ข่าวการเงิน
เปิด 6 เหตุผล ที่ทำให้คนล้มเหลวในการวางแผนเกษียณ
บทความโดย "วริศรา แสงอุไรพร"
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ถ้าพรุ่งนี้คุณจะต้องเกษียณแล้ว
คุณอยากเห็นภาพชีวิตในวัยเกษียณของคุณเป็นอย่างไร ?
คุณกำลังใช้ชีวิตอย่างไร ? อยู่ที่ไหน ?
ภาพชีวิตในวัยเกษียณของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
บางคนอาจมีความสุขกับการไปท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ
บางคนอาจมีความสุขกับการอยู่บ้าน ใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
ในขณะที่บางคนก็ยังคงสนุกกับการทำงาน
ซึ่งคำตอบที่แตกต่างกันจะส่งผลถึงจำนวนเงินเกษียณที่ต้องเตรียมต่างกัน
แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร คนส่วนใหญ่ก็อยากมีชีวิตวัยเกษียณที่ดี
มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการกับคนที่รัก
โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
แต่ทำไมถึงมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทำแบบนั้นได้
มาร่วมอ่านไปพร้อม ๆ กัน
ไม่มีเป้าหมาย
ข้อแรกที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนล้มเหลวในการวางแผนเกษียณ คือ ไม่มีเป้าหมาย
ไม่รู้ว่าต้องใช้เงินเกษียณเท่าไหร่
หรือไม่เคยคิดเรื่องเก็บเงินเกษียณมาก่อน
และเมื่อไม่เคยคิดถึงจึงไม่ได้เริ่มเก็บเงิน และเมื่อไม่เก็บจึงมีไม่มากพอ
หรืออาจคิดว่าในยามเกษียณสามารถพึ่งพาลูกหลาน หรือรัฐบาลได้
หรือคิดจะทำงานต่อไปจนตลอดชั่วชีวิต ทำให้ไม่สนใจที่จะเริ่มเก็บเงิน
แต่ถ้าถามว่าการจะพึ่งพาคนอื่นหรือทำงานไปจนชั่วชีวิตได้ไหม ? ก็อาจจะได้
แต่ไม่ง่าย และถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด จะมาเริ่มเก็บตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว
ไม่มีแผนในการเก็บเงิน
ข้อต่อมาที่ทำให้คนล้มเหลวในการวางแผนเกษียณ คือ
ไม่มีแผนในการเก็บเงินที่ชัดเจน บางคนเลือกใช้จ่ายก่อนเหลือแล้วค่อยเก็บ
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ ใช้ไปจนหมดจึงไม่เหลือให้เก็บ
หรือเลือกที่จะใช้จ่ายไปกับความสุขในปัจจุบัน
และไม่ได้เหลือเงินสำหรับอนาคต เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ทั้งรถ
เสื้อผ้า สินค้าเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุด
ที่ท้ายที่สุดแล้วก็แทบไม่เหลือมูลค่า
ซื้อบ้านที่ราคาแพงเกินไปทำให้เสียเงินเป็นค่าดอกเบี้ยมหาศาล
ทุ่มเงินกับการศึกษาที่ดีที่สุดของลูกจนลืมเก็บเงินเผื่อไว้ให้ตัวเอง ฯลฯ
ไม่ได้กระจายการลงทุน
หรือไม่ได้มีแผนการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอทำให้สุดท้ายมีเงินเกษียณไม่เพียงพอ
เริ่มเก็บเงินช้าเกินไป
ในช่วงที่อายุยังน้อย คนส่วนใหญ่ยังไม่คิดถึงการเตรียมเงินเกษียณ
เพราะรู้สึกว่ายังมีเวลาอีกนาน จนปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึงวัย 40 หรือ 50
แล้วค่อยเริ่มเก็บเงินอย่างจริงจัง
ทำให้เวลาในการออมเงินเกษียณอาจเหลือน้อยเกินไป
เก็บไม่มากพอ หรือลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายบางตัว
เงินที่ใช้ในยามเกษียณเป็นเงินก้อนใหญ่ที่อาจต้องใช้อย่างยาวนาน
บางคนอาจจากไปก่อนเกษียณ ขณะที่บางคนอาจอายุยืนถึง 100 ปี
ซึ่งจำนวนปีที่เกษียณขึ้นกับว่าคนคนนั้นเกษียณเร็วหรือช้า
และอายุยืนมากหรือน้อย ซึ่งแน่นอนว่าการเตรียมเผื่อเหลือย่อมดีกว่าเผื่อขาด
เพราะถ้าเตรียมไว้น้อยไปจะมาเริ่มทำงานเก็บเงินใหม่ในวัยเกษียณก็อาจไม่ทัน
แต่ถ้าเงินเหลือยังส่งมอบให้ลูกหลานต่อได้
ทำให้เมื่อเกษียณต้องใช้เงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าเก็บเงินน้อย
แน่นอนว่ามันย่อมไม่เพียงพอ
หรือบางครั้งอาจเกิดจากการประมาณค่าใช้จ่ายน้อยเกินจริง
อาจลืมคำนึงถึงเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว
ค่ารักษาพยาบาลทั้งของตัวเองและคนที่ต้องดูแล ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่ารถคันใหม่
ค่าภาษี หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ที่อายุยืน ฯลฯ
ทำให้เตรียมเงินไว้น้อยเกินไป
ไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน
บางคนเลือกเก็บเงินเกษียณเกือบทั้งหมดไว้ในธนาคาร
ที่ปัจจุบันได้ดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำกว่ามูลค่าเงินเฟ้อ
ทำให้เงินที่เก็บไว้ไม่เพียงพอ
ในขณะที่ถ้านำเงินบางส่วนไปลงทุนในหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานพอ ความเสี่ยงจากการลงทุนจะลดลง
หรือบางคนก็ถูกหลอกให้ลงทุนทำให้สูญเงินไปจำนวนมาก
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังอย่างหนึ่งคือ
การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีเกินจริงมักไม่มีอยู่จริง
หรือไม่ได้กระจายการลงทุน
เพราะสิ่งสำคัญในพอร์ตการเกษียณไม่ใช่ผลตอบแทนสูงสุด
แต่เป็นผลตอบแทนที่เพียงพอให้บรรลุเป้าหมายโดยอยู่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้
ไม่มีที่ปรึกษาที่ดี
คนส่วนใหญ่มีเงินผ่านมือตลอดชีวิตมากมาย
แต่หากปราศจากที่ปรึกษาที่ดีน้อยคนที่จะมีเงินเก็บมากพอที่จะใช้ยามเกษียณ
ที่ปรึกษาที่ดีไม่ใช่คนที่เก่งกว่า
แต่คือผู้ที่จะทำให้ท่านมีเป้าหมายที่ชัดเจน ร่วมสร้างแผนเกษียณ
คอยกระตุ้นและให้กำลังใจท่านในการการลงมือทำ ติดตามแผน
และปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คนบรรลุเป้าหมาย
ดังนั้นเพื่อความสำเร็จในการวางแผนเกษียณ
ท่านต้องมีเป้าหมายการเกษียณที่ชัดเจน
โดยคำนวณให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น
เขียนแผนการเก็บเงินที่เรียบง่ายที่สามารถทำได้จริงอย่างสม่ำเสมอและทำเป็นระบบที่จะตัดเงินไปออมหรือลงทุนอย่างอัตโนมัติ
เริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย
ช่วงเวลาเก็บเงินเกษียณที่ดีที่สุดคือตั้งแต่เริ่มทำงาน
แต่ถ้าจะคิดเริ่มตอนนี้ก็ไม่ถือว่าช้าเกินไป มีวินัยในการออมอย่างต่อเนื่อง
ออมให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ กระจายพอร์ตการลงทุนให้หลากหลาย
อาจเลือกออมและลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. RMF SSF หุ้น กองทุนรวม
ประกันบำนาญ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
โดยเก็บไว้ทั้งในรูปแบบเงินที่จะได้คืนแน่นอนให้เพียงพอสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายประจำ
และลงทุนเพื่อให้เงินเติบโตเพียงพอสำหรับไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น
เพียงเท่านี้ชีวิตวัยเกษียณที่ดีของคุณก็จะไม่เป็นเพียงฝัน
แต่สามารถเกิดขึ้นจริง แล้วพบกันที่ชีวิตเกษียณสุขของทุกท่าน
เป็นกำลังใจให้เสมอ
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
X