ประกันชีวิต
สาวโอดซื้อประกันวงเงิน 10 ล้าน มาปีนี้ไม่ให้ต่อกรมธรรม์ อ้างป่วยบ่อยความเสี่ยงสูง
สกลนคร - สาวสกลนครร้องสื่อถูกบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแจ้งยกเลิก ทั้งที่ทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย 10 ล้านต่อปี พอเข้าปีที่ 4 ส่งเบี้ยไปแล้ว 46,000 บาทกลับถูกบริษัทเทและโอนเบี้ยคืน อ้างผู้เอาประกันมีความเสี่ยงสูง เจ็บป่วยบ่อย จึงอยากขอความเป็นธรรมและให้สังคมรับทราบว่าใครที่ซื้อประกันก่อนกฎหมายใหม่ปี 2564 เตรียมถูกเทได้ทุกเมื่อ
น.ส.เจ (นามสมมติ) ชาว จ.สกลนคร อายุ 40 ปี เข้าร้องทุกข์ต่อผู้สื่อข่าวว่าถูกบริษัทประกันแห่งหนึ่งเท โดยแจ้งยกเลิกอ้างว่าผู้เอาประกันมีความเสี่ยงสูง ตนคิดว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้สังคมรับทราบ โดยเมื่อปี 2563 ตนได้ทำประกันชีวิตกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ตรวจสอบแล้วมีความน่าเชื่อถือ ประเภทประกันสุขภาพ ก่อนทำแถลงประวัติการรักษาทั้งหมด และยื่นสเตทเมนต์ 6 เดือน ถึง 1 ปี
น.ส.เจกล่าวต่อว่า ทั้งครอบครัวมี 5 คน พ่อแม่ ลูก 3 คน ก่อนนี้ไม่ได้สนใจจะซื้อประกัน แต่ไปโรงพยาบาลเอกชนบ่อย จนรู้จักพยาบาล พยาบาลแนะนำประกัน เลยซื้อช่วยไม่คิดว่าการมีประกันสุขภาพจะใช้ได้จริง หลายเดือนต่อมาลูกไม่สบาย ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชน ค่ารักษาทั้งหมด 6 หมื่น ประกันอนุมัติ จ่ายเพิ่มเองไม่กี่พัน หลังจากนั้นจึงเห็นคุณค่าของการมีประกัน ต่อมาจึงซื้อประกันให้ทั้งบ้าน หลายบริษัท แต่ละคนทำไม่เหมือนกัน
วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ตอนนั้นร่างกายแข็งแรงดี จึงมั่นใจ เลือกที่จะทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย 10 ล้านกับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง พอปี 2564 ได้คลอดลูกคนที่ 3 ทำให้ภูมิของร่างกายตก บวกกับให้นมบุตรมาตลอด พอปี 2565 ติดโควิดทั้งบ้าน ไปแอดมิตที่โรงพยาบาล ค่ารักษาทั้งหมด 5 คนรวมกัน 8 แสนบาท บริษัทประกันก็จ่ายให้ (แต่ละคนใช้บริษัทประกันไม่เหมือนกัน) ปี 2566 เหตุที่เพิ่งคลอดลูก และให้นมบุตรจึงทำให้มีฮอร์โมนแปรปรวน เป็นรอบเดือนนานถึง 8 เดือน พอหายจากโควิด ก็เป็นลองโควิด ทำให้ทั้งบ้านป่วยบ่อย บวกกับโรงเรียนเปิดเรียนปกติหลังโควิด บุตรคนที่ 1 ไปโรงเรียน กลับมาติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งมา คนเป็นแม่และคนในบ้านก็ติดด้วย
ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีแล้วและเด็กทุกคนในบ้านฉีดวัคซีนหลักและวัคซีนเสริมทุกตัว พอหายได้ไม่กี่เดือน ลูกคนที่ 2 ไปโรงเรียนก็ติดไข้หวัดคนละสายพันธุ์แล้วก็ยังมาติดทั้งบ้าน จึงทำให้เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมากและเข้าแต่ละครั้งจะแอดมิต 2-3 คน
ปี 2567 เนื่องจากเป็นหวัดบ่อยทำให้เป็นไซนัส จึงจะทำการผ่าตัดไซนัสและจมูกคด แต่พอเลิกให้นมบุตร คุณหมอเปลี่ยนยาที่แรงขึ้น จึงเปลี่ยนวิธีเป็นการจี้จมูกลดบวมแทน ขณะรอห้องพักฟื้น ร่างกายเกิดชาครึ่งซีก อ่อนแรง มีอาการเหมือนคนสโตรก โชคดีที่อยู่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำถึงได้เข้ารับการรักษาได้ทันที สุดท้ายได้แอดมิต ประกันก็จ่ายค่ารักษาให้ทั้งหมด 180,000 บาท จึงภูมิใจมากที่คิดถูก เลือกถูกบริษัทที่มั่นคงทางการเงินและการทำงานอย่างมีความเที่ยงตรง บอกญาติพี่น้องให้ซื้อตามหลายคน
แต่แล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 ครบอายุกรมธรรม์ บริษัทไม่ให้ต่ออายุกรมธรรม์ ทั้งๆ ได้โอนเงินค่าเบี้ยประจำปีไปแล้ว 46,000 บาท แต่แล้วบริษัทก็โอนคืน แล้วอ้างสาเหตุว่า 1. ลูกค้ามีความเสี่ยงภัยสูง เคลมเยอะ หากลูกค้าคนไหนนอนโรงพยาบาลมากกว่า 3 ครั้งต่อปี บริษัทนับว่ามีความเสี่ยงภัยสูง บริษัทประกันไม่สามารถรับความเสี่ยงภัยนี้ได้ 2. ในวัย 35-40 ปี ไม่ควรป่วยกว่าคนทั่วไปในวัยเดียวกัน 3. มีครั้งหนึ่งไปนอนโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะ บริษัทมองว่าไม่มีความจำเป็น แต่ความเป็นจริงคือ ปวดศีรษะรุนแรง ตาลืมไม่ขึ้น ปากพูดไม่ได้ และบริษัทก็อนุมัติเคลมค่ารักษาตั้งแต่วันนั้นแล้ว
สุดท้ายบริษัทบอกว่า บริษัทสามารถยกเลิกได้ ต่อให้เราก่อนทำแถลงประวัติทั้งหมด ไม่เคยปกปิด และมีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพราะมีคำว่า “แต่ ขึ้นกับการพิจารณาของบริษัท”
คุณเจโอดครวญด้วยว่า ทำไมในเมื่อเราบริสุทธิ์ใจก่อนทำ เลือกบริษัทประกันชีวิตแล้วด้วย ก่อนทำแข็งแรงดี พอเราป่วยเยอะแล้วจึงมายกเลิก อ้างว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งๆ ที่บริษัทบอกขายความเสี่ยงในอนาคต ให้เอาความเสี่ยงมาให้บริษัท ปีที่แล้วทั้งบ้านป่วยเยอะ เคลมคนละหลายแสน บริษัทที่ลูกๆ ทำเป็นบริษัทประกันภัย ปีนี้ก็สามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ปกติ เว้นตัวเอง ที่ใช้อีกบริษัทที่เป็นประกันชีวิตวงเงิน 10 ล้าน แต่กลับถูกยกเลิก
สามีตนก็ทำหลายบริษัท ไม่ได้แอดมิต 2 ปี มาต้นปีนี้ป่วย นอนโรงพยาบาลไป 2 คืน ตอนกลับส่งแฟลกเคลมบริษัทประกันแรกเหมาจ่าย 10 ล้าน ผลคือบริษัทแจ้งว่า ไม่พบข้อบ่งชี้จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล บริษัทไม่จ่าย โชคดีที่เธอซื้ออีกบริษัทที่เป็นบริษัทประกันภัยให้สามีที่เหมาจ่ายแค่ 700,000 บาท จึงให้โรงพยาบาลแฟลกเคลมบริษัทที่ 2 ในวันเดียวกัน ผลคือบริษัทประกันที่ 2 ชำระให้ครบทุกบาท ไม่ต้องสำรองจ่ายเลย
วันนี้จึงออกมาร้องสื่อ อยากให้ประชาชนชาวไทยหลายคนที่เห็นคุณค่าของประกัน กลับไปดูกรมธรรม์ที่ถือมาหลายปีก่อนวันที่ 8 พ.ย. 2564 (กฎหมายเพิ่งออกมาคุ้มครอง คนที่ทำประกันหลัง 8 พ.ย. 2564) ว่าบริษัทสามารถยกเลิกได้ หากเราถือมา 3 ปี 5 ปี หรือมากกว่า 10 ปี ถ้าปีที่ 11 เราป่วยเยอะ เคลมเยอะ บริษัทสามารถยกเลิกได้ แล้วคนที่ป่วยมาเยอะแล้ว จะไปทำต่อที่ไหนก็ยาก เหมือนติดเครดิตบูโรของการซื้อประกันสุขภาพ รวมถึงโรคร้ายแรงได้อีกด้วย
อยากให้มีหน่วยงานมาช่วยคนกลุ่มนี้ กลุ่มที่ทำประกันสุขภาพมาก่อน 2 ปีที่ผ่านมานี้ด้วย (ก่อนวันที่ 8 พ.ย. 2564) ไม่ใช่แค่เพิ่งจะคุ้มครองคนที่ทำหลังจาก คปภ.คุ้มครอง เพราะประชาชนชาวไทยหลายคนไม่ทราบว่าประกันสามารถยกเลิกได้ ถ้าคนไหนยังแข็งแรงดี แนะนำรีบไปเปลี่ยนเป็นแผนใหม่ ร่างกายที่ป่วยอยู่แล้ว กลับมาโดนประกันที่มั่นคงยกเลิก สุขภาพจิตใจก็ย่ำแย่ตาม ไม่อยากให้ใครต้องเจอแบบตนเอง ยืนยันตนป่วยจริงมีประวัติการรักษาทุกอย่างจากสถานพยาบาล ไม่ได้ป่วยทิพย์หวังเงินประกัน ส่วนการฟ้องร้องตนเองอยู่ระหว่างปรึกษาทนายเพื่อดำเนินการ
X