ธปท.เปิดเคล็ดลับจัดการ “หนี้บ้านช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น”
แนะ 2 วิธีรับมือ “ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้-ขอธนาคารลดดอกเบี้ย-รีไฟแนนซ์” เผย
ลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยคงที่มีเวลาปรับตัว ส่วนดอกเบี้ยลอยตัวเงินตัดต้นน้อยลง
วันที่ 25 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ระบุผ่าน Line Official ว่า ในช่วงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น
เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจจากการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมส่งผลมาถึงภาระการผ่อนบ้าน กล่าวคือ
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านก็จะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วลูกหนี้สินเชื่อบ้านกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบบ้าง
และเราจะมีวิธีไหนมาช่วยลดภาระดอกเบี้ย
รวมถึงมีเทคนิคอะไรบ้างที่จะช่วยให้ปลดหนี้บ้านได้เร็วขึ้นด้วย Financial
Wisdom มีคำตอบและคำแนะนำมาฝาก
ทั้งนี้ ในวงการสินเชื่อบ้านจะมีกลุ่มคนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ 2 กลุ่ม ที่จะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน คือ
1. กลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)
ลูกหนี้กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
เนื่องจากยังคงถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปตามสัญญา
โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็น fixed rate ในช่วงแรก เช่น
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก
แล้วค่อยปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว
ทำให้ยังพอมีเวลาปรับตัวและสามารถหาเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีก่อนที่ดอกเบี้ยตามสัญญาจะเปลี่ยนไปเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว
2. กลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating
Rate) กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเมื่ออัตราดอกเบี้ยในสัญญาถึงกำหนดปรับเป็น
Floating Rate
เนื่องจากค่างวดที่ชำระในแต่ละเดือนจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น
หากจ่ายค่างวดบ้านเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน
เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะเหลือเงินมาตัดชำระเงินต้นได้น้อยลง
สำหรับใครที่อยากลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือหมดหนี้บ้านไวขึ้น อยากชวนมาลองทำตามวิธี ดังนี้
1. จัดการรายรับ-รายจ่าย ได้แก่ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้
ทั้งการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จะช่วยให้เรามีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น
(เงินคงเหลือ = รายรับ-รายจ่าย-ภาระผ่อนหนี้) พอมีเงินเหลือมากขึ้น
เราก็สามารถนำเงินที่มีไปโปะหนี้เพิ่มเพื่อปลดหนี้ให้เร็วขึ้น
และยังช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายอีกด้วย
เราอาจเริ่มจากการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ
อย่างค่าลอตเตอรี่หรือค่ากาแฟ ซึ่งเราไม่ควรมองข้ามรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ
เหล่านี้ เพราะหากสามารถลดได้ เช่น จากซื้อทุกวันเหลือสัปดาห์ละครั้ง
หรือลดจำนวนเงินที่จ่ายต่อครั้งลง
นอกจากจะดื่มด่ำกับกาแฟแก้วโปรดยิ่งขึ้นแล้ว
ยังอาจมีเงินเหลือเป็นก้อนใหญ่จนเราตกใจก็เป็นได้ (ลองคำนวณจำนวนเงินคร่าว ๆ
ได้ที่ โปรแกรม “เงินหายไปไหน”)
นอกจากนี้ อาจจะมองหารายได้เสริมเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราถนัดหรือสนใจด้วย เช่น ขายของออนไลน์ ขายเสื้อผ้า
2. เจรจาเจ้าหนี้หรือหาเงื่อนไขใหม่ที่ดีกว่า ได้แก่ เจรจาขอลดดอกเบี้ยและ Refinance
การเจรจาต่อรองขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และควรทำ
เพราะหนี้บ้านส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ย 2 ช่วง คือ
ดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกเพื่อจูงใจลูกค้า
และมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ เช่น
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก
และช่วงที่สองเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวซึ่งมักจะแพงกว่าช่วงปีแรกๆ
เช่น MRR จนสิ้นสุดอายุสัญญา
เมื่อเราผ่อนไประยะหนึ่งจนใกล้ถึงช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาจะคิดแบบลอยตัว
เราก็สามารถเข้าไปยื่นเรื่องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย
เช่น
ปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวได้
ซึ่งจะช่วยให้ภาระดอกเบี้ยไม่สูงขึ้นไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งยังช่วยปลดหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าการจ่ายตามสัญญาไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปขอลด
ดังนั้น ใครมีสินเชื่อบ้านอย่ารอช้า
รีบดูสัญญาว่าใกล้ช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังจะหมดโปรโมชั่นหรือถูกปรับขึ้นหรือยัง
ถ้าใกล้แล้ว อย่าลืมไปยื่นเรื่องเจรจาขอลดดอกเบี้ยกัน โดยขอแนะนำว่า
ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 1
เดือนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญาจะปรับเป็นแบบลอยตัว
ซึ่งเราสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการเงินที่ใช้บริการว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
เพื่อประกอบการยื่นเรื่องให้สถาบันการเงินพิจารณา
ถัดมาก็คือ refinance
ไปยังสถาบันการเงินอื่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสถาบันการเงินที่เราใช้บริการอยู่
อย่างไรก็ดี ก่อนจะ refinance อย่าลืมคำนึงถึงต้นทุนแฝงต่าง ๆ
ด้วยว่าคุ้มกับการ refinance หรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยปรับชำระก่อนครบกำหนด
(prepayment fee) ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดจำนอง
หากใครที่ต้องการ refinance
และกำลังมองหาเงื่อนไขที่ดีกว่าสถาบันการเงินที่ใช้อยู่เดิม
การเจรจาขอลดดอกเบี้ยและการ refinance
จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
และชำระเป็นเงินต้นในแต่ละเดือนได้มากขึ้น
ซึ่งก็จะทำให้เราปลดหนี้ได้เร็วขึ้นด้วยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาระหนี้บ้านของเรา
แต่หากมีการจัดการที่ดี หนี้บ้านก็จะไม่ใช่ปัญหาหนัก
กลายเป็นทรัพย์สินและสถานที่ที่อบอุ่นสำหรับทุกคนในครอบครัวไปตราบนานเท่านาน
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์