ภาพเขียนสีทองและผลงานอันลือลั่นของ 'กุสตาฟ คลิมต์' เดินทางมาให้คนไทยสัมผัสเป็นครั้งแรกใน 'นิทรรศการ' ศิลปะดิจิทัลสื่อผสม 'A Golden Kiss by Klimt in Bangkok' วันนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ที่ M Tower เอ็มสเฟียร์
ศิลปินชาวออสเตรียน กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) ผู้สร้างภาพวาดโลกตะลึงด้วยสีทองอร่ามตา บนภาพเขียนสีน้ำมันปิดทอง The Kiss และภาพคนเหมือน Adele Bloch-Bauer I (อเดล บลอค-เบาเวอร์) เศรษฐีชาวยิวในเสื้อผ้าที่หรูหราและเครื่องประดับทอง
ปีนี้ ภาพเขียนของคลิมต์ เดินทางมาให้คนไทยชื่นชมในงาน นิทรรศการศิลปะดิจิทัลสื่อผสม A Golden Kiss by Klimt in Bangkok
นั่งชม The Kiss
มีอะไรให้ชมใน A Golden Kiss
นิทรรศการศิลปะดิจิทัลสื่อผสม ของ กุสตาฟ คลิมต์ แบ่งเป็น 10 ห้อง
ห้องแรกชมผลงานรีโปรดักท์ Museum of Klimt ที่วาดเหมือนจริงราวกับเข้าไปชมงานภาพเขียนของคลิมต์ในมิวเซียมต่างประเทศ ประกอบด้วยภาพเขียนผลงานมาสเตอร์พีซของคลิมต์ ที่นอกจากวาดภาพคนเหมือน (portrait) คลิมต์ได้วาดภาพดอกไม้ ทิวทัศน์ และภาพพอร์ตเทรตชนชั้นสูงในยุคนั้น
ห้องแรก Museum of Klimt
ต่อด้วย Trip to Vienna & Chronicle ห้องต่อไป Beauty of Flower, Malcesine on Lake Carda & Kiss, Infinity Color, Life & Art of Klimt, The Tree of Life, Road of Art, Wave 9 และ Goods Shop
ตื่นตาเร้าอารมณ์กับจอภาพดิจิทัลรอบทิศทาง ประกอบดนตรีคลาสสิก แนะนำให้นั่งชื่นชมนาน ๆ (อย่ามัวแต่ถ่ายรูป)
ภาพคนเหมือนชนชั้นสูง
ศิลปินหัวก้าวหน้า กุสตาฟ คลิมต์
คลิมต์ ศิลปินชาวออสเตรียน (ค.ศ.1862-1918) เกิดในครอบครัวศิลปินฐานะยากจน ณ ชานกรุงเวียนนา ปี 1876 คลิมต์ได้รับทุนเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ Vienna School of Arts and Crafts ขณะเรียนก็ได้รับว่าจ้างให้เขียนภาพคนเหมือน
ศิลปะในยุคสมัยนั้นเป็นแนวคลาสสิกตามขนบดั้งเดิมที่สอนกันในโรงเรียน ผลงานยุคแรก ๆ ของคลิมต์คือวาดภาพเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ต่อมาในปี 1877 คลิมต์กับน้องชายและเพื่อนอีกคนร่วมก่อตั้งสตูดิโอ ตอนนั้นรับวาดภาพบนผนังในโบสถ์ วิหาร โรงละคร พิพิธภัณฑ์
ไม่นานคลิมต์เริ่มฉายแวว มีผลงานโดดเด่นจนได้รับเหรียญรางวัลจากจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิออสเตรีย ผลงานหลายชิ้นฉบับออริจินัลยังหาชมได้ในปัจจุบัน
คลิมต์มีชื่อเสียงด้านวาดภาพพอร์ตเทรตให้กับชนชั้นสูง อย่างไรก็ดี เขาเริ่มหันเหแนวทางสู่ศิลปะอาร์ตนูโว (Art Noveau) ต่อมาเกิดจุดหักเห เมื่อพ่อและน้องชายของเขาเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อจิตใจของศิลปินที่กำลังมีชื่อเสียง ทำให้คลิมต์เปลี่ยนสไตล์งานของตัวเองอีกครั้ง
เหมือนเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายดี คลิมต์แสวงหาแนวทางของตัวเอง จากการศึกษาวิวัฒนาการศิลปะในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อียิปต์โบราณ และศิลปะไมเซเนียน (Mycenaean art – ศิลปะยุคสำริด กรีกโบราณ) และสร้างงานที่มีชื่อเสียงขึ้นอีกหลายชิ้น
ก่อตั้ง Vienna Secession
คลิมต์สร้างสรรค์ศิลปะที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ในยุคสมัยที่ ภาพนู้ด เป็นเรื่องต้องห้าม เขาก่อตั้ง Vienna Secession หรือ Union of Austrian Painters เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ (สมัยนั้นศิลปินต้องสังกัดสมาคมจึงมีโอกาสแสดงผลงาน) หลายผลงานเป็นที่ชื่นชอบแต่ก็ต้องยอมรับคำวิจารณ์จากยุคสมัยว่าเป็น “ภาพอนาจาร”
ยุคทองของคลิมต์
สัญลักษณ์ภาพพอร์ตเทรตของคลิมต์ คือแผ่นทองคำเปลวบนภาพเขียน แรงบันดาลใจจากงานศิลปะโมเสกของอิตาลี และงานตกแต่งในยุคไบเซนไทน์
ปี 1900 – 1908 เรียกว่าเป็น ยุคทอง (Golden Phase) ของคลิมต์ ได้แก่ภาพ Pallas Athena, The Hydra, Water Serpents II, Judith and the Head of Holofernes, The Three Ages of Woman ฯลฯ
Adele Block-Bauer I
ที่โด่งดังที่สุดคือ Portrait of Adele Block-Bauer I (1907) ภาพพอร์ตเทรตภรรยาของเศรษฐีชาวยิวในออสเตรีย ตกแต่งด้วยแผ่นทองคำอร่ามตา ได้ชื่อว่าเป็น โมนาลิซาแห่งออสเตรีย
ผลงานที่ทุกคนตรึงใจ รู้สึกถึงความเย้ายวนคือภาพ จูบ The Kiss (1907-1908) ยังมีภาพหญิงสาวเปลือยอกใน Judith and the Head of Holofernes (1901) และ Danae (1907) และภาพเชิงนามธรรม The Tree of Life (1905)
Adele Block-Bauer II
คลิมต์ผ่าน “ยุคทอง” เคลื่อนสู่งานศิลปะแนวใหม่ ใช้สีสันอย่างอื่นและวาดภาพนู้ด จนถึงภาพเชิงปรัชญานามธรรม ซึ่งอาจตีความถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ทำให้คลิมต์ เป็นศิลปินที่สร้างผลงานหลากหลาย นอกจากภาพพอร์ตเทรต คลิมต์ยังสร้างงานอิมเพรสชั่นนิสต์ ภาพทิวทัศน์และดอกไม้
กุสตาฟ คลิมต์ (Cr.gustav-klimt.com)
กุสตาฟ คลิมต์ ศิลปินผู้แหกขนบ แต่ตัวจริงค่อนข้างเก็บตัว ไม่ชอบออกงานสังคม ไม่ไปสภากาแฟ มักอยู่กับบ้านใส่รองเท้าแตะ สวมเสื้อคลุมตัวเดียวผมเผ้ายุ่งเหยิง
Lady with Fan 1908 อิทธิพลจากศิลปะญี่ปุ่น
Death and Life 1918
คลิมต์จากโลกนี้ไปด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในยุโรปช่วงนั้น แต่ผลงานของเขาจารึกไว้ในหัวใจของคนรักศิลปะ หลายผลงานถูกประมูลในราคาสูงลิ่ว หลายภาพยังตราตรึงในห้วงจำ...
หมายเหตุ : ชมและสัมผัสตัวตนของ กุสตาฟ คลิมต์ ในงาน นิทรรศการศิลปะดิจิทัลสื่อผสม A Golden Kiss by Klimt in Bangkok ที่ชั้น 6 EM Tower, Emsphere วันนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567
บุคคลทั่วไป บัตรราคา 950 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ / จันทร์-ศุกร์ 850 บาท / นักเรียน-นักศึกษาและผู้สูงอายุ 550 บาท เสาร์-อาทิตย์ / จันทร์-ศุกร์ 490 บาท
Maria Altmann ชนะคดีได้ภาพเขียนคืน
เมื่อภาพเขียน The Woman in Gold กลับคืนสู่เจ้าของ
ภาพยนตร์เรื่อง The Woman in Gold (2015) สร้างจากเรื่องจริง เมื่อภาพพอร์ตเทรตที่วาดโดย กุสตาฟ คลิมต์ ถูกนาซียึดครองในปี 1941 ต่อมาก็ตกเป็นสมบัติของรัฐบาลออสเตรีย
ปี 2000 Maria Altmann วัย 88 ปี หลานของสตรีชั้นสูงในภาพ Adele Block-Bauer I ซึ่งหนีภัยสงครามจากออสเตรียไปอยู่ในอเมริกา ได้ฟ้องร้องทวงคืนภาพนี้ต่อศาลสูงของอเมริกา
Maria ร่วมกับทนายความ Randol Schoenberg ต่อสู้ด้วยเอกสารทางกฎหมายนานถึง 7 ปี
ภาพยนตร์เรื่อง The Woman in Gold
เรื่องราวการต่อสู้ชิงภาพเขียนล้ำค่านำเสนอบนแผ่นฟิล์ม นำแสดงโดย Helen Mirren รับบท Maria ในวัย 84 ปี ทนายความรับบทโดย Ryan Reynolds ยังมีนักข่าวจากออสเตรีย รับบทโดย Hubertus Czernin
หนังสนุก ตื่นเต้น ลุ้นว่าภาพเขียนจะคืนสู่เจ้าของหรือไม่ การต่อสู้ยาวนาน 7 ปี จนหลายครั้ง Maria เกือบถอดใจ หนัง flashback สู่สมัยสงครามโลกเมื่อนาซี บุกบ้านเศรษฐีชาวยิว ลุงกับป้าวัยหนุ่มผู้ชื่นชอบศิลปะ และคลิมต์ วัยหนุ่มตัดสินใจวาดพอร์ตเทรตให้ Adele
ฉากหนึ่งในหนัง ภาพเขียนที่อยู่ในบ้านของเศรษฐีชาวยิว
สู้กันยังไง รัฐบาลออสเตรียไม่ยอมคืนภาพ อ้างว่าเป็นสมบัติของชาติ และตรงตามประสงค์ของ Adele ป้าของ Maria ว่าเมื่อลุงตาย (ผู้จ่ายค่าจ้างให้ คลิมต์) ให้ยกภาพเขียนนี้ให้พิพิธภัณฑ์
ในที่สุด Maria ชนะ ภาพเขียนคืนสู่ทายาท เธอขายภาพให้แก่ Ronold Lauder ในราคา 135 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราคาปัจจุบัน = 204 ล้านดอลลาร์) ซึ่งมหาเศรษฐีผู้ซื้อภาพนี้ได้ยกภาพเขียนให้พิพิธภัณฑ์ Neue Galeria ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2006
Adele ตัวจริงกับภาพเขียนสีทอง
เพื่อให้ทุกคนได้ชื่นชมความงามของ The Woman in Gold
หมายเหตุภาพจาก: Neue Galerie New York