ผู้เขียน : สิรีฒร ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
คุณผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ การลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ
sustainable investing รวมทั้งกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and
Responsible Investing Fund หรือ SRI Fund )
ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาบ้างแล้ว
รวมทั้งคงเคยได้ยินคำบอกเล่าเกี่ยวกับการลงทุนลักษณะดังกล่าวนี้
แต่อาจไม่แน่ใจว่ามีสถานะและมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
วันนี้ผู้เขียนจึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการลงทุนอย่างยั่งยืน
เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนการตัดสินใจลงทุนสักนิดค่ะ
โดยขอหยิบยก 4 ประเด็นสำคัญ ที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ
“การลงทุนอย่างยั่งยืน” มาขยายความเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
ข้อแรก “การลงทุนอย่างยั่งยืนทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมลดลง”
ผลการศึกษาจากสถาบันชั้นนำหลายแห่งชี้ให้เห็นว่า ผู้จัดการกองทุนที่ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
(Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG”
ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน
จะช่วยให้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น กรณีรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle : EV)
ที่ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีความต้องการใช้งาน EV เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์สันดาป
จะทำให้เกิดโอกาสเชิงธุรกิจที่จะไปช่วยเพิ่มผลประกอบการให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า หรือกรณีสินค้าเกษตร (เช่น ข้าว)
ที่ภาวะฝนแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ทำให้ผลผลิตในประเทศมีปริมาณลดลง
การดำเนินธุรกิจและผลกำไรของบริษัทที่ผลิตและแปรรูปจากข้าวอาจได้รับผลกระทบได้
หากไม่มีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ดี
ดังนั้น
ผู้จัดการกองทุนที่ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนจะช่วยให้สามารถประเมินโอกาสทางการลงทุน
และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อกิจการที่ออกหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมจะตัดสินใจลงทุน
และพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนของกองทุนรวมมีโอกาสปรับลดลงได้เช่นกันหลังจากที่ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนแล้ว
ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic Risk)
ที่บริษัทที่กองทุนรวมลงทุนไม่อาจควบคุมหรือขจัดได้
และทุกบริษัทได้รับผลกระทบเหมือนกัน
ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทต่าง ๆ
อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ข้อที่ 2 “การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น”
แม้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป็นต้น จะเป็นประเด็นสำคัญ
แต่การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว
หากเราย้อนไปพิจารณาหลักคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable
Development) ซึ่งมีที่มาจากรายงาน ที่เรียกว่า ‘Our Common Future’
ที่จัดทำโดย Brundtland Commission ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United
Nations : UN) เมื่อปี ค.ศ. 1987
การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรของโลกที่มีจำกัดให้สามารถสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังได้
หากจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3
ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic profitability)
ความครอบคลุมทางสังคม (social equity) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
(environmental protection)
นอกจากนี้ UN ได้จัดทำ “2030 Agenda for Sustainable Development”
ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ
และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030
โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development
Goals:SDGs) 17 เป้าหมาย เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน
ซึ่งประเทศไทยและสมาชิก UN รวม 193 ประเทศ
ได้ร่วมลงนามรับรองวาระที่สำคัญดังกล่าวของโลกด้วย
ด้วยเหตุนี้
กองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าต้องสนับสนุนกิจการที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
สามารถจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่น
ๆ ตามกรอบ UN SDGs ได้ เช่น การดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต การศึกษา
การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น
ดังนั้น
ผู้ลงทุนจึงควรศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน
เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุประสงค์การลงทุนด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมนั้น ๆ
สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของตนเอง
ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
ก.ล.ต.
ได้กำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างยั่งยืนของ
SRI Fund ซึ่งทุก บลจ. ที่บริหารจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตาม
โดยผู้ลงทุนสามารถสังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ ‘SRI Fund’
ที่ปรากฏบนหน้าปกของหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมของ SRI Fund
ข้อที่ 3 “การลงทุนอย่างยั่งยืน คือ การไม่ลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจขัดต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนเท่านั้น”
การคัดกรองเชิงลบ (negative screening)
เป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกใช้ในการบริหารจัดการกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืน
โดย negative screening มีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1758 เมื่อกลุ่มเควกเกอร์
(Quakers)
ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของโปรเตสแตนต์ได้ออกมาเคลื่อนไหวและต่อต้านการซื้อขายทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลทางจริยธรรม
ตั้งแต่นั้นมา negative screening จะถูกอ้างอิงถึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนคัดกรองกิจการบางประเภทที่อาจขัดต่อหลักจริยธรรมออกจากขอบเขตการลงทุน
เช่น กิจการที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ การพนัน การค้าอาวุธ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในการบริหารจัดการกองทุนรวมที่มุ่งเน้นการลงทุนอย่างยั่งยืน
ผู้จัดการกองทุนอาจเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายนอกเหนือไปจาก
negative screening ได้ อาทิ
• การคัดกรอกเชิงบวก (positive screening หรือ best-in-class screening)
คือ
การคัดเลือกหลักทรัพย์ของกิจการที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
• การผนวกปัจจัยด้าน ESG ในกระบวนการลงทุน (ESG integration) คือ การนำข้อมูลทั้งด้านการเงินและด้านความยั่งยืนของกิจการมาใช้วิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์อย่างเป็นระบบ
• การลงทุนตามธีมความยั่งยืน (thematic investing) คือ
การลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องตามธีมหรือวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนที่กองทุนรวมต้องการส่งเสริมเป็นการเฉพาะ
เช่น การเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป็นต้น
• การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก (impact investing) คือ
การที่ผู้จัดการกองทุนมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
โดยจะต้องวัดผลกระทบดังกล่าวได้ เพื่อความโปร่งใสและป้องกันการฟอกเขียว
(greenwashing) ด้วย
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนจะปฏิบัติหน้าที่ผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (stewardship activities) ด้วยการ
เข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (engagement)
เพื่อให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม
และสิ่งแวดล้อม
โดยผู้จัดการกองทุนจะหารือร่วมกับบริษัทในประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินลงทุน
เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โดยหากบริษัทไม่มีการพัฒนาหรือดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาที่ตกลงกัน
ผู้จัดการกองทุนก็อาจพิจารณาลดสัดส่วนหรือ
ไถ่ถอนการลงทุนออกจากบริษัทดังกล่าวได้ต่อไป
คำถามต่อมาที่หลายท่านอาจสงสัย คือ ผู้จัดการกองทุนมีแนวทางการพิจารณาใช้กลยุทธ์การลงทุนอย่างไร
ขอตอบว่า
โดยทั่วไปผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาใช้กลยุทธ์การลงทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนอย่างยั่งยืนของแต่ละกองทุนรวม
เพื่อให้การบริหารจัดการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์การลงทุนที่กำหนดไว้
เช่น
หากกองทุนรวมมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
ผู้จัดการกองทุนอาจพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์ impact investing และ engagement
ไปพร้อม ๆ กัน เป็นต้น
โดยผู้จัดการกองทุนจะทำการวัดผลและรายงานผลกระทบเชิงบวกจากการบริหารจัดการกองทุนรวม
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการบรรลุเจตนารมณ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กองทุนรวมกำหนดไว้
อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพของการมีส่วนร่วมกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ของผู้จัดการกองทุนด้วย
ทั้งนี้ สำหรับ SRI Fund ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ บลจ.
ที่บริหารจัดการกองทุนรวมดังกล่าวเปิดเผยกลยุทธ์ การลงทุนของ SRI Fund
ไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม
เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และเพื่อให้
ก.ล.ต. สามารถตรวจสอบการบริหารจัดการลงทุนของ บลจ. ได้ในภายหลังด้วย
ข้อสุดท้าย “การลงทุนอย่างยั่งยืน คือ กระแสการลงทุนของคนกลุ่มมิลเลนเนียลเท่านั้น”
แม้ว่าคนกลุ่มมิลเลนเนียล (millennials) หรือกลุ่มคนเจนวาย (Gen Y)
ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2539
จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
แต่ผลการศึกษากลุ่มผู้ลงทุนในหลายประเทศพบว่า ความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืนครอบคลุมกลุ่มคนหลายรุ่น ไม่ใช่แค่กลุ่มมิลเลนเนียลเพียงอย่างเดียว
โดยความแตกต่างที่สำคัญคือ กลุ่มมิลเลนเนียล
ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2489 – 2507
ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว
จะให้ความสำคัญด้านความครอบคลุมทางสังคมและศาสนา
รวมทั้งมีวัฏจักรการลงทุนที่แตกต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียล
ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มเส้นทางการลงทุนและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์
ปัจจุบัน SRI Fund ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีนโยบายการลงทุนในกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกจากผู้จัดการกองทุนแล้วว่า
มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
รวมทั้งบางกองทุนก็สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
โดยเริ่มต้นการลงทุนด้วยเงินหลักร้อยบาท
ดังนั้น SRI Fund จึงเหมาะกับผู้ลงทุนทุกช่วงวัย
(ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนในรุ่นใดรุ่นหนึ่ง) ที่ต้องการลงทุนอย่างยั่งยืนไปพร้อม
ๆ กับการกระจายการลงทุนและออมเงิน
เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวเอาไว้ใช้ในยามเกษียณด้วย
โดยท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อ SRI Fund และเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI
Fund ได้ที่ SustainableFinance (sec.or.th)
สุดท้ายนี้ ดิฉันหวังว่าบทความฉบับนี้จะช่วยไขข้อข้องใจคุณผู้อ่านหลายท่านเกี่ยวกับ ‘การลงทุนอย่างยั่งยืน’
พร้อมไปกับทำให้ท่านรู้จัก SRI Fund มากยิ่งขึ้น
เพื่อให้ผู้ลงทุนทุกท่านสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ
โดยที่ผลของการลงทุนนั้นจะเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
และคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปค่ะ
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์