ข่าวการเงิน

เมื่อใช้ AI ช่วยเทรดหุ้น จนชนะบัฟเฟตต์! ตลาดหุ้นจะพลิกโฉมอย่างไร?


เมื่อ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ประมวลข้อมูลได้มหาศาล และรวดเร็วยิ่งกว่ามนุษย์ อีกทั้งกองทุน Renaissance Technologies ใช้ AI เป็นหนึ่งในตัวช่วยเทรดหุ้นแล้ว ก็สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าบัฟเฟตต์ จึงน่าสนใจว่าหาก AI เล่นหุ้นแล้ว จะเอาชนะตลาดหุ้นได้หรือไม่ และมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง

Key Points

● การเข้ามาของ AI ที่สามารถรวบรวมข้อมูลอันมหาศาลมาประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะอย่างยิ่งกับ “การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis)”
● จิม ไซมอนส์ ผู้ก่อตั้งกองทุน Renaissance Technologies ใช้ AI เป็นหนึ่งในเครื่องมือทั้งหมดที่สำคัญช่วยเทรดหุ้น สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 39% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่ทำได้ 20% ต่อปี
● อย่างไรก็ตาม AI ก็กำลังเผชิญความท้าทายด้านอารมณ์ของมนุษย์ในตลาดหุ้น เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และการขาดมิติการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

โลกปัจจุบันกำลังตื่นตาตื่นใจกับ AI อย่างมาก โดยเฉพาะในระยะหลังที่เราได้เห็นการตอบปัญหาได้เกือบทุกอย่างของ AI ChatGPT รวมถึงความสามารถของ AI ที่สามารถวาดรูปราวกับศิลปินด้วย AI Midjourney 

ความสามารถอันน่าทึ่งเหล่านี้ มาจากการที่ AI สามารถประมวลผลข้อมูลอันมหาศาลภายในเสี้ยววินาที จึงไม่น่าแปลกใจว่า จากความทึ่งก็ได้เปลี่ยนเป็นความกังวลเข้ามาแทนที่ว่า ความสามารถเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้หรือไม่

โดยในแวดวงการลงทุนเองก็มีการถกเถียงอย่างมากในประเด็นนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปดูกันว่า บทบาทของ AI ต่อตลาดทุนมีมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงตลาดหุ้นไปจากเดิม สู่ลักษณะใดบ้าง

การวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลในตลาดหุ้นนั้นมีมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขงบการเงินบริษัท สถิติ ราคาหุ้น อัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขผู้ว่างงาน ฯลฯ ซึ่งการรวบรวมโดยมนุษย์นั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน

แต่การเข้ามาของ AI จะสามารถรวบรวมข้อมูลอันมหาศาลเหล่านี้ มาประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับ "การวิเคราะห์เชิงปริมาณ" (Quantitative Analysis)

ข้อมูลเหล่านี้ AI จะวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีตเป็นเวลาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

มูรัท โอเนน (Murat Onen) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัย MIT ให้ความเห็นด้าน AI ว่า “คุณกำลังฝึกเครือข่าย AI ที่ซับซ้อนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีสิ่งใดเทียบได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ นี่ไม่ใช่รถที่เร็วขึ้น แต่นี่คือจรวดอวกาศ”




- ความทรงพลังของ AI (เครดิต: shutterstock) -

เคสตัวอย่างของผู้ที่นำ AI มาปรับใช้ในการเทรดจนประสบความสำเร็จ คือ จิม ไซมอนส์ (Jim Simons) ศาสตราจารย์นักคณิตศาสตร์ ผู้ก่อตั้งกองทุน Renaissance Technologies และเป็นนักเทรดสาย Quant ที่ใช้เครื่องมือสำคัญอย่าง AI อันเป็นหนึ่งในเครื่องมือทั้งหมดช่วยเทรดหุ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2541 สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 39% ต่อปี  ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) อยู่ที่ 20% ต่อปี และผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นสหรัฐ S&P 500 อยู่ที่ 11.88% ต่อปี



- จิม ไซมอนส์ ผู้ก่อตั้งกองทุน Renaissance Technologies ใช้ AI ช่วยเทรดหุ้น (เครดิต: Gert-Martin Greuel จาก Oberwolfach Photo Collection)

ตัวช่วยการเทรดที่ไวกว่ามนุษย์ และทำพร้อมกันได้

โดยปกติในวงการเทรดหุ้น จะต้องใช้หลายจอในการเทรด เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของแท่งเทียนแต่ละช่วงเวลา 1 นาที 5 นาที 10 นาที ฯลฯ พร้อมกัน ซึ่งสายตามนุษย์อาจพลาดได้

แต่ AI กำลังทำให้การติดตามหลายจอนี้เปลี่ยนเป็นเวลาอันสั้น และไม่จำเป็นต้องเฝ้าจอ เนื่องจาก AI จะจัดการแทนมนุษย์ตามระบบที่เตรียมไว้

โดย AI จะเรียนรู้จากรูปแบบการเคลื่อนไหวกราฟในอดีต และจำลองภาพความเป็นไปได้ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น จากระบบซื้อขายหุ้นความเร็วสูง (High Frequency Trading) ที่สามารถวาง Bid และกวาด Offer ของหุ้นได้รวดเร็ว และทำได้หลายคำสั่งในชั่วพริบตาก่อนมนุษย์จะขยับมือ

ดังจะเห็นจากราคาหุ้นของหลายบริษัทที่เมื่อถึงจังหวะขาขึ้น ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่หยุดยั้งจนมนุษย์ตามซื้อไม่ทัน

เมื่อนำมาใช้ร่วมกับ AI ก็จะทำให้การประมวลผลซื้อขายหุ้นมีมิติมากขึ้น เพราะอาศัยข้อมูลหลายส่วนมาประมวล แทนการรับคำสั่งซื้อขายง่าย ๆ แบบเดิม

เครื่องมือจับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่ผิดปกติ

ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติมาจากปริมาณซื้อขายหุ้นที่ผิดไปจากเดิม รูปแบบการเคลื่อนไหวแท่งเทียนไม่เหมือนดังที่เคยพบเห็น

สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้น หากอาศัยเฉพาะมนุษย์ในการเฝ้ามองหลายล้านธุรกรรม หุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ก็คงไม่ทันการณ์

ดังนั้น ด้วยจุดแข็งของ AI ที่รองรับข้อมูลอันมหาศาลได้ คล้ายกับเครื่องคิดเลขที่คำนวณตัวเลขหลักล้านล้านในเสี้ยววินาที เพียงแต่ AI รองรับความซับซ้อนทางข้อมูล ประมวลผลได้หลายมิติ หลายเหลี่ยมมุม จึงสามารถนำมาตรวจจับความผิดปกติของราคาหุ้นได้ โดยเทียบกับข้อมูลในอดีตไม่ว่าจะเป็นตัวเลขซื้อขายในแต่ละวัน การเคลื่อนไหวของ Bid Offer ที่เปลี่ยนไป ความผันผวนของราคา ฯลฯ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระมนุษย์

ในประเทศไทยเอง ก็มีโครงการที่จะนำเอา AI มาใช้ในตลาดหุ้น โดยเมื่อปี 2564 เอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการหน่วยงานดูแลตลาดหุ้นไทยหรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ทางก.ล.ต.กำลังพัฒนาโครงการ E-enforcement ซึ่งเป็นระบบ AI ในการช่วยตรวจสอบความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นด้วย




- AI กับวงการหุ้น (เครดิต: shutterstock) -

อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มี "ข้อจำกัดในวงการตลาดหุ้น" ดังนี้

การตัดสินใจที่ใช้อารมณ์ของมนุษย์

ตัวขับเคลื่อนราคาหุ้นขึ้นลงปัจจุบัน ล้วนมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญคือ การอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์มนุษย์ 

ไม่ว่าจะเป็น “ความโลภ” ก็จะทุ่มซื้อ จนลดการพิจารณาถึงความเสี่ยง 

“ความกลัว” ก็จะแห่เทขาย โดยลดการคำนึงถึงคุณค่าบริษัท

สิ่งเหล่านี้เป็นความยากของ AI ในการประเมิน เนื่องจากบางครั้ง มนุษย์ก็ตัดสินใจโดยไร้เหตุผล ไม่ได้คำนึงถึงตรรกะ หรือแบบแผนที่ควรจะเป็น

เหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ในตลาดหุ้นมักมีศัพท์หนึ่งที่เรียกว่า “Black Swan” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่คาดฝันว่าจะต้องมีการปิดประเทศ และสวมหน้ากากเป็นกิจวัตร

เหตุการณ์ 9/11 ปี 2544 ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐถูกเครื่องบิน 2 ลำพุ่งชน ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่ามหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก จะถูกท้าทายในใจกลางนครนิวยอร์กเช่นนี้




- เหตุการณ์ 9/11  ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐ (เครดิต: AFP) -

วมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถคาดการณ์การจบสงครามได้ ว่าจะออกมาในลักษณะไหน สิ่งเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้นอย่างมาก  และเป็นความท้าทายต่อ AI

ยังไม่รวมการเกิดขึ้นของสิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่จะเข้ามาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ อย่างในอดีตที่เคยเกิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โลกอินเทอร์เน็ต ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง

ขาดการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

การจะเข้าใจบริษัทหุ้นอย่างแจ่มแจ้งนั้นต้องอาศัยจิ๊กซอว์ 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์เชิงปริมาณควบคู่กับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพด้วย เพราะนอกจากเรื่องตัวเลข สถิติ งบการเงินซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณแล้ว

สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ “การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ” (Qualitative Analysis) ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมบริษัท การสำรวจคู่แข่ง การใช้ผลิตภัณฑ์บริษัทว่าประทับใจหรือไม่ การวิเคราะห์ผู้บริหารต่อการรักษาคำพูด

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI กำลังขาด และไม่ได้ผ่านประสบการณ์ตรงเช่นเดียวกับมนุษย์

เพราะในบางครั้ง ข้อมูลตัวเลขที่ผู้บริหารรายงานมา อาจจะดูน่าประทับใจ แต่เมื่อเราเข้าไปเยี่ยมชมบริษัท คุยกับลูกค้าบริษัท และลองใช้สินค้าจริง อาจไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็เป็นได้

โดยสรุป ความมหัศจรรย์ของ AI ที่สามารถจัดการข้อมูลที่มากเกินจินตนาการของมนุษย์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว กำลังเป็นเขี้ยวเล็บใหม่ที่ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัดเวลามากขึ้น อีกทั้งการซื้อขายหุ้น ตรวจจับความผิดปกติในตลาดหุ้นก็ยังไวกว่ามนุษย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังคือ คุณภาพข้อมูลที่ใช้ฝึก AI เพราะหากข้อมูลผิดพลาด ก็จะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกผิดพลาดตามมาได้

รวมไปถึงผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณจาก AI ก็จำเป็นต้องวิเคราะห์เชิงคุณภาพควบคู่ตามไป เพื่อให้เห็นภาพรวมความเป็นจริงของธุรกิจ

อ้างอิง: infoquest builtin forbes cnbc sciencealert 
investopedia

แหลางที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
https://www.bangkokbiznews.com/finance/1061576
X