ข่าวการเงิน

การเล่นแชร์แบบเมืองไทย vs การเล่นแชร์แบบญี่ปุ่น ..อย่าตกใจ!


สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้ได้ยินข่าวเรื่องแชร์กันหลายข่าวนะครับ หลายคนคงเคยได้ยินหรือเคยเล่นแชร์กันมาบ้าง ส่วนตัวผมเคยได้ยินเรื่องการเล่นแชร์แบบเมืองไทยมานานตั้งแต่สมัยที่ผมมาเที่ยวเมืองไทยแรกๆ แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่แม้จะเคยหาอ่านข้อมูลมาบ้างแต่ก็เข้าใจว่าเหมือนกับญี่ปุ่นมาตลอด


ส่วนแชร์แบบญี่ปุ่นก็มีมานานมากกว่า 1,000 ปีที่แล้วน่าจะตั้งแต่ยุคคามากุระ ซึ่งเรียกว่า (無尽)講 (mujin)kou คือถ้าคำว่า 講 Kou อย่างเดียวจะหมายถึงการรวมตัวรวมกลุ่มกัน อาจจะเป็นการรวมกลุ่มทำบุญ หรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น การรวมกลุ่มและทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน แต่เมื่อมีคันจิ 無尽 mujin เข้ามานำหน้าทำให้ความหมายคือ การรวมกลุ่มบางอย่างที่เกี่ยวกับเงิน



ตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทำให้วิถีการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ต้องแยกตัวอยู่ตามลำพังและโดดเดี่ยวกันมากขึ้น ทำให้คนเกิดความรู้สึกเหงาและบางคนเป็นซึมเศร้าเพราะไม่ได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ จะเห็นว่าเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อมนุษย์ต้องการมีเพื่อนและการรวมกลุ่มก็มองได้ว่าการรวมกลุ่มเล่นแชร์นั้นทำให้คนที่รู้จักกันได้ร่วมกลุ่มและมีปฏิสัมพันธ์กัน ยิ่งมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งถูกใจ แต่ถ้าอิงจากการเล่นแชร์แบบญี่ปุ่นที่ผมเข้าใจ ผมก็ยังไม่แน่ใจจริงๆ ว่าคนจะเล่นแชร์กันทำไม เอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นหรือฝากธนาคารไม่ดีกว่าหรือ



เพราะการเล่นแชร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อพันกว่าปีก่อนนั้นจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ท้าวแชร์ระดมเงินจากผู้เล่นมารวมเป็นกองกลางแล้วหมุนเวียนให้สมาชิกแต่ละคนรับเงินนั้นไปตามลำดับโดยไม่มีการประมูลหรือจ่ายดอกเบี้ยแชร์ สมมติมี 12 คน ส่งเงินเดือนละครั้งใช้ระยะเวลาเล่น 1 ปี คนที่ได้เงินก้อนเป็นคนแรกก็ได้เงินเท่ากับคนที่ได้รับเงินคนสุดท้าย ถ้ามองในแง่ของเงินเฟ้อ คนสุดท้ายก็อาจเสี่ยงกับเรื่องค่าเงินถ้าข้าวของแพงขึ้น เพราะได้เงินเท่าเดิมแต่อาจจะใช้จ่ายซื้อของได้น้อยลง ถึงแม้ว่า 10 ปี 20 ปีที่ผ่านมาที่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีปัญหาข้าวของขึ้นราคามากๆ เพราะพยายามคงราคาเดิมหรือเพิ่มราคาก็ขึ้นไม่มาก และไม่ใช่แค่ราคาของเท่านั้น เงินเดือนต่างๆ ก็แทบไม่ขยับขึ้น ผมหมายถึงก่อนนี้นะครับเพราะตอนนี้เงินเยนอ่อนค่ามาก น่าจะมีการปรับขึ้นราคาของกันแน่ๆ

ผมได้ยินว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยก็มีเรื่องเงินเฟ้อและของขึ้นราคาอย่างเห็นได้ชัด เทียบราคาของเมื่อ 20 ปีก่อนกับปัจจุบันนี้จะรู้สึกเลยว่าราคาของแพงขึ้นมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่า แล้วคนจะเล่นแชร์ไปทำไมในเมื่อได้เงินก้อนเท่าเดิม! แต่สู้เงินเฟ้อไม่ไหว เพิ่งมารู้ว่าที่เมืองไทยมีเปียแชร์แบบมีดอกเบี้ยกันด้วย ( ゚д゚) อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มได้ยินว่าที่ญี่ปุ่นมีวงแชร์ที่ต้องประมูลดอกเบี้ยแชร์กันแล้วครับ


จากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยต่างๆ ทำให้การเข้าสังคมและสิ่งต่างๆในโลกเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งโลกมีการพัฒนามากขึ้นแค่ไหน การงานเกี่ยวกับสายบริการก็เพิ่มมากขึ้น ช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ญี่ปุ่นมีสายอาชีพหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือสายงานให้คำปรึกษา (consultant) ให้บริการรับปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ และผมได้ติดตาม (follow) นักให้คำปรึกษาอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่าเทเฮงคอนเซาท์ 底辺コンサル teihen konsaru เขาเล่าว่าสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาที่บริษัทเขาได้ 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่หนึ่ง คนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วและมาปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางเทคนิคบางอย่างและเรื่องธุรกิจ


2. กลุ่มที่สองคือ คนที่ขัดสนจริงๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ยากจน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จ หรือจะเรียกว่ากลุ่มที่ไม่รู้เรื่องอะไรอย่างเป็นการเป็นงาน มีความเข้าใจต่ำ เป็นประเภทที่จะโดนพวกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายๆ เช่น มักจะหลงเชื่อเวปหลอกลวงได้อย่างง่ายดาย บางครั้งมีโฆษณาชวนเชื่อที่เสนอเงินสูงๆ มาจูงใจก็หลงเชื่อและมักจะถูกหลอกลวงในที่สุด

3. กลุ่มที่สาม คนที่ครอบครัวพอมีฐานะ ความเป็นอยู่ไม่ขัดสน แต่คุณลักษณะส่วนตัวต่ำเรียนรู้ช้า พัฒนาชีวิตไม่ได้ ไม่สามารถดึงความสามารถตัวเองมาใช้ จะมีปัญหาบางอย่างอาจจะเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด



เทเฮงคอนเซาท์เล่าเรื่องต่างๆ ได้น่าสนใจหลายประเด็นเลยทีเดียวครับ เขาบอกว่าแน่นอนว่ากลุ่มต่างๆ ที่มาปรึกษา เขาจะรู้ประวัติและได้สัมภาษณ์ได้อ่านมาหมด เขาเล่ารวมๆ เช่น มีเคสที่เป็นลูกชายของครอบครัวที่พ่อแม่สร้างตัวจากช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนฐานะร่ำรวย และถึงแม้ลูกชายจะได้รับเงินสดจำนวนมากและมีอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอย่างดี แต่ก็ล้มเหลวในการถ่ายทอดความรู้และการเอาชีวิตรอดให้คนรุ่นต่อๆ ไป หรือคนกลุ่มที่สองที่หลายคนยังมีหนี้สิน และมีความยากลำบากในการครองชีพ กลุ่มนี้ที่มักถูกชักจูงให้เล่นแชร์หรือกู้เงินดอกเบี้ยสูงและต้องใช้ชีวิตในวังวนเช่นนี้วนไป



แชร์ญี่ปุ่นสมัยก่อนไม่มีผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะระดมทุนกันในกลุ่มและได้เงินเท่าเดิมไม่ว่าใครจะได้เงินคนแรกหรือได้เงินเป็นคนสุดท้าย คนสุดท้ายก็ยังเสี่ยงเจอเงินเฟ้ออีก เอาเงินไปฝากธนาคารยังพอจะได้ดอกเบี้ยบ้าง ส่วนแชร์ที่เมืองไทยก็อาจจะได้ดอกเบี้ยเยอะแต่ก็ได้ยินมาว่าบางทีก็มีความเสี่ยงต่อการโดนหลอกหรือแชร์ล้ม แชร์ลูกโซ่ ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก


ทเฮงคอนเซาท์สรุปความเชื่อมโยงอย่างหนึ่ง ว่าสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดความประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวของกลุ่มคนต่างๆ ดังกล่าว คือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวพี่น้องตัวเองหรือเปล่า? เขาบอกว่า ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวพ่อแม่พี่น้องตัวเองเท่าไหร่จะยิ่งส่งเสริมให้บุคคลคนนั้นมีความแข็งแรงด้านความคิด แล้วในกลุ่มคนที่มาปรึกษาเขาคนที่อยู่ในฐานะร่ำรวยทุกคนไม่มีใครที่มีความสัมพันธ์บกพร่องหรือทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัวเลยสักคนเดียว ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดนะครับ ประเด็นครอบครัวและสังคมที่มีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ
X