงดูให้มีความสุขในบั้นปลายชีวิต


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1607927
X