ประกันสุขภาพ

คปภ.ปลดล็อก “ประกันสูงวัย” กรมธรรม์แบบใหม่ไม่ต้อง “แถลงสุขภาพ”


ผู้สูงอายุเฮ ! คปภ.ไฟเขียวบริษัทประกันขายกรมธรรม์ใหม่ “ไม่ต้องแถลงสุขภาพ” ระบุคุ้มครองทั้งกรณี “เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ-ค่ารักษาพยาบาลจาก 9 โรคร้ายแรง” ปลดล็อกแก้ปัญหา “สูงวัย” ถูกปฏิเสธทำประกันสุขภาพ/จ่ายเบี้ยแพง

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน คปภ.ได้สำรวจข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนนายหน้า บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มผู้สูงอายุจะมีประเด็นปัญหาขอทำประกันสุขภาพได้ค่อนข้างยาก หรือมักจะถูกบริษัทปฏิเสธการรับประกันสุขภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว

รวมทั้งสัญญาประกันสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ เป็นสัญญาที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทุกโรค จึงส่งผลให้เบี้ยประกันค่อนข้างแพง และบริษัทประกันก็ยังไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ



อาภากร ปานเลิศ


โดยจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่าประเด็นปัญหาหลัก ๆ มีอยู่ 7 เรื่องคือ 1.ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาสุขภาพ หรือมีโรคประจำตัว ส่งผลให้เบี้ยประกันมีราคาสูง และติดปัญหาในการผ่านเกณฑ์การพิจารณารับประกัน 2.การการันตีการรับประกันสุขภาพ ส่งผลให้บริษัทต้องเข้มงวดในการพิจารณารับประกัน และต้องกำหนดอัตราเบี้ยประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงระยะยาว

3.ผู้สูงอายุมักจะปกปิดข้อมูลสุขภาพ ไม่แถลงข้อมูลสุขภาพ หรือแถลงไม่ครบ ซึ่งอาจเข้าเงื่อนไขให้ถูกปฏิเสธการทำประกันสุขภาพ 4.บริษัทมีข้อมูลสถิติการทำประกันสุขภาพผู้สูงอายุค่อนข้างน้อย เพราะมีการทำประกันสุขภาพกันน้อย จึงไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลสถิติการรับประกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุได้

5.อัตราเงินเฟ้อ ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก 6.ปัญหาเรื่องการเปิดเผยประวัติของลูกค้า และความร่วมมือของโรงพยาบาลในการอำนวยความสะดวกกับลูกค้าในการเปิดเผยประวัติ และ 7.การทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต ต้องมีความคุ้มครองการเสียชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันในส่วนนี้ค่อนข้างมาก

“จากการประชุมหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงาน คปภ. ได้ข้อสรุปว่า ควรจัดทำเป็นกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคร้ายแรง ส่วนบุคคล สำหรับผู้สูงอายุ แบบไม่ต้องแถลงสุขภาพ

โดยกำหนดเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ เพื่อให้เสนอขายได้ทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย โดยไม่จำเป็นต้องซื้อประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ก่อน และกำหนดแผนความคุ้มครอง ที่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มโรคร้ายแรงสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้เบี้ยประกันลดลง”




โดยแผนความคุ้มครองจะมีกลุ่มโรคร้ายแรง 9 รายการ ได้แก่ 1.มะเร็ง 2.หลอดเลือดหัวใจตีบที่รักษาด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ 3.เส้นเลือดหัวใจตีบ 4.การผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ 5.กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 6.ไตเรื้อรัง 7.การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก 8.หลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน และ 9.เนื้องอกในสมองชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง

และเนื่องจากเป็นการพิจารณารับประกันแบบไม่ต้องตรวจสุขภาพ จึงกำหนดให้มีระยะเวลารอคอย (waiting period) 180 วัน ซึ่งในเงื่อนไขสัญญาประกันสุขภาพแบบมาตรฐาน ให้กำหนด waiting period ที่ 30 วัน หรือ 120 วัน สำหรับบางโรค

“ปัจจุบัน เรื่องนี้ได้เสนอให้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน ลงนามออกประกาศไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา”

นายอาภากรกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัย มีข้อเสนอแนะว่า กรมธรรม์ดังกล่าวให้ความคุ้มครอง เฉพาะกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคร้ายแรงครั้งแรก

ซึ่งไม่ครอบคลุมกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยป่วยเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนการทำประกัน ซึ่งปัจจุบันรักษาหายแล้ว หรือได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าโรคอยู่ในภาวะสงบแล้ว จึงมอบหมายให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมกรณีดังกล่าวด้วย

“ตอนนี้ คปภ.ก็อยู่ระหว่างเสนอร่างกรมธรรม์ลักษณะเดียวกัน แต่เป็นแบบที่ต้องแถลงสุขภาพ เพื่อให้ครอบคลุมผู้สูงวัยทั้งหมด คาดว่าจะเร่งดำเนินการออกคำสั่งนายทะเบียนภายในเดือน ส.ค.นี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกี่บริษัทประกันที่สนใจ เพราะโดยปกติแล้ว ทางบริษัทประกันมักจะเริ่มพูดคุยกันภายหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนออกแบบได้มีการพูดคุยกับทุกบริษัทแล้ว” นายอาภากรกล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1365622
X