คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
กระแสเรื่อง “เงินหยวน”
ของจีนอาจจะโค่นล้มดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลก
ทั้งในแง่การเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ (reserve currency)
รวมทั้งจะเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ
(cross-border payments) เริ่มเปรี้ยงปร้างขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว
หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน
และรัสเซียถูกชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปลงโทษด้วยการไม่ให้เข้าถึงเงินสกุลดอลลาร์และยูโร
ทำให้รัสเซียหันไปพึ่งมิตรอย่างจีน
และทั้งสองประเทศก็เปิดการค้าขายระหว่างกันด้วยสกุลเงินของตัวเอง แทน
“ดอลลาร์สหรัฐ”
มาปีนี้กระแสเงินหยวนจะโค่นเงินดอลลาร์กลับมาอีกครั้ง
หลังจากจีนทำข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบียในการชำระค่าน้ำมันด้วยเงินหยวน
จากเดิมชำระด้วยดอลลาร์ ประกอบกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ไอเอ็มเอฟ) ล่าสุดระบุว่า
สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลงมาก
จากที่เคยอยู่ระดับ 71% เมื่อปี 2000 เหลือเพียง 59.79% ในปัจจุบัน
ส่วนเงินหยวนสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 2.76% หรืออยู่อันดับ 5 ต่อจากยูโร
(19.66%) เยน (5.26%) และปอนด์ (4.62%)
สำหรับฝ่ายที่เชื่อว่าหยวนจะผงาดขึ้นมาแทนดอลลาร์ จะอ้างอิงเหตุผลที่ว่า
การที่สหรัฐใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือลงโทษรัสเซีย
ทำให้หลายประเทศเริ่มหวาดกลัวว่าอาจจะถูกสหรัฐใช้วิธีเดียวกันเล่นงาน
จึงลดการถือครองดอลลาร์ไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามการที่เงินสกุลใดจะผงาด ขึ้นมาเป็นสกุลทรงอิทธิพล
ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลกไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนั้น การเป็นสกุลเงินเบอร์หนึ่งของโลก
ไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือข้อได้เปรียบ หากแต่มีข้อเสียและภาระต้องแบกรับเช่นกัน
เมื่อปี 1965 อดีตประธานาธิบดี “ชาร์ลส์ เดอโกล” ของฝรั่งเศส
เคยวิจารณ์ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นมี “exorbitant privilege”
(สิทธิพิเศษหรือข้อได้เปรียบมากเกินไป) ต่อมาปี 2011 อดีตประธานาธิบดี “หู
จิ่นเทา” ของจีนวิจารณ์ว่า ระบบการเงินโลกที่มีดอลลาร์สหรัฐครอบงำนั้น
“เป็นอดีตไปแล้ว” และจีนจะแทนที่ด้วยเงินหยวน
เมื่อกาลเวลาผ่านไป
สถานะของการเป็นสกุลเงินหลักของโลกย่อมหมายถึง “ค่าเงินแข็ง”
เพราะความต้องการสูง ใคร ๆ ก็นิยมดอลลาร์
ส่งผลให้สหรัฐไม่สามารถแข่งขันเรื่องส่งออกได้ และ
ขาดดุลการค้ามหาศาล
นำมาสู่การขาดดุลแฝด กล่าวคือขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน
ต้องกู้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหา
จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์สร้างวลีใหม่สำหรับดอลลาร์ นั่นคือ “exorbitant
burden” (สร้างภาระมากเกินไป) เพราะสถานะของ reserve currency
ทำให้ดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริงประมาณ 5-10%
สำหรับประเด็นที่ว่าหยวนมีแนวโน้มจะมาแทนที่ดอลลาร์ได้หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตจีนจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีคุณสมบัติเดียวกับสหรัฐได้เร็วแค่ไหน
เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
ดอลลาร์ผงาดขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก
จากปัจจัยสำคัญ เช่น 1. อเมริกามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และแข็งแกร่ง 2.
ระดับการเปิดประเทศสูง 3. ไม่จำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (fully
convertible) 4. การเปิดเสรีบัญชีทุน
(capital account openness) 5.
มีตลาดการเงิน (เช่นพันธบัตร) ที่ลึกและกว้าง มีสภาพคล่องสูง 6.
ความโปร่งใสของรัฐบาล ไม่แทรกแซงกลไกตลาดด้วย
คุณสมบัติทั้งหมดทำให้ดอลลาร์
กระจายอยู่ทั่วโลก มีสภาพคล่องสูง
เข้าถึงได้ง่าย
ส่วนจีนนั้นมีคุณสมบัติเหมือนสหรัฐอยู่เพียงข้อเดียวคือ
เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงสหรัฐแบบสูสี
ส่วนคุณสมบัติที่เหลือจีนยังสอบไม่ผ่าน
และยังอยู่ห่างไกล
จากระดับที่จะส่งให้หยวนขึ้นมาผงาดในระยะใกล้หรือกลาง
เพราะยังจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างมาก มีการควบคุมบัญชีทุนในระดับสูง
ควบคุมการเข้า-ออกของเงินทุนสูง ตลาดการเงินยังแคบและตื้น สภาพคล่องน้อย
และรัฐบาลยังควบคุมเศรษฐกิจและแทรกแซงค่าเงิน จนมีการเปรียบเปรยว่า
การจะให้จีนเลิกแทรกแซงควบคุมค่าเงินหยวน
ก็ไม่ต่างจากการคาดหวังให้คณะโปลิตบูโร
จัดเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เงินหยวนไม่ถูกปล่อยออกไปแพร่กระจายทั่วโลกมากพอที่จะทำให้ เกิดสภาพคล่องและสะดวกในการเข้าถึง
โดยปกติประเทศใดก็ตามที่ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็มักจะตามมาด้วยสกุลเงินนั้น
ๆ จะถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นกับจีน
เพราะว่าสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมีเพียง 2.5%
ขณะที่ใช้ดอลลาร์ถึง 40% จะเห็นว่าสัดส่วนทิ้งห่างกันมาก
ขัดแย้งกับขนาดเศรษฐกิจของจีนที่สูสีกับสหรัฐมาก
จะเห็นได้ว่าเงินหยวนยังตามหลังดอลลาร์สหรัฐห่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็น reserve currency และ cross-border payments
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/world-news/news-1262436