คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด ผู้เขียน : ศณัฐชยา น้อยหุ่น, ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” โดยมีการพูดคุยเรื่องหนี้ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่หนี้ครัวเรือน หนี้สิ่งแวดล้อม หนี้การลงทุน ตลอดจนหนี้สาธารณะ ซึ่งผู้ว่าการ ธปท.กล่าวไว้ว่า หนี้เหล่านี้มีจุดร่วมที่สำคัญ คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเป็นหลัก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เกิดขึ้นในอนาคตเท่าที่ควร
ผู้เขียนอยากชวนทุกท่านมาสำรวจหนี้ที่ใกล้ตัวเราที่สุด ในช่วงเสวนา “คน กับ หนี้ครัวเรือน” เพื่อตระหนักรู้ถึงต้นตอของปัญหา หนทางแก้ไข และร่วมกันผลักดันให้คนไทยมีหนี้อย่างสมดุลเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในวันนี้และวันหน้า
โดยการเสวนาเริ่มต้นจาก ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเปิดเผย 3 สัญญาณอันตรายเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ของคนไทยไว้ว่า
1) คนจำนวนมากก่อหนี้ ปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ โดยเฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ในขณะที่มีเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อเกษียณอายุ
2) ลูกหนี้จำนวน 3 ใน 4 ของทั้งหมดกำลังมีปัญหาหนี้ เมื่อศึกษาพฤติกรรมการก่อหนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรพบว่า คนไทยจำนวนมากมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรังและเริ่มมีหนี้เกินศักยภาพ
3) คนที่มีปัญหาหนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุน้อย และรายได้น้อย
ต้นตอของหนี้เกิดจากตัวบุคคล และในหลายครั้งสภาพแวดล้อมก็เป็นตัวเอื้อให้ผู้บริโภคก่อหนี้ ปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมบุคคล เช่น Present Bias หรือการให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากเกินไป การประเมินอนาคตดีเกินไป และเข้าถึงข้อมูลไม่เพียงพอ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจก่อหนี้
ส่วนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ค่านิยมจากสังคมรอบข้าง โลกออนไลน์ หรือเหล่า Influencers อาจส่งผลให้คนอยากได้อยากมี ภาคธุรกิจอย่างผู้ขายหรือผู้ให้บริการทางการเงินทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค อาทิ ช็อปก่อนจ่ายทีหลัง ดาวน์ 0% หรือบัตรประชาชนใบเดียวก็ผ่อนได้
ตลอดจน Social Safety Net ของไทย เช่น ในกรณีการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตที่ยังน้อย ส่งผลให้ครัวเรือนมีความจำเป็นต้องใช้เงินซ่อมแซมบ้านจากภัยธรรมชาติ ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาหนี้
ผู้ร่วมเสวนา 2 ท่าน ได้แก่ คุณสฤณี อาชวานันทกุล จากแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย และคุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ จาก ธปท. เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ดังนี้
คุณสฤณีเห็นว่าควรแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อสร้างกลไกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยแบบเบ็ดเสร็จ เช่น แก้กฎหมายล้มละลายเพื่อเปิดช่องให้มีการฟื้นฟูหนี้สินบุคคลธรรมดา ยกระดับกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยหนี้ และมีกฎหมายกำกับดูแลหนี้ที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ควรสนับสนุนการแข่งขันของผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น เช่น ลดหรือยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง สถาบันการเงิน (สง.) สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายหรือเกณฑ์ปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจเกิดเป็น Moral Hazard (สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม) ได้
คุณสุวรรณีให้มุมมองว่า การแก้หนี้ควรมองลูกหนี้เป็นศูนย์กลาง ต้องครบวงจร ครอบคลุม และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้กล่าวถึงข้อจำกัดของมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. และแนวทางที่ ธปท.ทำเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้
ที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือจะครอบคลุมเฉพาะเจ้าหนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.เท่านั้น และยังครอบคลุมเพียงสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการสื่อสารที่อาจเข้าใจยาก ทำให้ยังเข้าถึงลูกหนี้ได้ไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี ธปท.ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่พยายามแก้ปัญหาหนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ คลินิกแก้หนี้ โครงการหมอหนี้ การสอดแทรกความรู้ทางการเงินการลงทุนในหลักสูตรการศึกษา และโครงการ Open Data เชื่อมข้อมูลจากหลายองค์กร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ การกดบัตร เพื่อในอนาคตจะช่วยเพิ่มโอกาสของครัวเรือนในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านฟังคลิปงานสัมมนาตาม QR Code เพราะมีหนี้ในอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้กล่าวถึง เนื่องด้วยพื้นที่อันจำกัด และอยากให้ผู้อ่านกลับมาสำรวจ “ชีวิตหนี้” ของท่านว่าเป็นแบบไหน เพราะสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ถึงปัญหา แล้วปรับพฤติกรรม เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน เช่น ชำระหนี้เต็มจำนวน ตั้งโอนเงินออกเพื่อไปออมอัตโนมัติ 1% ของทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย เป็นต้น
หากท่านสำรวจแล้วคิดว่าตัวเองอยู่ในข่ายของผู้มีปัญหาหนี้ สามารถหาคู่มือแก้หนี้ หรือปรึกษาหมอหนี้ Line : @doctordebt เพื่อให้ท่านใช้ชีวิตร่วมกับหนี้ได้อย่างราบรื่น และบรรลุเป้าหมาย
ที่ตั้งใจไว้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล อาจไม่สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
X