ประกันภัย

คปภ.สั่ง 23 บริษัทส่งแผนบริหารเสี่ยง “รับประกัน EV”


เลขาฯ คปภ. สั่งจับตาใกล้ชิด “ประกันรถอีวี” เตือนภาคธุรกิจอย่าแข่งตัดราคา ชี้ควรเน้นคุณภาพ มอนิเตอร์ “เงินกองทุน” บริษัทรับประกันอีวีทุกเดือน พร้อมสั่ง 23 บริษัทประกันวินาศภัยส่งแผนบริหารความเสี่ยง ดีเดย์เดือน มิ.ย.นี้ ลั่นหากมีผลกระทบเงินกองทุนระดับไหนควรต้องหยุดรับประกัน พร้อมเตือนโควตเบี้ยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่แท้จริง


นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการด้านกำกับ จับตาการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อย่างใกล้ชิด โดยแจ้งให้แต่ละบริษัทประกันวินาศภัยต้องกำหนดราคาเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น และเตือนภาคธุรกิจอย่าตัดราคาแข่งกัน เพราะในเวลานี้ต้องเน้นแข่งขันที่คุณภาพเป็นสำคัญ



ชูฉัตร ประมูลผล


“ตอนนี้ยังไม่ได้กังวลถึงขนาดจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ แต่ก็พยายามจะกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กลายเป็น Pandemic โดยรถอีวีเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ไม่นาน เราเห็นสถิติยังไม่ชัดเจนมากนัก ดังนั้น ต้องนำเสนอคุณภาพและการบริการที่ดีให้กับประชาชนให้มาก พร้อมกำหนดเบี้ยประกันให้ตรงกับความเสี่ยงของประชาชนแต่ละคน และเราพยายามเฝ้าดูการรับประกันผ่านฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Iinsurance Bureau System) อย่างต่อเนื่อง นี่คือนโยบายที่มอบหมายไว้”


ขณะที่นายอาภากรกล่าวว่า ตอนนี้การรับประกันรถอีวีค่อนข้างน่ากลัว เพราะการแข่งขันของภาคธุรกิจเป็นลักษณะแข่งลดเบี้ย เพื่อแย่งพอร์ตงาน ซึ่งค่อนข้างอันตรายมาก โดยช่วงที่ผ่านมา คปภ.ก็ได้มีการเรียกบางบริษัทประกันวินาศภัยเข้ามาพูดคุยบ้างแล้ว โดยเน้นย้ำอัตราเบี้ยประกันรถอีวีที่สำนักงาน คปภ.เห็นชอบกำหนดไว้เป็นกรอบ “ขั้นสูง-ขั้นต่ำ” ให้แต่ละบริษัทเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเอง


“การรับประกันไม่ใช่ทุกจุดจะไม่ขาดทุน มีโอกาสขาดทุนได้ ถ้าบริษัทไม่รู้จักลูกค้า และโควตเบี้ยไม่เหมาะสม และจะต้องรู้ศักยภาพของตัวเองด้วยว่า ฐานะเงินกองทุนของบริษัทจะรับประกันได้มากแค่ไหน และถึงระดับไหนควรจะหยุดรับประกัน อย่างไรก็ดี การรับประกันรถอีวีจะไม่เหมือนการรับประกันโควิดที่เกิดขึ้นกระจายความเสียหายไปรอบข้างอย่างรวดเร็ว แต่ประกันรถอีวีเป็นเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ฉะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแบบตูมเดียวและต่อเนื่องไปเร็ว”


ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ.มีข้อกังวลเกี่ยวกับภัยน้ำท่วมต่อรถอีวี ที่ไม่ใช่เกิดความเสียหายต่อตัวรถเท่านั้น แต่นำพาความเสียหายไปยังจุดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่, ซอฟต์แวร์ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าหลาย ๆ กรณีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้


“คปภ.เตือนทุกบริษัทให้ระวังภัยน้ำท่วม โดยพื้นที่ใดที่รับประกันภัยและเกิดน้ำท่วมบ่อย ให้แต่ละบริษัทโควตเบี้ยประกันรถอีวีให้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงด้วย”


นายอาภากรกล่าวว่า สำนักงาน คปภ.จะให้บริษัทที่รับประกันรถอีวี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 23 บริษัท จะต้องส่งแผนบริหารความเสี่ยงการรับประกันรถอีวีกลับมาให้สำนักงาน คปภ.ในต้นเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรมธรรม์ประกันรถอีวีจะมีเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป โดยรวมข้อมูลตั้งแต่การพิจารณาความเสี่ยง การรับประกัน การออกกรมธรรม์ การกำหนดเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันแต่ละราย การเคลม อะไหล่ อู่ซ่อม ค่าชดเชยต่าง ๆ และที่สำคัญข้อมูลผลการรับประกันรถอีวีที่ปรากฏขึ้นจริงแล้ว ตรงไหนที่จะต้องเข้าไปอุดช่องว่าง หรือต้องใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม และสุดท้ายคือหากจะมีผลกระทบเงินกองทุนของบริษัท ระดับไหนที่ควรจะต้องหยุดรับประกัน


“กรมธรรม์รถอีวีใหม่จะอนุญาตให้ทุกบริษัทสามารถขายได้เลย เมื่อมีการส่งแผนบริหารความเสี่ยงกลับมาให้กับ คปภ. และสำนักงานจะพิจารณาแผนว่ามีความถูกต้อง เหมาะสม ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าขาดจุดใดจุดหนึ่งจะแจ้งเพื่อให้ช่วยคำนึงเพิ่ม และที่สำคัญกว่านั้น คปภ.จะติดตามสถานการณ์การรับประกันและฐานะเงินกองทุนของแต่ละบริษัทเป็นประจำทุกเดือน”


นายอาภากรกล่าวว่า ปัจจุบันยอดการประกันรถอีวีทั้งระบบมีอยู่กว่า 100,000 กรมธรรม์ และมีผู้รับประกันทั้งสิ้น 23 บริษัท ประกอบด้วย 1.กรุงเทพประกันภัย 2.กรุงไทยพานิชประกันภัย 3.เคดับบลิวไอประกันภัย 4.จรัญประกันภัย 5.เจมาร์ทประกันภัย 6.ทิพยประกันภัย 7.ทูนประกันภัย 8.เทเวศประกันภัย 9.เออร์โกประกันภัย 10.ธนชาตประกันภัย 11.นวกิจประกันภัย 12.ประกันภัยไทยวิวัฒน์


13.ไอแคร์ประกันภัย 14.ฟอลคอนประกันภัย 15.มิตซุยสุมิโตโมอินชัวรันซ์ 16.มิตรแท้ประกันภัย 17.อินทรประกันภัย 18.ไอโออิกรุงเทพประกันภัย 19.วิริยะประกันภัย 20.เมืองไทยประกันภัย 21.อลิอันซ์อยุธยาประกันภัย 22.แอลเอ็มจีประกันภัย และ 23.ซันเดย์ประกันภัย


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1569337
X