ข่าวการเงิน

รู้จักวิธีกำหนด “เข็มทิศชีวิตทางการเงิน” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวเอง


บทความโดย "ณัฎฐ์วัฒน์ วรพุทธาฉัตร"
AFPTTM, IP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย


วันที่ 30 มกราคม 2567 จากสถานการณ์ในปัจจุบันการแข่งขันเชิงธุรกิจมีการพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น การสร้างความพร้อมเพื่อการแข่งขัน การเติมเต็มศักยภาพของการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงและรวดเร็ว


แม้กระทั่งโรคภัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง ประกอบกับความไม่แน่นอนทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบกับผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านการเงิน


อย่างไรก็ตาม หากรู้จักวิธีการกำหนด “เข็มทิศชีวิต ทางการเงิน” ในการวางแผนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินแบบรอบด้าน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งก่อนและหลังเกษียณ โดยไม่ต้องรอคอยสวัสดิการ หรือรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้ เริ่มจากการสำรวจตัวเอง  กำหนดเป้าหมาย จัดทำแผนการเงิน ปฏิบัติตามแผน ทบทวน และปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


โดยเป้าหมายที่วางไว้ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนี้ มีความชัดเจน สามารถวัดผลได้ สมเหตุสมผล ทำสำเร็จได้จริง และมีกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ จำเป็นต้องแยกแยกความจำเป็นกับความต้องการ พร้อมกับสร้างวินัยเพื่อให้เกิดผลในเชิงประจักษ์


ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น หมายความว่าระยะเวลาการสร้างรายได้ก็จะมีน้อยกว่าระยะเวลาใช้จ่าย โดยชีวิตช่วงแรกจนถึงเรียนจบอายุ (ประมาณ 22 ปี) จะไม่มีรายได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และเมื่อเริ่มทำงานถึงเกษียณอายุ (55-60 ปี) ก็มีเวลาหารายได้ประมาณ 33-38 ปี แต่ยังมีภาระและระยะเวลาจะต้องใช้จ่ายอีกนาน (หากมีอายุยืนถึง 85 ปี) คำถามคือ หากไม่วางแผนการเงินให้รัดกุมอีก 25 ปีหลังเกษียณจะอยู่อย่างไร


จากสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาใส่ใจและเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างรอบด้าน เพื่อเสริมสร้างฐานะและเป็นหลักประกันความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล


จากนั้นวางแผนสร้างรายได้ ปกป้องทรัพย์สิน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน พร้อมกำหนดเป้าหมายของการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว เพื่อจัดเป้าหมายตามความสำคัญ เพราะบางครั้งไม่สามารถทำได้ทุกเป้าหมายพร้อมกัน


จากนั้นศึกษาว่ามีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอะไรบ้างที่ใกล้เคียงกับความต้องการ หากไม่แน่ใจ หรือไม่มีความรู้ที่มากพอ ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวิเคราะห์และดูความสอดคล้องของเป้าหมายตามสไตล์การใช้ชีวิตของตัวเอง


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1488758
X