คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี)
ถ้าระบบควบคุมภายในของธนาคารนั้นเรียบร้อยดี
แต่ไม่ได้ดูแลการบริหารสภาพคล่อง หรือการกระจุกตัวของลูกค้า
หรือการด้อยค่าของสินทรัพย์นั้น ก็สามารถทำให้ธนาคารล้มไม่เป็นท่าได้
โดยปกติแล้วกลยุทธ์การรับมือนั้น ธนาคารจะต้องมี Asset Liability Matching
หรือเทคนิค ALM ไปด้วย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดในอเมริกานั้น
จะเห็นว่าธนาคารบางแห่งไม่ได้ทำ ALM กันอย่างจริงจัง
และอาจจะมีธนาคารท้องถิ่นในอเมริกาอีกประมาณ 5 แห่ง
ที่เข้าข่ายการบกพร่องในการทำ ALM แบบนี้ด้วย
ปกติแล้ว ธนาคารจะทำการตกแต่งบัญชีได้ยากอยู่แล้ว
โดยเฉพาะผู้สอบบัญชีก็จะระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ธนาคารก็ยังสามารถล้มอยู่
ก็อาจจะมาจากนโยบายการบริหารผิดพลาด
เงินที่ได้จากเงินฝากเอาไปลงทุนในตราสารหนี้ และ mismatched
ระยะเวลาของสินทรัพย์กับหนี้สินอยู่มาก
พอดอกเบี้ยขึ้นก็เลยขาดทุนหนักเพราะต้องรับรู้เป็นขาดทุนออกมา ทั้ง ๆ
ที่ตราสารหนี้ที่ถืออยู่นั้นต้องการจะถือจนครบกำหนดสัญญา (ปกติ
ใครที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะเลือกที่จะถือจนครบกำหนดสัญญากัน)
การที่ธนาคารไปมีกลุ่มลูกค้าเงินฝากค่อนข้างกระจุกตัวนั้น ก็ส่งผลให้เวลาเกิดอะไรที่เป็นแง่ลบกับธุรกิจที่ไปกระจุกตัวนั้น ก็จะกระทบไปเกือบจะพร้อมกัน แต่สาเหตุหลักนั้น มาจากการที่ระยะเวลาการลงทุนของสินทรัพย์นั้นไม่ match กับระยะเวลาของหนี้สิน (ALM mismatch) ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น
ธนาคารที่เลือกจะ mismatch นั้นอาจจะคิดว่า
คนที่ฝากเงินก็จะต่ออายุไปเรื่อย ๆ (เหมือนที่เวลาเราฝากเงินฝากประจำ
ก็จะต่ออายุหรือลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ)
ในขณะที่ฝั่งสินทรัพย์นั้นก็ซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเสียเลย
(เพราะตราสารหนี้ระยะยาวจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น)
ทั้งนี้ ธนาคารใหญ่ ๆ นั้นจะมีการถูกบังคับให้ตรวจสอบเรื่อง ALM ผ่าน
stress test (การทดสอบภาวะวิกฤต) อยู่เสมอ
แต่สำหรับธนาคารท้องถิ่นในอเมริกานั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำการทดสอบ
stress test หรือ ALM
เรื่องทั้งหมดนี้ ถ้าธนาคารมีการทำการทดสอบ ALM และดูว่า mismatch
กันระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินหรือไม่
สถานการณ์ที่ธนาคารจะล้มไปเนื่องจากไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวนั้น
ก็จะเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งนี้ การล้มของธนาคารที่เกิดจากการไม่ทำ ALM
ที่ดีพอ จึงเป็นเฉพาะของธนาคารใด ธนาคารหนึ่ง และจะไม่ลามไปสู่ธนาคารอื่น
แต่น่าจะมีธนาคารท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่ไม่ได้ทำ ALM ที่อาจจะล้มตามมาก็ได้
ดังนั้น ธนาคารแห่งไหนที่ได้มีการทำ stress test และได้มีการทำการทดสอบ ALM
เพื่อให้แน่จึงมีการ matching ระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินได้ดีเพียงพอ
ก็น่าจะปลอดภัยและไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
ส่วนบริษัทประกันชีวิตนั้น ทุกบริษัทถูกให้ทำ ALM กันอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
เพียงแต่บริษัทประกันชีวิตจะกังวลในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธนาคาร กล่าวคือ
ธนาคารจะกลัว mismatch
จากการที่ระยะเวลาการลงทุนของสินทรัพย์นั้นยาวกว่าหนี้สิน
แต่บริษัทประกันชีวิตจะกลัว mismatch
จากการที่ระยะเวลาการลงทุนของสินทรัพย์นั้นที่สั้นกว่าหนี้สิน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
ความเสี่ยงของธนาคารจะมีกับงบการเงินตอนที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
(จึงต้องทำ ALM ในจังหวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้น) และจะปล่อยให้มี mismatch
กันตอนที่อัตราดอกเบี้ยขาลง
แต่บริษัทประกันชีวิตจะปล่อยให้มี mismatch กัน ตอนที่ดอกเบี้ยขาขึ้น
(เพราะจะได้อานิสงส์กำไรจากดอกเบี้ยขาขึ้น) และจะให้มีการทำ ALM
ในจังหวะดอกเบี้ยขาลง เพื่อป้องกันการขาดทุน
แต่สิ่งสำคัญสำหรับการรับรู้กำไรหรือขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงก็คือ
การที่สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เลือกจัดกลุ่มให้ถือจนครบกำหนดสัญญานั้น
ในทางบัญชีจะรับรู้กำไรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยลงใน
“กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น” เท่านั้น ซึ่งเป็นเหมือนกำไรที่รออยู่ในงบดุล
และจะรับรู้เป็นกำไรในงบกำไรขาดทุนก็ต่อเมื่อมีการขายจริงเท่านั้น
ธนาคารเมื่อมีคนแห่มาถอนเงินจนต้องถูกบังคับขายตราสารหนี้ตอนภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะรับรู้ขาดทุนในงบกำไรขาดทุน
(ดังนั้น ธนาคารที่ดีจึงต้องทำ matching ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
จึงจะไม่เกิดปัญหานี้)
แต่ถ้าบริษัทประกันมีคนแห่มาถอนกรมธรรม์จนต้องถูกบังคับขายตราสารหนี้ตอนภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุน
สรุปว่า เทคนิค ALM นั้น
– สำหรับธนาคารจะทำตอนดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง
– สำหรับธนาคาร อาจจะไม่ต้องทำตอนดอกเบี้ยขาลง
เพื่อให้มีกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง (สำหรับพันธบัตรรัฐบาล
จะรับรู้กำไร หรือไม่ ก็ขึ้นกับขายจริงหรือไม่)
– สำหรับบริษัทประกันชีวิตจะทำตอนดอกเบี้ยขาลง เพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง
– สำหรับบริษัทประกันชีวิต อาจจะไม่ต้องทำตอนดอกเบี้ยขาขึ้น
เพื่อให้มีกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง (สำหรับพันธบัตรรัฐบาล
จะรับรู้กำไร หรือไม่ก็ขึ้นกับขายจริงหรือไม่)
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์