ข่าวการเงิน

กูรูแนะ 8 วิธีลงทุน สำหรับวัยกลางคน ก่อนเกษียณในอนาคต



มอนิ่งสตาร์ แนะ 8 อันดับแนวทางลงทุน สำหรับนักลงทุนในช่วงวัย 40-50 ปี ซึ่งมักเป็นช่วงที่มีรายได้ค่อนข้างมาก จะมีลำดับความสำคัญในการวางแผนทางการเงินอย่างไรบ้าง



วันที่ 22 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคนวัย 40-50 ปี เรามักจะไม่ค่อยเห็นคำแนะนำเรื่องการลงทุนมากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับช่วงวัยเริ่มทำงานหรือใกล้เกษียณอายุ ทั้งที่ความจริงในวัย 40-50 ปีนั้นเป็นช่วงที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความซับซ้อนและความต้องการทางการเงินที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ทั้งการเก็บเงินเพื่อบุตรและเก็บเงินเพื่อรองรับการเกษียณในอนาคต

นอกจากนี้แม้วัยกลางคนจะยังรับความเสี่ยงในตราสารทุนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีความลำบากทางการเงินอยู่มากที่ไม่สามารถหารายได้มาเพียงพอหรืออาจมีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และยังต้องดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ได้แนะนำ 8 ลําดับความสําคัญที่ควรคํานึงถึงสำหรับนักลงทุนในวัยกลางคน ดังนี้

1. การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถ

การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถ เช่น การลงทุนเพื่อการศึกษา การอบรมสมนา เพื่อพัฒนาความรู้ความชำนาญ การติดตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างโอกาสในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นก่อนที่จะถึงวัยเกษียณอายุ

2. สร้างสมดุลระหว่างการสะสมรายได้และเป้าหมายอื่นในชีวิต

สำหรับคนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาบุตรนับเป็นภาระที่ค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องเตรียมสะสมเงินออมสำหรับยามเกษียณอีกด้วยภายใต้ระยะเวลาการทำงานที่เหลือน้อยลง ทำให้การวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณจำเป็นต้องใช้เวลาและวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 25-30 ปีก่อนเกษียณ

สำหรับจำนวนเงินที่รองรับก็ควรจะต้องเตรียมไว้อย่างน้อย 25 เท่าของรายจ่ายที่ต้องการใช้ในยามเกษียณ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญต่อเป้าหมายทางการเงินเพื่อเกษียณไว้เป็นลำดับแรก ๆ เพราะหากอนาคตในยามใกล้เกษียณเกิดมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องอื่นก็จะทำให้เรามีสภาพคล่องเพียงพอในการรองรับได้

3. ปกป้องสินทรัพย์ที่มี

ปกป้องสินทรัพย์ที่มี เช่น ทำประกันอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ครอบคลุมภาระหนี้หรือมูลค่าสินทรัพย์เผื่อกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือการทำประกันสุขภาพเพื่อรองรับการเจ็บป่วยในยามเกษียณ นอกจากนี้อย่าลืมสำรองเงินสดไว้ใช้ในยามฉุกเฉินกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ออกจากงาน ซึ่งอย่างน้อยควรมีพอสำหรับรองรับไว้ใช้ได้นาน 3-6 เดือน

4. การเพิ่มเงินออมเพื่อรองรับการใช้จ่าย

แม้วัยกลางคนจะเป็นช่วงที่สร้างรายได้ได้ค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นช่วงที่มีรายจ่ายมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยเพิ่มเงินออมให้สูงขึ้นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติก็คือการเพิ่มแผนการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้นนั่นเอง

5. การเพิ่มทางเลือกในการออมเงินสำหรับเงินเกษียณ

นอกเหนือไปจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างแล้ว เพื่อให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอในอนาคตนั้นการลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษีก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีของนักลงทุน

6. บริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

สำหรับการลงทุนในช่วงวัย 40-50 ปียังจำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงและสะสมเงินไว้ใช้ในอนาคต ขณะที่ในวัย 50 ปีขึ้นไปอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี เพราะถึงแม้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นแต่ก็มีอัตราผลตอบแทนหรือ Yield ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021

นอกจากนี้ตราสารหนี้ยังช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีได้ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ดี รวมถึงหากมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องออกจากงานก่อนกำหนดเงินลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังช่วยสร้างรายได้ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ดีเช่นกัน

7. พอร์ตโฟลิโอที่ใหญ่ไม่ได้แปลว่าต้องซับซ้อน

เมื่อสินทรัพย์มีขนาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนักลงทุนอาจคิดว่าองค์ประกอบของการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เพียงแค่ลงทุนในแบบที่ง่าย ๆ โอกาสที่จะผิดพลาดจากการลงทุนยิ่งลดลง เช่น พอร์ตการลงทุนอาจประกอบไปด้วยการลงทุนในตราสารทุนในประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ และตราสารหนี้ เท่านี้ก็เพียงพอ

8. การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ

เมื่อชีวิตทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้นหรือใกล้ถึงวัยเกษียณแล้ว การจ่ายเงินจ้างที่ปรึกษาทางการเงินก็ดูจะมีความจำเป็นและเหมาะสม เพราะอาจได้ข้อมูลเชิงลึกและได้รับคำปรึกษาในเรื่องที่ซับซ้อน เช่น การวางแผนภาษีอย่างไรก็ดี ผู้ที่มีเงื่อนไขทางการเงินที่ซับซ้อนมากก็อาจเหมาะสมกับการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาการลงทุนแบบเป็นสัดส่วนตามมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละปี แต่หากใครเพียงต้องการปรึกษาเป็นครั้งคราวก็อาจเหมาะสมกับการจ่ายเงินเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเป็นรายครั้งไป


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1547740

X