ประกันภัย

นายกประกัน กางแผนยุทธศาสตร์ ลดหย่อนภาษีเบี้ยสุขภาพเกิน 2.5 หมื่น


นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยคนใหม่ ตั้งเป้าเบี้ยรับปี’66 โต 4.5-5.5% แตะ 2.85-2.87 แสนล้านบาท หวังแรงหนุนการลงทุน ทั้งภาครัฐ-เอกชนมีมากขึ้น แถมคาดว่านักท่องเที่ยวทะลักครึ่งปีหลัง-เทรนด์รถอีวีบูม ชูแผนยุทธศาสตร์ “Quick Win” ขับเคลื่อนการทำงาน 4 เรื่องหลัก พร้อมผนึกสมาคมประกันชีวิตดันปลดล็อกลิมิตสิทธิลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพเกิน 25,000 บาท

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบในปี 2566 จะเติบโตกว่า GDP เล็กน้อย

หรือมีอัตราเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 285,000-287,700 ล้านบาท เติบโตระหว่าง 4.5-5.5% ต่อปี โดยพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ จะโต 3.8-4.9% พอร์ตเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินและอัคคีภัยโต 9-10% พอร์ตเบี้ยประกันสุขภาพโต 14-15% และพอร์ตเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่งโต 1-2%

“คาดว่าจะได้แรงสนับสนุนจากการขยับเขยื้อนเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่มีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะเดียวกันจากการเปิดประเทศที่มากขึ้นจะเห็นการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีนที่จะไหลบ่าเข้ามาในครึ่งปีหลัง รวมไปถึงการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะยิ่งทำให้ธุรกิจประกันรถยนต์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ของสมาคมได้ศึกษาอย่างขะมักเขม้นเรื่องของการทำอัตราเบี้ยประกันภัยรถอีวีที่ถูกต้องและเหมาะสม”

นอกจากนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มตระหนักรู้ถึงการทำประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น จากช่องว่างสวัสดิการหรือความคุ้มครองที่มีอยู่ ซึ่งจะยิ่งสนับสนุนการเติบโตของประกันสุขภาพตามมาอีกด้วย




สมพร สืบถวิลกุล



สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการสมาคม ชุดปัจจุบัน ที่มีวาระทำงานในปี 2566-2568 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ในการขับเคลื่อนทิศทางการทำงานให้เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1. การควบรวมสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) กับบริษัท ไทยอินชัวเรอร์ดาต้าเนท จำกัด (TID) เพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมา

โดยขณะนี้ได้ว่าจ้างมืออาชีพเข้ามาศึกษาการควบรวม ถ่ายโอนพนักงาน กำหนดโครงสร้างและคุณสมบัติผู้นำองค์กร หลังจากนั้นจะมีการสรรหาบุคลากรต่อไป ซึ่งองค์กรนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจประกันวินาศภัย ที่จะช่วยบริหารจัดการและรายงานข้อมูล การวิเคราะห์ต้นทุนความเสียหายของการประกันภัยต่าง ๆ และการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัย เป็นต้น

2. ผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเอง และการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในบางมิติ เช่น การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นของตัวแทน/นายหน้า และอัตราเบี้ยประกันภัย นอกจากนี้จะขอให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถออกกรมธรรม์ได้โดยไม่ต้องใช้ระยะเวลานานเกินไปอีกด้วย โดยเรื่องนี้จะขอความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.ต่อไป

3. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (regulatory guillotine) ซึ่งจากการสืบค้นพบว่า มี พ.ร.ก. ประกาศ/ระเบียบ/คำสั่ง อยู่ประมาณ 199 ฉบับ ที่ยังใช้อยู่ ในจำนวนนี้รวม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอีก 51 ฉบับ ซึ่งตอนนี้ได้ว่าจ้าง baker mckinsey เข้ามาเป็นที่ปรึกษากฎหมายแล้วด้วย

4. การควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันที่ทำให้เบี้ยประกันสุขภาพค่อนข้างแพง เพราะต้นทุนของเบี้ยประกันสุขภาพส่วนใหญ่มาจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ซึ่งประมาณ 95% เป็นการใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก ฉะนั้นสมาคมฯและ คปภ.จะต้องควบคุมมาตรฐานตรงนี้โดยเร็วที่สุด

และร่วมทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้โรงพยาบาลรัฐสามารถรองรับลูกค้าประกันได้ โดยทำสัญญาไม่ต้องสำรองจ่าย และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้รองรับลูกค้าเข้าโรงพยาบาลรัฐต่อไป

“สมาคมฯและสมาคมประกันชีวิตไทย ยังร่วมมือผลักดันควบคุมค่าใช้จ่าย กำหนดเกณฑ์การรักษาพยาบาล พวกกลุ่มโรค common disease อาทิ ท้องเสีย จะมีข้อบ่งชี้อย่างไรในการจะแอดมิต เป็นต้น เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงาน รวมไปถึงสมาคมฯเองได้จัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยแล้วด้วย และสุดท้ายอยากผลักดันมาตรการลดหย่อนภาษีของประกันสุขภาพให้ปลดล็อกที่ลิมิตไว้ไม่เกิน 25,000 บาท เพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้คนซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น” นายสมพรกล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1346076#google_vignette
X